“ยูเอ็น”เล็งวางกรอบ ขจัดมลภาวะพลาสติก

(ภาพ-geraldsimon00 /Pixabay)

คณะตัวแทนของนานาประเทศ ที่มีทั้งผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมสุดยอดว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในกรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมาและจะไปสิ้นสุดลงในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ สามารถทำความตกลงเบื้องต้นกว้างๆ ถึงความจำเป็นในการต้องแสวงหามาตรการเชิงปฏิบัติที่เข้มแข็งมากขึ้นเพื่อต่อสู้กับวิกฤตการณ์พลาสติก ที่กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกในเวลานี้ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการหามาตรการป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติก หลุดรอดไปสู่ท้องทะเล กลายไปเป็นแพขยะขนาดใหญ่กลางมหาสมุทร

เดิมทีสหประชาชาติ กำหนดพันธะผูกพันให้ชาติสมาชิกลดปริมาณขยะพลาสติกลงในระดับที่มีนัยสำคัญภายในปี 2025 ก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม ตัวแทนของหลายประเทศในการประชุมครั้งนี้นำโดยนอรเวย์ พยายามผลักดันให้มีการกำหนดเป้าหมายระยะยาวให้ปริมาณขยะในมหาสมุทรเป็นศูนย์ให้ได้

นอกจากนั้นยังมีการเสนอต่อที่ประชุมให้กำจัดขยะพลาสติกจากชายหาด, กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกจากแผ่นดิน ถูกกระแสน้ำพัดพาลงสู่ทะเล กลายเป็นแพขยะพลาสติกในมหาสมุทร ซึ่งส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง เนื่องจากยิ่งนานไปขยะเหล่านั้นจะเสียดสีซึ่งกันและกันหลุดร่อนกลายเป็น ไมโครพลาสติก ขนาดเล็กที่เข้าไปสะสมอยู่ในสัตว์ทะเล ในสิ่งแวดล้อมและเข้าถึงตัวมนุษย์ในที่สุด

เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว ที่ประชุมเสนอให้มีการวางกรอบการทำงานในทำนองเดียวกันกับ กรอบการดำเนินการของความตกลงปารีสว่าด้วยการลดภาวะโลกร้อน กล่าวคือ กำหนดให้เป้าหมายระยะยาวในการกำจัดขยะพลาสติกในมหาสมุทรเป็นศูนย์ ให้เป็นเป้าหมายที่มีพันธะผูกพันตามกฎหมาย แต่ให้แต่ละชาติสมาชิกดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวเป็นขั้นตอนตามความสมัครใจ เริ่มต้นจากการกำหนดให้มีการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณขยะพลาสติกที่ถูกต้อง ตรงกับความเป็นจริง ต่อด้วยการดำเนินตามมาตรการป้องกันไม่ให้หลุดไปถึงทะเลและมหาสมุทร รวมทั้งความคืบหน้าในการดำเนินการดังกล่าว

Advertisement

นายอีริค ลินด์เบิร์ก นักวิชาการจากกองทุนชีวิตสัตว์ป่าโลก (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) ระบุว่า ปัญหาขยะพลาสติก เป็นปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไขด้วยความตกลงในระดับโลก เพราะขยะพลาสติกมีปริมาณมหาศาล ก่ออันตรายและไม่จำกัดอยู่ในเขตแประเทศใดประเทศหนึ่ง

โดยตั้งความหวังว่าการประชุมที่ไนโรบีจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการรับมือกับปัญหานี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image