ฮาร์วาร์ด พัฒนาหุ่นยนต์ช่วยหัวใจทำงาน

(ภาพ-Carla Schaffer/AAAS)

ทีมวิศวกรและแพทย์จากสำนักการแพทย์ฮาร์วาร์ด ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการพัฒนาหุ่นยนต์ชนิดนุ่มนวล (ซอฟท์ โรบ็อท) สำหรับใช้ผ่าตัดฝังไว้ในร่างกายผู้ป่วย เพื่อช่วยในการบีบรัดตัวของหัวใจ ที่ทำให้หัวใจสามารถทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติ

หุ่นยนต์รัดหัวใจดังกล่าวผลิตจากยางและพลาสติกที่ผ่านการจัดเตรียมเป็นพิเศษสำหรับใช้ภายในร่างกายมนุษย์ โดยจะมี 3 แกนหุ้มรอบหัวใจคล้ายเชือกหรือยางรัด ภายในจะมีชิ้นส่วนอีเลคทรอนิกส์ ซึ่งจะทำงานสอดคล้องกับกลไกการบีบตัวและบิดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจตามธรรมชาติ เป้าหมายก็เพื่อช่วยให้หัวใจยังคงทำงานต่อไปได้และสามารถช่วยชีวิตของผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลว ซึ่งโดยปกติแล้วจะแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจใหม่ทดแทนเท่านั้น

หุ่นยนต์บีบรัดหัวใจที่ฮาร์วาร์ดพัฒนาขึ้นใหม่นี้ ปรับปรุงจากเดิมที่มีอยู่ซึ่งทำงานในลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่ นิโคเลย์ วาสิลิเยฟ ผู้เขียนร่วมของงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า ซอฟท์โรบ็อทใหม่ ถูกปรับปรุงให้มีคุณสมบัติดีขึ้นกว่าเดิม โดยสามารถเลือกทำหน้าที่กระตุ้นเฉพาะห้องหัวใจด้านล่าง ห้องใดห้องหนึ่ง ไม่ใช่กระตุ้นพร้อมกันทั้งสองห้องเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังเป็นเครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดแรกที่ทำงานโดยกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจด้านใน คือ ผนังอินเตอร์เวนตริคิวลาร์ เซปตุม ซึ่งเป็นผนังห้องหัวใจที่มีบทบาทสำคัญในการหดตัวของหัวใจโดยเฉพาะ ตัวแกนจะสามารถปรับให้มุ่งกระตุ้นการบีบรัดตัวของห้องหัวใจด้านล่างด้านหนึ่งด้านใดก็ได้ ทำให้ส่วนกล้ามเนื้อหัวใจปกติ ไม่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของหุ่นยนต์ ต่างจากหุ่นยนต์ที่มีอยู่ในเวลานี้

นอกจากนั้นหุ่นยนต์หรืออุปกรณ์ช่วยการเต้นของหัวใจใหม่นี้ ยังไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระแสเลือดในร่างกายผู้ป่วยแต่อย่างใด ทำให้สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุดตันและการติดเชื้อในกระแสเลือดลง

Advertisement

ในแง่หนึ่งหุ่นยนต์นี้จะทำหน้าที่เสมือนเป็นกล้ามเนื้อชุดพิเศษเพิ่มเติมจากกล้ามเนื้อหัวใจเดิมที่ชั้นกล้ามเนื้อเสียหายไปแล้ว โดยจะใช้วิธีการปั้มอากาศจากภายนอกเข้าไปทำให้ยางบริเวณแขนของหุ่นพองออกกระตุ้นให้เกิดการบีบรัดตัวของหัวใจตามจังหวะเต้นธรรมชาติ ตัวปั้มดังกล่าวสามารถใช้แหล่งพลังงานจากภายนอก รวมทั้งใช้ไฟฟ้าจากปลั๊กทั่วไปได้นั่นเอง

อุปกรณ์ใหม่นี้ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองในสัตว์ แต่หากประสบความสำเร็จผ่านการทดลองนำมาใช้งานได้จริงก็อาจช่วยชีวิตผู้ป่วยหัวใจได้เป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image