“ไส้เดือน” โตได้ในดิน”ดาวอังคาร”

(ภาพ-Wieger Wamelink)

ทีมวิจัยทางชีววิทยา นำโดย วีเกอร์ แวเมลิงค์ นักชีววิทยาประจำมหาวิทยาลัย แวเกนนิงเกน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประสบความสำเร็จในการทดลองเลี้ยงไส้เดือนในดินดาวอังคารจำลอง ซึ่งสั่้งซื้อจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) เป็นเงิน 2,500 ดอลลาร์ (ราว 82,000 บาท) ได้ปริมาณดิน 220 ปอนด์ หรือราว 100 กิโลกรัม หลังจากเพาะเลี้ยงไส้เดือนแล้วนำดินส่วนหนึ่งไปใช้เพาะปลูกพืชผักได้อีกด้วย
ดินที่แวเมลิงค์ซื้อจากนาซาเมื่อปี 2013 ไม่ได้มาจากดาวอังคารจริงๆ แต่จำลองขึ้นโดยการนำเอาโคลนจากภูเขาไฟแห่งหนึ่งในฮาวาย ผสมกับดินจากทะเลทราย โมฮาเว หลังจากนั้นนำดินทั้งหมดผ่านกระบวนการฆ่าสิ่งมีชีวิตในดินทั้งหมดด้วยกรรมวิธีสเตอริไลซ์ เพื่อให้เหมือนกับดินที่ปราศจากสิ่งมีชีวิตจากดาวอังคาร

แวเมลิงค์ นำดินดาวอังคารที่จำลองขึ้นไปไว้ในห้องทดลองที่จำลองสภาพให้คล้ายคลึงกับอาณานิคมบนดาวอังคาร จากนั้นก็เริ่มต้นทดลองเลี้ยงไส้เดือนเกิดใหม่ 2 ตัวซึ่งปรากฏว่าเติบโตได้ดี เมื่อนำไส้เดือนที่โตเต็มวัยซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในดินและสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกได้มาเลี้ยงเพิ่มเติม ไส้เดือนเหล่านั้นไม่เพียงมีชีวิตรอด ทั้งยังขยายพันธุ์ได้อีกต่างหาก

ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นก็คือ เมื่อแบ่งดินส่วนหนึ่งไปใช้เพื่อเพาะปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์พืชหลายชนิด ปรากฏว่า ทั้งมะเขือเทศ, ข้าวสาลี, ผักสลัดน้ำ(เครสส์), มัสตาร์ด และ สโตนคร็อป ซึ่งเป็นพืชป่าชนิดหนึ่ง สามารถเติบโตได้ดี เมื่อโตได้ระยะหนึ่งก็จัดเก็บมาตรวจสอบสารตกค้างจำพวกโลหะหนัก แต่ก็ยังปลูกทดแทนในปริมาณใกล้เคียงกัน เพื่อตรวจสอบดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในกรณีที่ไม่มีมนุษย์เข้าไปแทรกแซงกระบวนการเติบโตของพืชทั้งหมด เมื่อครบปีแรก แวเมลิงค์และทีมวิจัยนำดินเดิมกลับมาปลูกพืชใหม่ โดยเพิ่มอาหารของพืชเข้าไปเพิ่มเติมโดยใช้ ขี้หมู เพื่อจำลองการใช้อุจจาระของคนในอาณานิคมดาวอังคารสำหรับการเพาะปลูก

อย่างไรก็ตาม แอนดรูว์ พาล์มเมอร์ ศาสตราจารย์ทางชีววิทยาจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งฟลอริดา ระบุว่า ความสำเร็จจากการทดลองดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่า มนุษย์จะสามารถเพาะปลูกหรือเลี้ยงไส้เดือนเพื่อบำรุงดินบนดาวอังคารได้ในแบบเดียวกันในอนาคต ด้วยสาเหตุสำคัญก็คือ ดินที่ใช้ในการทดลองครั้งนี้ไม่ใช่ดินจากดาวอังคารจริงๆ และแม้ว่าดินจำลองที่ได้มาจะผ่านการสเตอริไลซ์ แต่ยังมีองค์ประกอบทางเคมีของดินบนโลกอยู่ ซึ่งพืชหรือสัตว์สามารถนำมาใช้เพื่อการเจริญเติบโตได้ง่ายกว่า ซึ่งแตกต่างจากดินดาวอังคารจริงๆ ซึ่งแม้ว่าพืชจะเติบโตได้แต่อาจมีสารตกค้างที่ไม่เหมาะกับการกินเป็นต้น

Advertisement

ศาสตราจารย์พาล์มเมอร์ ยังระบุด้วยว่า ดินบนดาวอังคารยังมีองค์ประกอบแตกต่างกันในแต่ละพื้่นที่ เช่นเดียวกับที่ดินบนโลกเองก็แตกต่างออกไปตามพื้นที่และสภาพแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม พาล์มเมอร์ก็ยอมรับว่า ผลการทดลองครั้งนี้สำคัญอย่างยิ่งในฐานะพื้นฐานของการทดลองกับดินดาวอังคารจริงๆในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image