7 ปีแห่งการรอคอย ‘Insects in the Backyard’ ถึงเวลาแมลงเฉิดฉายหน้าบ้าน

สิ้นสุดการรอคอยยาวนานถึง 7 ปี เมื่อภาพยนตร์ Insects in the Backyard หรือ แมลงรักในสวนหลังบ้าน ได้ฉายในประเทศไทย หลังจากถูกแบนประเดิมกฎหมายใหม่ในขณะนั้น “พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551”

ด้วยเหตุผลที่ว่า “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” จากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เมื่อปี พ.ศ.2553

ต่อมาปี พ.ศ.2554 ธัญญ์วารินทร์ สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ตัดสินใจยื่นฟ้องต่อศาลปกครองด้วยความช่วยเหลือจาก ไอลอว์ หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน

จนเมื่อธันวาคม 2558 ศาลปกครองยกฟ้อง แต่พิจารณาว่าหากตัดฉากมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศเป็นเวลา 3 วินาทีออกไป จะสามารถฉายได้ในเรต 20+ ธัญญ์วารินทร์จึงยอมตัดฉากดังกล่าวเพื่อนำภาพยนตร์มาฉายสำหรับผู้ชมอายุ 20 ปีขึ้นไป หลังพาภาพยนตร์ไปเดินสายฉายในหลายประเทศมาแล้ว

Advertisement

วันนี้ Insects in the Backyard ได้เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ House RCA แล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน-13 ธันวาคม

“ที่ผ่านมาอยากฉายเรื่องนี้มาตลอด ตอนโดนแบนร้องไห้หนักมาก เราไม่เคยคิดว่าสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งไม่ดี คิดเสมอว่าไม่ได้ทำอะไรผิด วันนี้คนจะได้ดูสิ่งที่เราทำแล้ว ขอบคุณทุกคนมากๆ จริงๆ” ธัญญ์วารินทร์กล่าว

วันฉายหนังครั้งแรกในรอบสื่อมวลชน ธัญญ์วารินทร์ตั้งใจให้ตรงกับวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็น “วันสิทธิความหลากหลายทางเพศ” อันมีความหมายโดยตรงต่อการต่อสู้ที่ผ่านมาของหนังเรื่องนี้

Advertisement

ภาพยนตร์พูดถึงความหลากหลายทางเพศ โดยธัญญ์วารินทร์เป็นทั้งผู้กำกับและนักแสดงนำเอง รับบท “ธัญญ่า” สาวประเภทสองที่เป็นพี่สาวคนโตของบ้าน พยายามโอบประคองความสัมพันธ์ต่อน้องชายและน้องสาววัยเรียนที่รู้สึกแปลกแยกกับธัญญ่าในฐานะครอบครัว และพยายามแสวงหาประสบการณ์ความรักด้วยตัวเอง

ฉากในหนังที่ถูกพูดถึงว่าขัดต่อศีลธรรม ได้แก่ ฉากเห็นอวัยวะเพศ ฉากตัวละครฆ่าพ่อในความคิด ฉากมีเพศสัมพันธ์ในชุดนักเรียน ฉากขายบริการในชุดนักเรียน โดยคณะกรรมการพูดว่าเน้นเนื้อหาเรื่องเพศมากเกินไป ไม่เหมาะกับสังคมไทย

น่าคิดว่าจริงๆ แล้ว สังคมต้องการคนตัดสินถูกผิดหรือไม่ว่าหนังเรื่องไหนควรหรือไม่ควรดู

พอลลีน งามพริ้ง, นัยนา สุภาพึ่ง, ธัญญ์วารินทร์ สุขะพิสิษฐ์ และธีพิสิฐ มหานีรานนท์ บก.นิตยสาร BIOSCOPE ดำเนินรายการ

แมลงที่ถูกปฏิเสธตัวตน

ธัญญ์วารินทร์อธิบายที่มาของชื่อเรื่องว่า “Insects” คือแมลงที่มีเยอะมากแต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนชอบเสมอไป อาจถูกมองเป็นปัญหาหรือสิ่งไม่พึงประสงค์ เปรียบได้กับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ มีตัวตนแต่ไม่ถูกยอมรับว่ามีอยู่ โดยหนังพูดถึงปัญหาสังคมที่คนมีอำนาจพยายามมองไม่เห็นแล้วผลักไว้หลังบ้าน ไม่กล้าเอาไว้หน้าบ้านเพื่อแสดงว่ามีอยู่ เป็นที่มาของชื่อ “Insects in the Backyard”

เหตุที่ทำภาพยนตร์เรื่องนี้มาจากสิ่งที่ธัญญ์วารินทร์สัมผัสโดยตรง

“ตอนนั้นเราเป็นครูและแต่งหญิงไปด้วยตอนกลางคืน มีหลานอายุ 6-7 ขวบที่พ่อแม่เอามาเลี้ยง วันหนึ่งหลานอาบน้ำเสร็จ เราเอาเสื้อผ้าแบบผู้ชายของเราให้ใส่ หลานไม่ใส่ บอกว่า ‘ไม่ใส่เสื้อผ้าตุ๊ด’ เราช็อก เราเลี้ยงเขามาแท้ๆ สังคมทำอะไรกับเด็กวัยแค่นี้ แล้วจะไปคาดหวังให้คนในสังคมนอกครอบครัวเข้าใจได้อย่างไร เมื่อคนที่เลี้ยงมากับมือยังไม่เข้าใจเลย จึงเกิดเป็นหนังเรื่องนี้ขึ้นมา”

แม้ตอนนี้ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศจะเปิดกว้างขึ้น แต่ก็ยังมีคนบางส่วนไม่เข้าใจ

“ล่าสุดที่โปรโมตหนังเรื่องนี้เนื่องในวันสิทธิความหลากหลายทางเพศ ก็มีคอมเมนต์ว่า ‘ทำไมต้องมีวันนี้ ส่งเสริมให้มีเกย์เยอะๆ เหรอ’ เราไปตอบว่าไม่ต้องส่งเสริมให้มีเกย์หรอก เพราะมีอยู่แล้ว แต่เพื่อบอกว่าเขามีสิทธิเท่าเทียมกับคุณ มีความเป็นมนุษย์ไม่แตกต่างกัน เราใช้หนังบอกกับสังคมว่าเรามีตัวตน โลกนี้ไม่ได้มีแค่สองเพศ ยังมีอีกมากมายหลากหลาย คนในสังคมควรเคารพคนอื่นที่มีรสนิยมแตกต่างจากตัวคุณด้วย” ธัญญ์วารินทร์กล่าว

‘ไม่ได้ขอให้มารัก’ แต่ขอให้เข้าใจ

สิ่งที่ทำให้ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ไม่ยอมแพ้ต่อคำสั่งห้ามฉาย เนื่องจากเธอไม่ได้สู้อยู่คนเดียว

“ได้กำลังใจจากทั้งคนใกล้ชิด สมาคมผู้กำกับ คุณย้ง-ทรงยศ มูลนิธิหนังไทย หอภาพยนตร์ ไอลอว์ หน่วยงานความหลากหลายทางเพศ ถ้าสู้คนเดียวอาจท้อไปแล้ว ตอนนั้นมีนายทุนเสนอเงินให้ตัดหนังใหม่แล้วถอนฟ้อง เราไม่เอา ถ้าทำอย่างนั้นจะเป็นคนกลืนน้ำลายตัวเอง สิ่งที่ทำให้มีกำลังใจคือเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเองคนเดียวแน่ๆ

“การต่อสู้ครั้งนี้เป็นกรณีศึกษา ตอนนั้นเพิ่งประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่ คนยังไม่รู้ว่าคืออะไร พอโดนแบนคนก็ตั้งคำถามและหาคำตอบว่าการจัดเรตนี้คืออะไร เกิดกระบวนการเรียนรู้ เป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์”

เธอยอมรับว่าการแบนทำให้ได้เป็นรู้จักและอีกแง่หนึ่งก็ทำให้ได้เติบโต มองคนในมิติอื่นมากขึ้น

“เข้าใจว่าคนที่เขาแบนไม่ได้โกรธเกลียดเรา แต่เขาไม่เข้าใจสิ่งที่เรากำลังนำเสนอกับสิ่งที่เราเป็น จึงคิดว่าทำยังไงดีที่จะทำความเข้าใจกับสังคมได้โดยไม่ต้องโกรธเกลียดกัน เราจึงสร้างหนังเรื่อง ไม่ได้ขอให้มารัก หรือ It Gets Better พูดเรื่องเดียวกับ Insects in the Backyard แต่เล่าแบบโรแมนติกคอเมดี้ พิสูจน์ว่าเราสามารถสร้างหนังอีกแบบที่สร้างความเข้าใจกับสังคมได้”

และอีกหนึ่งองค์กรที่เข้ามาช่วยต่อสู้ทางกฎหมาย คือ ไอลอว์ ซึ่งธัญญวารินทร์ถือว่า “ได้ช่วยชีวิตแมลงตัวน้อยๆ ไว้”

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กล่าวว่า หนังเรื่องนี้นอกจากจะสนับสนุนสิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศแล้ว ยังได้พาวงการกฎหมายก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ในการทดสอบ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551

“การตัดสินใจฟ้องคดีของคุณธัญญ์วารินทร์นำมาซึ่งอะไรใหม่ๆ ศาลปกครองได้วางบรรทัดฐานทางกฎหมายหลายอย่าง กระทรวงวัฒนธรรมก็ได้รู้ว่าตีความแบบนี้ถึงจะถูก จะได้เป็นมาตรฐานสำหรับคดีอื่นและหนังเรื่องอื่นต่อไป แม้ว่าหลังจากเรื่องนี้ไปศาลปกครองแล้วยังมีการแบนเรื่องอื่นอยู่บ้าง แต่มาตรฐานกฎหมายจะมีการยกระดับมากขึ้น ในกระบวนการที่ตรวจสอบได้มากขึ้น” ยิ่งชีพกล่าว

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ รับมอบของที่ระลึกจากผู้กำกับ ในฐานะที่ช่วยต่อสู้คดีร่วมกับทีมกฎหมาย

อย่าทำร้ายกันเพราะความไม่รู้

แม้สังคมจะเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ก็ยังสลัดไม่พ้นกรอบคิดที่ว่ามนุษย์มีแค่สองเพศ โดยเฉพาะในพื้นที่ทางการ

ภาพยนตร์ของธัญญ์วารินทร์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขยายความเข้าใจต่อความหลากหลาย ในฐานะภาพแสดงของชีวิตมนุษย์ ที่มีตัวตน มีจิตใจ

นัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า มนุษย์มีความแตกต่างหลากหลาย มีอิสรภาพที่จะแสดงออกเรื่องเพศ แต่เมื่อเราไม่ได้เป็นอย่างที่พ่อแม่บอก อยู่โรงเรียนครูก็ลงโทษเด็กในนามแห่งความรักปรารถนาดี พ่อแม่ก็บังคับให้ลูกเป็นชายหญิงแบบที่ตัวเองต้องการ เป็นความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว แสนสาหัสมากกว่าการทำร้ายกันโดยตรง นี่คือความขมขื่นจากความไม่รู้

“ความผิดพลาดในอดีตคือการติดอยู่กับความไม่รู้ แล้วทำร้ายกันในกรอบว่ามนุษย์มีแค่สองเพศ การทำหนังหรือการเผยเรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นคุณูปการอย่างยิ่งที่จะปลดเปลื้องพันธนาการและความรุนแรงที่อยู่คู่สังคมมานาน”

นัยนาชี้ว่าการแก้ไขความผิดพลาดในอดีต ต้องเริ่มที่กฎหมายซึ่งออกแบบมาเพื่อคนแค่สองเพศ แม้รัฐธรรมนูญจะห้ามการเลือกปฏิบัติ แต่ก็มองเพียงความเท่าเทียมหญิงชาย ทั้งที่การถูกรังเกียจจากการเผยเพศสภาพก็ถือเป็นการเลือกปฏิบัติเช่นกัน

“ต้องทำให้ทุกคนตระหนักว่า ความหลากหลายทางเพศเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนในสังคม และต้องตระหนักว่าเรามีเสรีภาพที่จะเลือกใช้ชีวิตตามความต้องการของเราได้” นัยนากล่าว

ตัวละครที่หลบซ่อนอยู่ในชีวิตจริง

ในภาพยนตร์พูดถึงผู้หลากหลายทางเพศที่อยู่ในฐานะผู้ปกครองของครอบครัว ในบริบทเมื่อ 7 ปีที่แล้วอาจยังเป็นเรื่องใหม่อยู่บ้าง แต่ในวันนี้เราเห็นคนที่เผยตัวมากมายเช่น “พอลลีน งามพริ้ง” ที่ธัญญ์วารินทร์ถือว่าเป็น “ธัญญ่าตัวจริง” เนื่องจากมุมชีวิตที่ตรงกับตัวละคร

พอลลีน งามพริ้ง ที่มาร่วมพูดคุยในการฉายภาพยนตร์รอบแรก กล่าวว่า การเผยตัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ สิ่งที่ยากที่สุดคือสังคมรอบนอก ที่เรียกว่า “ชาวบ้าน” ทั้งที่คนในครอบครัวส่วนใหญ่รักกันอยู่แล้ว แม้จะไม่เข้าใจหรอกว่าทำไมจากชายต้องเป็นหญิง หญิงต้องเป็นชาย ความเข้าใจอาจไม่มากเท่าความรัก แต่ปัญหาคือชาวบ้านที่มีอิทธิพลกับสมาชิกของครอบครัว

“ประสบการณ์ในครอบครัวตัวเองไม่มีปัญหา ตอนแรกอาจไม่เข้าใจ แต่สุดท้ายมันคือ ‘รัก’ ไม่ว่าเราจะเป็นหมูหมากาไก่ จะเป็นชายหรือหญิง แต่ความรักก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง นั่นคือหัวใจสำคัญ และต้องใช้ความอดทนต่อสู้กับเสียงรอบนอก เราก้าวพ้น ‘ชาวบ้าน’ ไปแล้ว แต่ต้องให้เวลาคนในครอบครัวก้าวพ้นชาวบ้านไปได้ เราต้องอดทนและครอบครัวต้องยืนยันในความรักของกันและกัน”

พอลลีนยืนยันว่า ความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นนานแล้ว ไม่ใช่ว่าสังคมยอมรับแล้วจึงมีเยอะขึ้น

“มันมีอยู่แล้ว เพียงแต่เมื่อสังคมผ่อนปรน จะทำให้คนอย่างพวกเรามีความสุขมากขึ้น มีศักยภาพที่จะทำการงานได้ดีขึ้นและไม่เป็นภาระใคร

“ความหลากหลายไม่ใช่แค่ LGBT มันเยอะมากเท่ากับประเภทของอาหาร และมันคือความชอบของแต่ละคนที่จะมีวิถีชีวิตในแบบต่างๆ ไม่ต้องมีคำจำกัดความมากมายว่าจะนิยามอย่างไร เราอาจเตะฟุตบอลแล้วเชียร์นางงามไปด้วยก็ได้

“หนังเรื่องนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เป็นอีกยุคที่เราจะเริ่มต้นให้ความรู้กับสังคม เปิดโลกทัศน์สังคมให้กว้างขึ้น ยอมรับคนในวิถีชีวิตมากขึ้น” พอลลีนกล่าว

การฉายของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มีความหมายต่อผู้กำกับเพียงอย่างเดียว แต่มีผลต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ และต่อสังคมโดยรวมว่าจะสามารถมองมนุษย์ด้วยกันโดยปราศจากกรอบคิดเรื่องเพศแบบเดิมที่สังคมสร้างขึ้นได้หรือไม่

ดังคำที่ธัญญ์วารินทร์ทิ้งไว้ให้แก่ผู้ชมว่า

“หนังเรื่องนี้ดูด้วยตาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสัมผัสด้วยหัวใจ จึงจะเข้าใจคนที่มีความหลากหลายได้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image