วิเคราะห์หลักฐาน”เยติ” ที่แท้เป็น”หมีสีน้ำตาล”

เยติในจินตนาการ (ภาพ-Bernell via Pixabay)

“ไอคอน ฟิล์ม” บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์อิสระในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ให้เงินทุนสนับสนุนต่อ ด็อกเตอร์ ชาร์ล็อตต์ ลินด์ควิสต์ นักชีววิทยา ผู้เชี่ยวชาญวิวัฒนาการของหมีจาก ยูนิวเวอร์ซิตี แอท บัฟฟาโล ในเมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อตรวจสอบดีเอ็นเอ จากตัวอย่างที่ถูกระบุว่าเป็นหลักฐานแสดงถึง การมีอยู่ของ “เยติ” หรือ “มนุษย์หิมะ” หรือ “มนุษย์หิมาลัย” เพื่อนำไปเทียบเคียงกับ ดีเอ็นเอ ของหมี เพื่อไขปริศนาลึกลับเกี่ยวกับตำนานของเยติ โดยขอสิทธิ์ในการถ่ายทำภาพยนตร์เพื่อเผยแพร่แลกกับการสนับสนุนดังกล่าว

ขนเยติที่นำมาตรวจสอบ (ภาพ-Icon Films Ltd.)

ดร.ลินควิสต์ ตั้งทีมวิจัยนานาชาติขึ้นมาเพื่อรับงานนี้ทั้งในปากีสถานและสิงคโปร์ แต่ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การตอบคำถามว่า เยติ มีจริงหรือไม่ หากแต่เป็นเพราะต้องการตรวจสอบดีเอ็นเอ ของตัวอย่างเหล่านั้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญวิวัฒนาการของหมี เชื่อว่าเป็นของหมีสีน้ำตาล ที่วิวัฒนาการแตกต่างออกไปจากหมีสีน้ำตาลในเอเชีย เนื่องจากมีถิ่นที่อยู่จำเพาะและมีลักษณะพิเศษอย่างบนเทือกเขาหิมาลัยเท่านั้น

หมีสีน้ำตาลเทือกเขาหิมาลัยแทบจะไม่ได้มีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ไม่มีพรรณนาความทางวิชาการถึงรูปแบบการใช้ชีวิตและอื่นๆของมัน เนื่องจากมันปรากฏตัวให้เห็นน้อยครั้งมาก และถิ่นที่อยู่อาศัยอยู่บนเทือกเขาสูงปกคลุมด้วยหิมะ ยากต่อการสำรวจวิจัย และถ้าหากสามารถขจัดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเยติได้ ก็จะเป็นผลพลอยได้จากการศึกษาวิจัยครั้งนี้

ไอคอน ฟิล์ม เป็นผู้จัดหาชิ้นส่วนจากหลักฐานที่ถูกระบุว่า เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของเยติจริงๆ รวม 9 ชิ้น รวมทั้งชิ้นส่วนขน เขี้ยว และหนังศีรษะ ในขณะที่ทีมวิจัยของลินด์ควิสต์ จัดหาตัวอย่างสำหรับการตรวจสอบดีเอ็นเอจากประชากรหมีจากสวนสัตว์, วนอุทยานและชิ้นส่วนของหมีในพิพิธภัณฑ์ที่รู้กันดี รวม 15 ตัวอย่าง เพื่อใช้ในการอ้างอิงเปรียบเทียบ โดยมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยไปที่ “ไมโทครอนเดรีย ดีเอ็นเอ” ส่วนที่เป็นตัวแปร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต่างเชิงพันธุกรรม ไม่ใช่ส่วนหลักที่สัตว์ในประเภทเดียวกันมีเหมือนกันทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ดีเอ็นเอ หลักพันธุกรรมของหมี จะเหมือนกันในทุกชนิดของหมี ไม่ว่าจะเป็นหมีสีน้ำตาล หมีดำ หรือหมีขั้วโลกก็ตาม

Advertisement

ผลการตรวจดีเอ็นเอจากหลักฐานของเยติทั้งหมด พบว่า 8 ชิ้น เป็นชิ้นส่วนของ หมีสีน้ำตาลหิมาลัย อีก ชิ้น เป็นเขี้ยวและชิ้นส่วนขนของสุนัข

ทีมวิจัยของลินด์ควิสต์ ยังได้ข้อมูลจากการเปรียบเทียบดีเอ็นเอว่า หมีสีน้ำตาลหิมาลัย ซึ่งมีผู้พบเห็นทั้งบนที่สูงของเทือกเขาหิมาลัยเรื่อยไปจนถึงบางส่วนของที่ราบสูงทิเบต แยกวิวัฒนาการออกจากหมีอื่นๆในภูมิภาคทั้งหมดเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ซึ่งทำให้มันมีลักษณะทางพันธุกรรมต่างออกไปจากหมีสีน้ำตาลอื่นๆ และแตกต่างออกไปจากหมีสีน้ำตาลเอเชีย ทั้งยังส่งผลให้รูปร่างหน้าตาแตกต่างกันออกไปด้วย อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยยอมรับว่า จำเป็นต้องมีตัวอย่างวิจัยที่มีคุณภาพดีกว่านี้ เพื่อให้ได้ภาพรวมของสายพันธุ์ใหม่นี้ทั้งหมด

กระดูกที่อ้างว่าเป็นของเยติ (ภาพ-Icon Films Ltd.)

“สิ่งที่อ้างว่าเป็นเยติ ซึ่งได้จากที่ราบสูงทิเบต มีดีเอ็นเอตรงกันกับหมีสีน้ำตาลทิเบต ส่วนที่อ้างว่าได้จากเทือกเขาด้านตะวันตกของหิมาลัย ดีเอ็นเอก็ตรงกันกับหมีสีน้ำตาลหิมาลัย ส่วนอื่นๆ ที่ได้จากระดับความสูงที่ต่ำลงมา ดีเอ็นเอแสดงให้เห็นว่าเป็น หมีดำเอเชีย เท่านั้น” ลินด์ควิสต์ระบุ

Advertisement

ดร.ลินด์ควิสต์ยอมรับว่า ผลวิจัยครั้งนี้ทำให้ได้ภาพวิวัฒนาการของหมีครบถ้วนมากขึ้น แต่คงไม่เป็นผลดีสำหรับไอคอน ฟิล์ม เท่าใดนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image