เชียงใหม่จัดเทศกาลลิขสิทธิ์หนังสือเด็กครั้งแรก รมว.วัฒนธรรมเผยยึดหลักผลิตน้ำดีไล่สื่อไม่ดีออก เพราะปิดเว็บไซต์ไม่ง่าย

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 6 ธันวาคม 2560 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธิเปิดงานเทศกาลลิขสิทธิ์และเนื้อหาสำหรับสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนกระตุ้นการซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือ และเนื้อหาสร้างสรรค์เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ในภูมิภาคอาเซียน และร่วมผลักดันให้ไทยขับเคลื่อนสู่ Thailand 4.0 ก่อนมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยในชุด กลองสะบัดชัยล้านนา มีนายอาทร เตชะธาดา ประธานคณะกรรมการโครงการเทศกาลลิขสิทธิ์และเนื้อหาสำหรับเด็ก และเยาวชน กล่าวรายงาน ซึ่งงานดังกล่าว จัดถึงวันที่ 9 ธันวาคมนี้ รวม 4 วัน

จากนั้นนายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวแนะนำองค์กรในฐานะสปอนเซอร์งาน หัวข้อ “Bangkok Banks Vision on Creative Economy in ASEAN” ก่อนนายวีระ มอบใบประกาศนียบัตรให้ผู้จัดงานกว่า 30 ราย จากนั้นได้เดินชมนิทรรศการภายในงานดังกล่าว พร้อมพูดคุยกับผู้ร่วมจัดงาน ที่มาจัดบู้ทแสดงในกลุ่มประเทศอาเซียน และเอเซีย ประกอบด้วยมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม เมียนมาร์ ลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา บรูไน ไทย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ซึ่งภายในงานยังมีกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อเรียนรู้และสร้างสรรค์ พร้อมพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง และนิทรรศการภาพประกอบหนังสือเด็กโบโลญญ่า 2017 ของนักวาดภาพ
ประกอบหนังสือเด็กชั้นนำของโลก

นายวีระ กล่าวว่า หนังสือและสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ถือเป็นสาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รัฐบาลให้ความสำคัญขับเคลื่อน ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม มีคณะกรรมการตามแผนแม่บทส่งเสริมการอ่านระดับชาติ มีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานดูแลอยู่ โดยให้ภาคราชการเอกชน และภาคประชาชน ช่วยกันขับเคลื่อน โดยให้กองทุนสื่อความปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อผลิตสือดี ๆ ซึ่งทุกภาคส่วนทำงานอย่างใกล้ชิด มีแผนปฏิบัติงานอย่างชัดเจน

ส่วนการจัดงานดังกล่าว เป็นเทศกาลซื้อขายลิขสิทธิ์ระดับนานาชาติ ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะงานสร้างสรรค์ ในโลกยุคปัจจุบัน ให้การคุ้มครองและการซื้อขายลิขสิทธิ์สำหรับเด็ก เป็นเรื่องสากลไปแล้ว ทั่วโลกเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ โดยผ่านการแปลหนังสือ เพื่อเผยแพร่ให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้ ซึ่งไทยเป็นผู้นำเรื่องการผลิตสื่อหนังสือสำหรับเด็ก ปีนี้งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรมเป็นแม่งาน พร้อมคัดสรรหนังสือ 100 เล่มที่ควรอ่าน ซึ่งนำมาจัดแสดงในงานดังกล่าว เป็นการประกาศศักยภาพของไทย เป็นศูนย์กลางการผลิตหนังสือ ซึ่งมีสำนักพิมพ์จากทั่วโลก และกลุ่มอาเซียน มาร่วมจัดงานดังกล่าวอย่างคับคั่ง งานดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ซื้อขายลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฏหมาย โดยมีเป้าหมายให้ประเทศเป็นศูนย์กลางและผู้นำ การผลิตสื่อหนังสือในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้เกิดการรักการอ่าน และเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน นำความรู้มาพัฒนาประเทศได้

Advertisement

“การรณรงค์ส่งเสริมการอ่าน มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรก มีแผนแม่บท และนโยบายระดับชาติ มีแผนปฏิบัติงานทุกหน่วยงาน พร้อมงบประมาณขับเคลื่อน การส่งเสริมการอ่าน อันดับแรก คือ การคัดเลือกหนังสือดี ๆ สอง กองทุนสื่อความปลอดภัยและสร้างสรรค์ เข้ามาสนับสนุนการผลิตสื่อที่ดี ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีให้นโยบาย โดยประกาศเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนห้องสมุดระดับต่าง ๆ อาทิ ห้องสมุดระดับชาติ ระดับประชาชน ระดับชุมชน และห้องสมุดโรงเรียน เพื่อกระตุ้นสร้างบรรยากาศการอ่าน ส่วนการซื้อขายลิขสิทธิ์ เป็นเรื่องของผู้สร้างสรรค์ หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์และรายได้ ส่วนลิขสิทธิ์ของส่วนราชการทุกรายการ กระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้จัดทำเผยแพร่
โดยจัดทำเป็นหนังสือ หรือเอกสาร เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ พร้อมให้ดาวน์โหลดเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ ศึกษาค้นคว้าได้อย่างสะดวก และทั่วถึงมากขึ้น” นายวีระกล่าว

นายวีระ กล่าวอีกว่า กระทรวงวัฒนธรรม ไม่ได้มีหน้าที่เฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน เพราะไม่มีอำนาจหน้าที่หรือกฏหมายรองรับ ส่วนสื่อที่ไม่เหมาะสม หรือเป็นอันตรายแก่เด็กและเยาวชน ก่อให้เกิดการเบนเบี่ยงทางวัฒนธรรม เป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่น แต่มีการบูรณาการร่วมมือยับยั้งการผลิตสื่อดังกล่าว แต่ไทยเป็นประเทศเปิด จึงมีการเผยแพร่สื่อทางอินเตอร์เน็ท หรือโซเซียลมีเดีย จึงเป็นจิตสำนึกคนไทย ไม่เผยแพร่สื่อดังกล่าว จึงมีกองทุนสื่อความปลอดภัยและสร้างสรรค์เข้ามาช่วย สนับสนุนงบประมาณสร้างสื่อที่ดี เพื่อไล่สื่อที่ไม่ดีออกไป เพราะการปิดเว็บไซต์ หรือโซเซียลมีเดีย ไม่ได้ง่าย สามารถเข้ามาอยู่ตลอดเวลา จึงมีนโยบายเอาน้ำดี ไล่น้ำร้ายมากกว่า

Advertisement

ด้านนายอาทร กล่าวว่า งานดังกล่าว เพื่อให้ไทย เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของประชาคมอาเซียน โดยผ่านการซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ภายใต้แนวคิด “Creativity Beyond the Page” ซึ่งเป็นเทศกาลแรกที่นำงานศิลป์ที่สร้างสรรค์ มาผนวกกับงานด้านวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม (art
meets science” เพื่อส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมด้านศาสตร์และศิลป์อย่างลงตัว โดยเจ้าของลิขสิทธิ์ นักเขียน นักวาดภาพนานาชาติ มาร่วมกันสร้าง “creative marketplace” เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทย มีโอกาสเปิดหูเปิดตา เรียนรู้ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมระดับสากลเพื่อต่อยอดการศึกษาและพัฒนาตนเองตามวัย

“จุดเด่นงาน คือ นิทรรศการภาพประกอบหนังสือเด็กโบโลญ่า 2017 ของศิลปินนักวาดภาพฝีมือระดับโลก จำนวน 75 ชุด รวม 375 ภาพ จากหลายพันชุด มาจากประเทศสเปน ฝรั่งเศส เกาหลี อาร์เจนติน่า ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรเพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่ศิลปินรุ่นใหม่ ที่มีความสามารถโดดเด่น ก่อนเข้าสู่เส้นทางนักวาดภาพประกอบมืออาชีพตามลำดับ ซึ่งงานดังกล่าว มีเวทีแสดงผลงานในรูปแบบ
หนังสือ ภาพ เสียง การ์ตูน หรือกรากฟิก โดยมีรางวัลรวมมูลค่ากว่า 350,000 บาทด้วย” นายอาทร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image