‘ความดี’จากฐานราก : สร้างชุมชนคุณธรรมด้วยวิถีวัฒนธรรม : โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า

ทุกปีองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) จะมีการรายงานดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index : CPI) ของแต่ละประเทศ โดยในปี 2559 ประเทศไทยได้ที่ 101 จาก 176 ประเทศ มีคะแนน 35 จาก 100 คะแนน ลดลงจากปี 2558 ที่ได้อันดับที่ 76 มี 38 คะแนน

ผลรายงานแต่ละปีส่งผลให้สังคมตั้งคำถามกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทย ที่ทวีความรุนแรงและมีรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่กลไกการแก้ปัญหาที่มักพูดถึงหรือเรียกร้องให้มีคือ มาตรการทางกฎหมายและบทลงโทษ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วอาจแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ขณะที่การแก้ปัญหาการทุจริตในอีกมิติหนึ่งที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึง คือการพัฒนาจิตสำนึกในเรื่องคุณธรรม ซึ่งเกิดขึ้นผ่านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในแต่ละชุมชน

ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของชุมชนและวิถีวัฒนธรรมที่เป็นพลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนสร้างสังคมคุณธรรมซึ่งเป็นกระบวนการในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีความยั่งยืน ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินโครงการส่งเสริมเครือข่ายประชาสังคมต่อต้านการทุจริตด้วยวิถีวัฒนธรรม ซึ่งเป็นโครงการที่เชิญชวนให้ชุมชนมาร่วมเป็นพลังสำคัญในการสร้างสังคมคุณธรรมด้วยทุนความดีที่มีอยู่ในพื้นที่ของตนเอง

โครงการเริ่มจากการเปิดรับสมัครชุมชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ในเดือนตุลาคม 2560 และเชิญชุมชนที่เข้าร่วมโครงการเข้าร่วมงานรวมพลังเครือข่ายประชาสังคมต่อต้านการทุจริตด้วยวิถีวัฒนธรรม เมื่อ 22-23 พฤศจิกายน 2560 ณ จังหวัดนครนายก

Advertisement

มีผู้แทนจาก 43 ชุมชน ใน 14 จังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมงาน

งานครั้งนี้ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการระดมความคิดเห็น เริ่มจากการสำรวจต้นทุนของชุมชน โดยให้แต่ละชุมชนทบทวนใน 4 ประเด็น คือ

1.ของดีในชุมชน
2.ภาพของชุมชนที่อยากเห็นในอนาคต
3.ปัญหาที่อยากแก้
4.ความดีที่อยากทำ

Advertisement

ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้เห็นว่าของดีในชุมชนมีทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น น้ำตาลโตนด มะยงชิด ทุเรียนภูเขาไฟ (ทุเรียนปลูกในดินภูเขาไฟเก่า) นาบัว สถานที่สำคัญในชุมชน เช่น วัด ศาลปู่ตารวมไปถึงภูมิปัญญา เช่น หมอพื้นบ้าน การแสดงมโนราห์ หนังตะลุง วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ไทพวน มันนิ (หรือที่คนทั่วไปเรียกว่าซาไก)

ภาพของชุมชนที่อยากเห็นในอนาคต ผู้เข้าร่วมส่วนมากให้ความสำคัญกับการการพัฒนาชุมชนทั้งในแง่คุณภาพชีวิตคนในชุมชน และพื้นที่ในชุมชน ส่วนปัญหาที่อยากแก้พบว่าเป็นปัญหาที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงในชุมชน

เช่น ยาเสพติด ความขัดแย้งในครอบครัว ในชุมชน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สำหรับความดีที่อยากทำเป็นที่น่าสังเกตว่าให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนา และแก้ปัญหาต่างๆในชุมชน เช่น กลุ่มเกษตรอินทรีย์ ธนาคารขยะ

หลังจากสำรวจทุนชุมชนแล้ว ได้มีวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาชุมชนในมิติคุณธรรม ประกอบไปด้วย คุณเสรี ศรีหะไตร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การขับเคลื่อนสังคมคุณธรรมว่าประกอบไปด้วยกระบวนการที่สำคัญ 5 ขั้นตอน คือ

1.กำหนดเป้าหมายสูงสุด
2.ค้นหาปัจจัยสำคัญความสำเร็จ
3.กำหนดกฎกติกา
4.การแปลงกฎกติกาเป็นแผน
และ 5.ติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผน

ช่วงเสวนาประเด็น “อนาคตชุมชนไทยในยุค 4.0” คุณศิวโรฒ จิตนิยม ประธานธนาคารความดี ตำบลหนองสาหร่าย จังหวัดกาญจนบุรี ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตำบลหนองสาหร่าย ที่ใช้ความสุขเป็นเป้าหมายการพัฒนา เริ่มจากปรับเป้าหมายวิถีชีวิตของตนเอง และรวมตัวกันทำงานร่วมกันในรูปแบบสภาผู้นำตำบลหนองสาหร่าย ซึ่งประกอบไปด้วยผู้นำชุมชนจาก 9 หมู่บ้านที่มาจากแต่ละภาคส่วน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มอาชีพ อสม. สมาชิกท้องถิ่น พระ ครู รวม 79 คน

สภาชุดนี้จะกำหนดทุกเรื่องของชุมชน และส่งแผนพัฒนาให้กับทาง อบต. ซึ่งการทำงานในรูปแบบนี้มีการจัดการมาก ที่สำคัญคือการกำหนดเป้าหมายร่วมด้านความสุขที่เกิดจากการระดมความคิดเห็นของคนในชุมชน ผู้นำชุมชน ร่วมกันพัฒนาและประกาศเป็นธรรมนูญตำบลหนองสาหร่าย รวมทั้งการกำหนดปฏิทินชุมชนด้วยตนเอง หน่วยงานหรือองค์กรภายนอกที่เข้ามาทำงานต้องปรับให้สอดคล้องกับเงื่อนไขเวลาของชุมชน

ในประเด็นการปรับตัวของชุมชนในยุค 4.0 คุณอัมพร แก้วหนู ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ชวนคิดเรื่องประเทศไทย 4.0 ว่าให้ความสำคัญในระดับประเทศ ขณะที่ชุมชน 4.0 ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงมากนัก และได้เสนอภาพชุมชนในอนาคตว่าต้องออกแบบใหม่ทุกมิติ ใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร การหาช่องทางค้าขายผ่านระบบออนไลน์ขณะที่คุณศิวโรฒเสนอการปรับตัวของชุมชนยุค 4.0 ว่าต้องประกอบไปด้วย

1.ปรับวิธีคิดใหม่ ฝึกการคิดร่วมกัน
2.ปรับวิธีการสื่อสาร เลือกสื่อสารเรื่องที่เป็นประโยชน์
3.ปรับวิธีการกระทำ
4.วิถีชุมชนต้องปรับเป้าหมายใหม่ เปลี่ยนจากเงินมาเป็นความสุข
5.วิถีชุมชนท้องถิ่นต้องเพิ่มความรู้
และ 6.สร้างพลังทางสังคม

ทิศทางของชุมชนในอนาคตจึงเป็นการปรับตัวตั้งรับความเปลี่ยนแปลงบนฐานของความรู้ ควบคู่กับเทคโนโลยีและการสื่อสาร

หลังจากนั้นทีมศูนย์คุณธรรม ได้จัดกระบวนการให้ชุมชนเห็นถึงความสำคัญของการกำหนดข้อตกลงร่วมหรือธรรมนูญชุมชนเพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างชุมชนคุณธรรม ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมและเชื่อมโยงกับทุนเดิมของชุมชนที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ชวนให้แต่ละชุมชนทบทวนกฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรม หรือกติกาในชุมชนที่ส่งเสริมให้เกิดคุณธรรม

กระบวนการนี้ทำให้เห็นว่า แต่ละพื้นที่มีกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการกำกับพฤติกรรมทางสังคมของคนในชุมชนที่หลากหลาย ตั้งแต่ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การแขวน “โจ” ไว้ตามต้นไม้ของชุมชนในภาคใต้เพื่อป้องกันการลักขโมยผลไม้ในสวน โดยเชื่อว่าถ้าคนมาขโมยผลไม้จะไม่สบาย ไปจนถึงการประยุกต์กับกลไกการจัดการชุมชนแบบใหม่

เช่น กิจกรรมแยกขยะในชุมชน การออกกติกาชุมชนในรูปแบบต่างๆ เช่น การเปิดเพลงเสียงดังหลังสี่ทุ่ม ขี่รถมอเตอร์ไซค์เสียงดัง ทะเลาะวิวาทในชุมชน จะปรับเงินเข้ากองทุนกลางพัฒนาหมู่บ้าน

กฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรม และกติกาต่างๆ ที่อยู่ในชุมชนจึงไม่ได้เป็นภาพที่หยุดนิ่งตายตัวแต่มีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบททางสังคม

และที่สำคัญคือเกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน

ด้วยเหตุนี้กระบวนการสร้างชุมชนคุณธรรมจึงต้องให้ความสำคัญกับการนิยาม “ความดี” ที่มาจากฐานราก และสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของชุมชนในแต่ละพื้นที่ โดยที่ภาพของความเป็น “ชุมชน” ก็ต้องเปิดให้มีการตีความที่หลากหลายจากสมาชิกในชุมชนไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของช่วงวัย เพศ สถานะทางสังคม กลุ่มชาติพันธุ์

หลังจากการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ผู้แทนแต่ละชุมชนจะกลับไปจัดทำข้อตกลงร่วมหรือธรรมนูญชุมชน พร้อมทั้งทดลองสร้างปฏิบัติการตามที่กำหนดร่วมกัน ซึ่งทีมทำงานจากศูนย์คุณธรรม จะไปจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแต่ละภูมิภาค และประมวลการขับเคลื่อนในแต่ละพื้นที่มานำเสนอต่อไป

ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image