การปรองดองกลับมาอีกแล้ว โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

เรื่องของความปรองดองกลายเป็นเรื่องที่กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง แม้ว่าความปรองดองรอบนี้จะไม่ได้เป็นเรื่องของความเห็นด้วย หรือขานรับมากนัก จากกรณีของข้อสงสัยที่มีต่อเจ้าตัวตุ๊กตานำโชคที่เรียกว่า “น้องเกี่ยวก้อย”

อธิบายง่ายๆ ก็คือ เรื่องของการปรองดอง ที่เท่ากับ (น้อง/การ) เกี่ยวก้อย นั้นอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

ฟันธงหรือเรียนตรงๆ ก็คือ “ฐานคติ” ที่เกี่ยวกับความปรองดองของรัฐ หรือคณะทหาร หรือคณะรัฐประหารที่มีต่อความปรองดองก็คือเชื่อว่า ฝ่ายต่างๆ ที่สร้างปัญหาให้กับบ้านเมืองนั้น เป็นปัญหาในตัวเอง

คือเป็นพวกที่ไม่ยอม (มีความ) เข้าใจที่ถูกต้องในการอยู่ร่วมกัน

Advertisement

การไม่เข้าใจว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร อาจแบ่งเป็นสี่ด้าน

หนึ่ง คือพวกที่เป็นคนไม่ดี มีผลประโยชน์แอบแฝง

สอง คือพวกที่เชื่อตามคนอื่น ถูกชักจูงได้ง่าย โดยเฉพาะพวกที่ถูกชักจูงในแบบแรก

Advertisement

สาม คือพวกที่มีความเชื่อที่ผิดพลาด แบบที่ใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขต

สี่ คือพวกที่ไม่รักชาติบ้านเมือง ขาดจิตสำนึกของความเป็นชาติ

ผมไม่ได้บอกว่าเรื่องทั้งสี่เรื่องนี้ไม่จริง แต่ยังมีอีกด้านหนึ่งที่คนไม่ค่อยพูดกัน

นั่นคือฐานคติของรัฐเองนั้นก็เป็นปัญหา นั่นคือไม่ใช่ผู้ที่สร้างความขัดแย้งคือประชาชนแต่ละฝ่ายเท่านั้น แต่ตัวรัฐเองที่พยายามสถาปนาตัวเองเป็น “คนกลาง” ก็เป็นปัญหา มีวิธีคิดที่เป็นปัญหา

ความปรองดองนั้นไม่ควรจะถูกคิดง่ายๆ แค่เป็นสิ่งที่ถูกสั่งการลงมาได้

นั่นหมายความว่า ความปรองดองนั้นสั่งไม่ได้จากคนนอก แต่ต้องมาจากความเข้าใจระหว่างกันของแต่ละฝ่ายมากกว่า

ดังนั้นถ้าฝ่ายที่พยายามเดินหน้าปรองดองไม่รู้จักฟังและเข้าใจทั้งสองฝ่าย โอกาสที่จะปรองดองนั้นก็จะยากอยู่สักหน่อย

คนกลางจึงต้องทำตัวให้เป็นกลาง ความเป็นกลางที่สำคัญคือการทำให้ทุกฝ่ายยอมรับอำนาจนำของตนเองจากความเข้าใจ และความเข้าใจไม่ใช่เรื่องของคำสั่ง

ความเข้าใจควรมาจากความสามารถที่จะไปนั่งอยู่ในใจของแต่ละฝ่าย ไม่ใช่การทำให้ฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าฉันเข้าข้างอีกฝ่ายหนึ่งมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง

นอกจากนั้นความปรองดองนั้นอาจไม่ได้มีลักษณะที่เป็นขั้นตอนและเดินไปข้างหน้าอย่างเป็นระบบระเบียบ

แต่อาจมีลักษณะที่หมุนวน มีก้าวหน้า มีถดถอย มีขึ้น มีลง

ความสำคัญของการปรองดองไม่ใช่แค่การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น และจะเกิดขึ้น (เช่น หมายถึงว่าจะได้รับความยุติธรรมแค่ไหน) แต่หมายถึงการยอมรับในลักษณะของการ “ปลดปล่อย” ทุกข์ที่ตัวเองแบกไว้อย่างยาวนาน

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งของการปลดปล่อยก็คือ “การให้อภัย” แต่ต่อให้ไม่สามารถให้อภัยได้ เราก็คงจะต้องค้นพบระดับของการปลดปล่อยในบางระดับได้บ้างในเงื่อนไขของการยอมรับ

นอกจากความปรองดองจะขึ้นกับความเข้าใจของผู้ที่พยายามปรองดอง และขึ้นกับการยอมรับ/ปลดปล่อย มากน้อยแค่ไหนแล้ว สิ่งที่สำคัญต่อมาก็คือการยอมรับนั้นอาจจะต้องมาจากการสร้างเงื่อนไขความยุติธรรมในบางระดับ

ความยุติธรรมที่พูดถึงนี้คือสิ่งที่เรียกว่า “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน”

ความยุติธรรมในแง่นี้อาจไม่ใช่เรื่องหลักการนามธรรมขั้นสูง แต่หมายถึงความยุติธรรมในระดับที่ยอมรับกันได้เพื่อให้สังคมเดินหน้า ตัวอย่างความยุติธรรมในแง่นี้อาจจะรวมไปถึงการเว้นโทษบางอย่างเพื่อแลกมาซึ่งบางอย่าง เช่น การเว้นโทษของผู้กระทำผิดในระดับล่าง เพื่อแลกกับการได้รับความจริงและข้อมูลบางอย่างเพื่อลงโทษหรือมัดตัวคนสั่งการ

หรืออาจจะรวมไปถึงความเห็นที่ว่าการนิรโทษกรรมทุกฝ่ายอาจจะเป็นการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านได้ ถ้าทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันว่าจะเลิกราต่อกัน อาจจะเพราะสำนึกว่าทุกฝ่ายมีส่วนผิดจึงเว้นโทษทุกฝ่าย

ตรงนี้ต้องย้ำให้ชัดเพราะว่า การนิรโทษกรรมนั้นไม่ใช่เรื่องของการไม่ผิด แต่เป็นเรื่องของการพ้นผิดในเชิงการเว้นโทษ ซึ่งหมายความว่าแต่ละฝ่ายควรจะเข้าใจและยอมรับโทษของตัวเองเสียก่อน ไม่ใช่ประเภททำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด แล้วยังสู้ว่าตนเองไม่ผิด หรือสู้ว่าตัวเองถูกต้อง

เรื่องต่อมา ความปรองดองนั้นเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของวัฒนธรรมและความเป็นชุมชนของสังคมนั้นๆ ด้วย หมายถึงว่าความปรองดองอาจจะไม่สำเร็จในทุกกรณี เพราะมันขึ้นกับความเข้าใจของผู้จัดทำกระบวนการ และผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการ ที่จะเข้าใจและคิดค้นเงื่อนไข หรือชุดความสัมพันธ์ในเชิงสถาบันที่จะทำให้กระบวนการปรองดองนั้นเดินหน้าไปได้

เรื่องเหล่านี้เป็นมากกว่าเรื่องกฎหมาย และคำสั่งการจากรัฐ แต่เป็นเรื่องที่มาจากล่างสู่บน มาจากปฏิบัติการในชีวิตประจำวันที่การริเริ่มการปรองดองอาจจะมาจากคนตัวเล็กตัวน้อย อาจจะมาจากฝ่ายที่ถูกกระทำในสังคมเองด้วยซ้ำ การที่เขายอมรับว่าเขาจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้อย่างน้อยเขาก็สามารถมีชีวิตต่อไปได้ รวมทั้งการที่เขาลุกขึ้นมาเรียกร้องหรือพูดคุยกับฝ่ายที่เคยกระทำรุนแรงกับเขาอย่างกล้าหาญ ก็อาจจะมีส่วนที่ทำให้เกิดสายธารแห่งความหวังในการปรองดองได้ แม้ว่าบางกลุ่มอาจจะมองว่ามุมมองเช่นนี้เป็นการเรียกร้องที่มากเกินไปต่อเหยื่อ หรือเป็นการที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอะไรได้

แต่มองในอีกด้านหนึ่งการที่เขาเปิดปากเล่าเรื่อง และสามารถพูดคุย หรือทวงถามประเด็นต่างๆ อย่างกล้าหาญ และได้รับการยอมรับหรือสนับสนุนจากสังคมก็อาจทำให้เรามองเห็นความหวังของความปรองดองได้ในอีกระดับหนึ่ง

คู่ขัดแย้งไม่ใช่มีสองฝ่าย บางทีผู้ที่สถาปนาตัวเองไปแก้ความขัดแย้งอาจทำให้ความขัดแย้งลุกลาม หรือกลายเป็นคู่ขัดแย้งใหม่เสียเอง

คู่ขัดแย้งไม่ใช่เด็กที่จะเอาตุ๊กตาไปเต้นระบำด้วย แต่ละฝ่ายต่างผ่านเรื่องราวมามากมาย และความปรองดองยิ่งล่าช้า ความเจ็บปวดของแต่ละฝ่ายก็ยิ่งซับซ้อน และความคาดหวังต่อการแก้ปัญหาก็จะยิ่งสูงขึ้น หรือบางกลุ่มอาจสิ้นหวังในการแก้ปัญหาจนอาจจะแปลกแยกจากสังคมออกไปอีก

สิ่งสำคัญของคนที่จะสถาปนาความปรองดองคือท่าทีที่อ่อนน้อม ความสุภาพ และอดทนที่จะรับฟัง ยิ่งบรรดาผู้ที่สถาปนาความปรองดองที่ไม่ใช่คนใน เพราะใช้กำลังเข้ามายึดอำนาจเข้าไปด้วยแล้ว ท่าทีเห็นอกเห็นใจต่อแต่ละฝ่ายและการรับฟังยิ่งมากก็ยิ่งดี ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นปัญหาของผู้พยายามจัดทำกระบวนการปรองดองเสียมากกว่า หรือมากไม่น้อยกว่าการมองว่าปัญหาของความปรองดองนั้นมาจากคู่ขัดแย้งเดิมในสังคม

ที่สำคัญต่อมาก็คือ เวลาที่เราจะฟังเราจะฟังอย่างไร ฟังเสียงอะไร สังเกตความเคลื่อนไหวในอารมณ์ของผู้คนอย่างไรที่ไม่ใช่แค่เรื่องการฟังแบบ “การข่าว” หรือ “การสืบ” แต่เป็นการรับฟังอย่างเข้าใจเรื่องราว และไม่มองว่าใครเป็นศัตรู

สงสารน้องเกี่ยวก้อยที่ต้องมาแบกภารกิจนี้จริงๆ ครับ

(หมายเหตุ ท่านผู้สนใจวิธีการมองการปรองดองแบบทางเลือก กรุณาอ่านงานใหม่ที่แปลโดยคณาจารย์ของศูนย์สันติวิธีของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ชื่อว่า “เมื่อเลือดและกระดูกโหยไห้ – การเดินทางผ่านสัททัศน์ของการเยียวยาและการคืนดี” แปลโดย โคทม อารียา และคณะ ซึ่งมีกรณีที่น่าสนใจมากมายให้เราตั้งหลักคิดเรื่องการปรองดองในมุมอื่นๆ ที่ไม่ใช่มิติทางกฎหมายและคำสั่งของผู้มีอำนาจ)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image