‘ใจมีสุข’เริ่มที่ตัวเรา : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

มีคำกล่าวที่ว่า “แม่น้ำ ทะเล ลึกอย่างไร ยังวัดได้หยั่งได้ แต่ใจมนุษย์ สุดที่จะหยั่งรู้ได้ว่าตื้นลึกหนาบางเท่าใด”

หากพิจารณาดูก็เป็นเรื่องจริง เรายากที่จะหยั่งรู้จิตใจคนอื่นได้ แม้พ่อ-แม่เลี้ยงลูกตัวเองมากับมือ หรือสามี-ภรรยาที่อยู่ด้วยกัน 30-40 ปี ยังยากที่จะหยั่งรู้ถึงจิตใจกัน วันนี้สบายดี พรุ่งนี้มีไข้ปวดหัว พูดกันไม่รู้เรื่องก็ยังมี จนถึงขนาดทะเลาะเบาะแว้งถึงขั้นหย่าร้างก็มีให้พบเห็นได้ เอาว่า “จิตใจ” ตัวของตนเองก็หยั่งรู้ไม่ได้เลยก็มี ทำอะไรลงไป เช่น ตีหัวเขาแตก เสร็จแล้วบอกพนักงานสอบสวนว่า ทำไปไม่รู้ตัวจริงๆ ขอโทษด้วย ดังมีคำโคลงบทหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า

จงเตือนตนของตน ให้พ้นผิด
ตนเตือนจิตตนได้ ใครจะเหมือน
ตนเตือนตนไม่ได้ ใครจะเตือน
ตนแชเชือน ใครจะเตือนให้ป่วยการ

ฅ “คน” หรือ “มนุษย์” ตามปกติแล้วจะมีอารมณ์กวัดแกว่งไปมาได้ในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ฟังด้วยหู ดูด้วยตา แล้วไม่สบอารมณ์ก็หงุดหงิด กลัดกลุ้ม โกรธ กังวลเล็กๆ น้อยๆ เพราะอะไร เพราะอำนาจกิเลสของโลภ โกรธ หลง มีให้เกิดเป็นประจำ ถ้าจิตต้องเดือดร้อนเพราะปัญหาต่างๆ ย่อมเสียเวลา เสียสมาธิ ทำให้ขาดสติ ขาดพลัง หรือที่เรียกว่าขาดกำลังหรือพลังจิต และจะไม่เกิดสติปัญญาในอันที่จะแก้ไขปัญหาชีวิตได้เท่าที่ควร เพราะขาดกระบวนการ หรือกลยุทธ์ หรือยุทธวิธี หรือภาษาง่ายๆ อย่างชาวบ้านพูดคือ “ขาดเครื่องมือ” หรือ “ขาดเบรกชีวิต” สิ่งนี้ก็คือ “ขาดการบริหารจิต” เราทุกคนจะมีเบรกชีวิตได้ ต้องได้รับการฝึกอบรมตั้งแต่เด็ก ภาษาชาวบ้านคือ “การฝึกจิต” เพื่อให้เกิด “สมาธิ”

Advertisement

หากจิตได้รับการบริหารเป็นประจำ “จิต” จะต้องมั่น มีความสุข มีกำลัง และเกิดสติปัญญา เราทุกคนที่เกิดมาเป็นคนหรือมนุษย์ มีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นเอง อายุเราๆ สั้นนิดเดียว บางคนเกิดวันเดียวก็ตาย อาทิตย์หนึ่งก็ตาย เดือนหนึ่งก็ตาย จนถึงอยู่ 100 ปีก็ตาย พูดง่ายๆ คือ เมื่อมีเกิดได้ก็มีตายได้ ไม่มีกฎกติกาบอกมา ตั้งแต่เราอาจจะอยู่แค่ 5 ปี 30 ปี 60 ปี 90 ปี หรือ 100 ปี ไม่มีกติกากำหนดมาให้เราเลย บอกได้เพียงสั้นๆ ว่า อายุมนุษย์เรานี้สั้นเพียงนิดเดียว คิดดูตริตรองดูให้ดีๆ คนส่วนมากมักเห็นสอดคล้องกัน ยกเว้นคนบางจำพวกที่ตกอยู่ในสภาวะประมาทหรือทระนงตัวเอง เมื่อเป็นดังนี้ หากชีวิตที่เราเกิดมาต้องกลัดกลุ้มหงุดหงิด กังวลเพราะเรื่องต่างๆ ของโลกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตาย บอกได้เลยว่าคนคนนี้เกิดมาทั้งที ใช้ชีวิตที่ขาดดุล ขาดทุนอย่างน่าเสียดาย เพราะอะไร

เพราะว่าตัวเองเท่านั้นลิขิตตัวเองได้ เลือกเรียนรู้ปฏิบัติได้ด้วยตัวเราเท่านั้น ไม่มีใครทำให้เราได้เลย เราอาจฝึกตัวให้มีความสุขได้ บางคนอาจหัวเราะ การที่เราจะมีความสุขได้ก็ต้องฝึก แต่เป็นเช่นนั้นจริงๆ มนุษย์ไม่ค่อยรู้จักวิธีหาความสุขที่ดี การฝึกฝนให้มีความสงบสุขจึงเป็น “ศิลปะการดำรงชีวิต” ที่ควรต้องกระทำอย่างยิ่ง

เริ่มต้นด้วยสิ่งแรกที่ทุกๆ คนต้องฝึกคือการ “มีความเห็นชอบ” หรือที่เรียกว่า “สัมมาทิฐิ” สิ่งนี้คือประตูแรกด่านแรกที่ทุกคนต้องไขกุญแจเปิดให้ได้ จึงจะผ่านทะลุไปหาความสงบสุขได้

Advertisement

การมีความคิดเห็นที่ดี ที่ถูกต้อง เป็นธรรม คิดบวกเสมอ มีจิตใจดี และมีการพูดการกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและคนรอบข้างมีความสำคัญยิ่ง ใจเราเป็นสุข คนอื่นรอบข้างก็มีสุขด้วยเช่นกัน การประกอบอาชีพโดยสุจริต การกล่าววาจาชอบ ไพเราะอ่อนหวาน ถูกกาลเทศะ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ความขยันขันแข็ง และความมีน้ำใจในการช่วยเหลือในกิจการงานไม่ดูดาย เป็นเรื่องสำคัญที่ส่งเสริมสุขภาพจิต เราๆ ท่านๆ คงจะเคยได้รู้ได้ทราบมาบ้างแล้วว่า คนบางคนขี้เกียจพยายามเลี่ยงงาน ไม่มีน้ำใจช่วยเหลือในกิจการงาน คนชนิดนี้ย่อมเป็นที่รังเกียจ เป็นที่ซุบซิบนินทาว่าร้ายของผู้อื่น แม้แต่เพื่อนๆ ด้วยกันเอง หรือแม้แต่พี่ๆ น้องๆ ท้องเดียวกัน จะไม่ได้รับความเมตตาช่วยเหลือตามสมควร อยู่ที่ไหนก็ไม่มีใครชอบ ไม่มีความสุข ตรงกันข้ามกับคนที่หนักเอาเบาสู้ เต็มใจเข้าทำการงานต่างๆ ทั้งในหน้าที่และทั้งงานของผู้อื่น ย่อมเป็นที่รักใคร่เมตตาของคนอื่นทั้งหลาย ช่วยส่งเสริมสภาวะจิตทั้งของตนเองและผู้อื่นให้เป็นไปด้วยดีในทางที่จะสำเร็จประโยชน์สูงขึ้น

“ความขยัน” เป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับความสุข ความเจริญ ความมั่งคั่ง มั่นคง คนขาดสติย่อมนำความทุกข์ระทมมาให้ ต้องพยายามไถ่ถอนออกจากเรื่องของตัวเองให้มากที่สุด “คนที่คิด” หรือหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องของตัวเองตลอดเวลา เช่น กลัวไม่รวย กลัวขาดทุน กลัวจะไม่สวย กลัวคนจะไม่รัก กลัวจะไม่มีชื่อเสียง กลัวคนจะนินทา กลัวจะป่วยเป็นโรคนั้นโรคนี้ เป็นต้น ย่อมทำให้จิตใจเคว้งไม่เป็นสุข และอาจจะถึงทำให้เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นจริงๆ ยิ่งฝึกไถ่ถอนออกจากเรื่องของตัวเองมากเท่าใด ยิ่งทำให้เราสบาย มีความสุข และเกิดโรคน้อย ควรมองไปรอบๆ ตัว นึกถึงคนอื่นที่มีเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านที่เขา “จน” กว่าเรา “แย่” กว่าเรา ทำไมเขายังอยู่ได้อย่างมีความสุข ให้หมั่นทำบุญทำทานเป็นการลดความเห็นแก่ตัว หมั่นฝึกเป็นผู้ที่มีแต่ “ให้” ให้เป็นทาน แล้วจะเกิดสภาวะจิตใจปลอดโปร่ง คลายทุกข์ จิตใจสว่าง สงบ ผลนั้นก็คือ จิตที่ให้นั้นผ่อนคลายเป็นกุศลจิต มีความเบาสบาย คือที่เรียกว่าได้บุญจากการฝึกแผ่ความรัก หรือแผ่เมตตา คนเรานั้นโดยปกติแล้วรักตัวเอง แผ่เมตตาให้ผู้อื่นน้อย จะสังเกตเห็นได้ง่าย ไม่มีใครโกรธหรือลงโทษตัวเอง เพราะมีความรักตัวเอง จึงให้อภัยต่อตัวเองอย่างสูงสุด

หากเราไปที่ไหนฝึกแต่เมตตาๆ เช่นนี้เป็นประจำ ใจของเราก็จะสงบ ความหงุดหงิดและรำคาญนั้นเป็นโทสะ หรือความโกรธอ่อนๆ เมตตาเห็นเครื่องมือปราบ “ความโกรธ” จึงทำให้คลายหงุดหงิดและรำคาญได้

“การสวดมนต์” นี้มีการเจริญแผ่เมตตารวมอยู่ด้วย มิเพียงแต่เท่านั้น ยังเป็นการฝึกให้เกิด “สมาธิจิต” ในพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ อันเป็นมหากุศลขั้นประณีต ดังนั้น การสวดมนต์ภาวนาจึงเป็น “การบริหารสุขภาพจิตอย่างสูง” เพราะฉะนั้น การเจริญพระพุทธคุณนี้ ท่านจึงว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้จิตสงบ การเจริญนั้นมักทำในตอนเช้า ตอนกลางคืนก่อนเข้านอน หรือเวลาว่างเพื่อทำให้เกิดสิริมงคล เป็นการฝึกทำให้จิตตั้งมั่นคงอยู่ในความสงบและมีความมั่นคงในชีวิตประจำวัน ทำให้ “จิต” มีความแกร่งกล้าในการทำความดี เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นและตนเอง “หลวงพ่อจรัญ” แห่งวัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ได้เคยกล่าวบอกอธิบายให้ผู้เขียนว่า หากได้มีการสวดมนต์ประจำๆ ทุกเช้า-ค่ำ จักทำให้แคล้วคลาดจากภัยทั้งปวง อาทิ โจรภัย อัคคีภัย ภูตผีปีศาจ สัตว์ร้าย เป็นที่รักของเทพยดาทั้งหลาย ถึงคราวอับจนได้ไม่อับจนเข็ญใจ มีสติสัมปชัญญะก่อนตาย นอกจากจะสิ้นอายุขัยของตนเอง ผู้ที่ภาวนาทุกค่ำ-เช้าจะได้รับความร่มเย็นเป็นสุขเห็นผลตามสมควร

อนึ่ง มีการกล่าวว่า ผู้ที่ทำการพิมพ์ จด ลอก เพื่อผู้อื่นได้สวด ก็ย่อมได้ตามคำสอน เพราะทรงไว้ซึ่งความสงบของพระพุทธองค์

อนึ่ง “การบูชาพระ” ก่อนเข้าห้องบูชาพระควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด และนุ่งห่มด้วยผ้านิ่มๆ สบายๆ ให้เรียบร้อย เข้านั่งที่ด้วยความสำรวมกาย-ใจ ตั้งจิตให้แน่วแน่ เพ่งตรงยังพระพุทธรูป ระลึกถึงพระรัตนตรัยแล้วค่อยกราบ 3 หน สงบจิตระลึกถึง “คุณบิดา-มารดา” ซึ่งเป็น “พระอรหันต์ของบุตร” จากนั้นจึงจุดเทียนบูชา ให้จุดเล่มขวาของพระพุทธรูปก่อน แล้วจุดเทียนเล่มด้านซ้าย ต่อไปจุดธูป 3 ดอก เมื่อจุดเทียน-ธูปที่เครื่องสักการบูชาเสร็จแล้วเอาจิต (นึกเห็น) พระพุทธองค์มาเป็นประธาน พึงนั่งคุกเข่าประนมมือตั้งใจ…“บูชาพระรัตนตรัย” นมัสการพระรัตนตรัย ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ดังนี้

บูชาพระรัตนตรัย
อิมินาสักกาเรนะ พุทธัง อะภิปูชะยามิ
อิมินาสักกาเรนะ ธัมมัง อะภิปูชะยามิ
อิมินาสักกาเรนะ สังฆัง อะภิปูชะยามิ
พุทธบูชา มหาเตชะวันโต
ธัมมะบูชา มหาปัญญะวันโต
สังฆะบูชา มหาโพคะวะโห
ติโลกะนาถัง อะภิปูชะยามิ

บทกราบพระรัตนตรัย
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ (กราบ)
สะหวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิ (กราบ)
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ (กราบ)
นมัสการพระรัตนตรัย
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (สวด 3 จบ)
ไตรสรณคมน์
oพุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
oทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
oตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ถวายพรพระ
oอิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะ-สัมปันโน สุคะโต
โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถาเทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ ฯ
oสวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติฯ
oสุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง

จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติฯ

สำหรับบทสวดอื่นๆ เช่น พระคาถาชัยมงคลคาถา พหุง
มหากา การสวดคาถา…“ชินบัญชร” เป็นต้น แล้วแต่ทุกท่านเลือกสวดได้ตามแต่ศรัทธา หากสวดได้ทั้งหมดจะเป็นการดี

อนึ่ง ได้มีการประมวลว่า อานิสงส์ของการสวดมนต์มี 7 ข้อ : 1.การสวดมนต์ทุกวันเป็นมงคลได้ง่าย 2.เป็นการปฏิบัติภาวนาอย่างหนึ่ง 3.ทำให้จิตเป็นกุศลได้ง่าย 4.ช่วยทำให้ใจสงบ 5.เหมาะใช้สำหรับเตรียมจิตก่อนปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน 6.สวดมนต์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา 7.ได้กล่าวคำศักดิ์สิทธิ์ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้

แต่การสวดมนต์นั้น ที่ถูกต้องจะต้องสวดให้ได้ใจความ ไม่รวดเร็วเกินไปหรือสวดช้าเกินไป เสียงดังพอประมาณ เพื่อเทพยดาทั้งหลายเป็นพยานว่า เราๆ ท่านๆ ได้สวดมนต์ถวายเป็นพุทธชูชา ใจมนุษย์จะได้ “สว่าง สะอาด สงบ” ดังคติธรรมที่ว่า
ถึงวันพระ เราพากัน ไปวัด
ปฏิบัติ ศีลธรรม นำวิถี
หมั่นสวดมนต์ ภาวนา หาความดี
ไม่กี่ปีก็จะพรากจากกันไป
อย่าประมาทขาดศีลธรรมคำสอนพระ
เสียสละ ลงทุน ทำบุญไว้
เกิดชาตินี้ ชาติหน้า หรือชาติไหน
ย่อมยังใจ ให้ผาสุก ทุกคืนวัน…ไงเล่าครับ
ท้ายสุดนี้ ผู้เขียนและหลายท่านที่เป็นแฟนมติชนคงเห็นด้วยว่า…ใจเรา…“มีสุข” ได้ เริ่มที่ “ตัวเรา” เท่านั้นนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image