กก.อิสระปฏิรูปการศึกษาช่วยที : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ปมความขัดแย้งระหว่างศึกษาธิการจังหวัด กับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาหลายจังหวัด กำลังเป็นประเด็นร้อนที่ผู้ติดตามความเป็นไปทางการศึกษาไทยพากันจับตาว่าจะลงเอยอย่างไร

ประเด็นที่ชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย หยิบยกขึ้นมาเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลง คือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ข้อที่ 13 ที่มอบอำนาจการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเดิมเป็นของผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ไปให้กับศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด

ถึงแม้ว่าผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะพยายามหาทางออกด้วยการจะคืนอำนาจบางส่วนให้กับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ก็ยังไม่แน่ว่าเหตุการณ์จะจบลงด้วยดี เกิดการยอมรับจนไม่ต้องขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผู้ลงนามในคำสั่งดังกล่าว

ไม่ว่าเหตุการณ์จะจบลง หรือขยายวงต่อไปก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหานี้มีต้นตอมาจากความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรบริหารจัดการการศึกษาในภูมิภาค ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2559 เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค กับคำสั่งที่ 11/2559 เรื่องการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค

Advertisement

ต่อมาจึงเกิดมีคำสั่งที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นฟางเส้นสุดท้าย ทำให้เกิดปฏิกิริยาจากผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ลามลงไปถึงผู้อำนวยการโรงเรียนยื่นฟ้องศึกษาธิการจังหวัด ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่พิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนครู

ฉะนั้น ถ้าจะบอกว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องระหว่างฝ่ายบริหาร ไม่กระทบถึงการจัดการเรียนการสอนของครู และการบริหารจัดการโรงเรียน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาคุณภาพและโอกาสทางการศึกษา
ก็คงพูดได้ไม่เต็มปากนัก

เพราะความขัดแย้งส่งผลถึงการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ความก้าวหน้าของครูผู้สอน เสียผลประโยชน์ เสียสมาธิในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะต้องคอยติดตามความเป็นไประหว่างผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจพิจารณาตัดสินใจ

Advertisement

ถามว่า ความขัดแย้งดังกล่าวเป็นปัญหาโครงสร้างระบบ หรือพฤติกรรมของคน

น่าจะตอบได้ว่า เป็นทั้งสองส่วน ทั้งเป็นผลจากการออกแบบโครงสร้างการบริหารใหม่ และพฤติกรรมของคน วิธีคิด วิธีปฏิบัติ ในการใช้อำนาจของบุคคลด้วย

ทั้งๆ ที่คนที่ถูกต่อต้านซึ่งเป็นศึกษาธิการจังหวัด อดีตเคยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เคยเป็นผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษามาก่อน เมื่อย้ายไปสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สังกัดสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กลายเป็นคนนอกทันที เกิดการไม่ยอมรับกันขึ้น

ทั้งๆ ที่ตัวคนก็คนเดิม แต่สถานภาพเปลี่ยน สังกัดเปลี่ยน ถือว่าไม่ใช่เจ้านายสายบังคับบัญชาตรง เป็นการใช้อำนาจข้ามสังกัด

แม้ว่าเจตนารมณ์ของการปรับโครงสร้างการบริหารการศึกษาในภูมิภาค เป็นไปตามหลักการจัดการเชิงพื้นที่ เพื่อให้เกิดการประสานงาน เชื่อมโยงระหว่างหน่วยจัดการศึกษาทุกประเภทเข้าด้วยกัน

วางแผนการจัดการศึกษา การใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยเปิดช่องทางให้ผู้มีส่วนได้เสียจากภายนอก ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการศึกษาให้มากขึ้น เพื่อสนองยุทธศาสตร์การศึกษา และยุทธศาสตร์ชาติ

แต่เมื่อขั้นตอนการปฏิบัติ อำนาจที่ควรจะอยู่ที่หนึ่งถูกตัดรอนโยกย้ายไปอยู่อีกที่หนึ่ง ส่งผลกระทบถึงการปฏิบัติงาน การจัดการศึกษา จึงกลายเป็นปัญหาขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาหยิบยกขึ้นมา คือการปฏิบัติสองมาตรฐาน การบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูในสังกัดอื่น อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไม่ต้องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด เป็นคำถามที่ต้องการคำอธิบายอย่างมีเหตุผลทีเดียว

นอกจากผู้รับผิดชอบในกระทรวงศึกษาธิการจะต้องเร่งหาทางออกเรื่องนี้ไม่ให้ลุกลามบานปลายต่อไปแล้ว คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา น่าจะมีบทบาทช่วยหาทางออก เพราะเป็นปัญหาในเชิงระบบ โครงสร้าง ที่กระทบถึงคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักประการแรกของคณะกรรมการอิสระเลยทีเดียว

คณะกรรมการอิสระฯน่าจะเป็นองค์กรหนึ่งที่ให้คำตอบได้ว่า โมเดลหรือโครงสร้างการบริหารตามคำสั่ง คสช.หลายคำสั่งที่ออกมา ยังใช้การต่อไปได้ หรือควรยกเครื่องปรับปรุงใหม่ในประเด็นใดบ้าง โดยไม่ควรอ้างเหตุผลว่าเป็นเรื่องเดิมที่ทำกันมาแล้ว ไม่ขอเกี่ยวข้องแม้แต่น้อย

เร่งทำผลงานสำคัญอื่นๆ เป็นต้นว่า ผลักดันร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้สำเร็จ และกำลังจะเดินหน้าเรื่อง ร.ร.นิติบุคคลต่อ ซึ่งสมควรทำก็ตาม

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น กระทบถึงประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนของครู และการบริหารโรงเรียน ซึ่งเป็นจุดแตกหัก เป็นคานงัดความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด สำคัญยิ่งกว่า

หากยังถูกปล่อยให้ร้อนระอุอยู่ต่อไป ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปโครงสร้าง กับปฏิรูปคน จะมีชะตากรรมไม่ต่างจากที่ผ่านมา ผลไม่ตกถึงนักเรียนอย่างแท้จริงเสียที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image