‘ยูเนสโก’ ขึ้นทะเบียน ‘ฟิล์มกระจก 35,427 รายการ-ภาพต้นฉบับ 5 หมื่นภาพ’ มรดกความทรงจำแห่งโลก ปี’60

 

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่าองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศรับรองการขึ้นทะเบียนฟิล์มกระจก 35,427 รายการ และภาพต้นฉบับ 50,000 ภาพ เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ประจำปี 2560 อย่างเป็นทางการในเว็บไซต์ unesco.org ซึ่งฟิล์มกระจก และภาพต้นฉบับดังกล่าว ได้ส่งมอบ และเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร มาอย่างยาวนาน การประกาศขึ้นทะเบียนฟิล์มกระจก และภาพต้นฉบับนั้น เสนอโดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ประเทศไทย และได้รับการบรรจุในทะเบียนเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกในปี 2560

นายวีระกล่าวอีกว่า ภาพฟิล์มกระจก 35,427 รายการ และภาพต้นฉบับ 50,000 รายการ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง และยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งรวบรวมจากฟิล์มกระจกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงถ่ายไว้ เอกสารดังกล่าวสะท้อนถึงหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ทางด้านสังคม วัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงทางเมือง และความสัมพันธ์ด้านต่างประเทศของสยาม แสดงถึงบุคคล สถานที่ และเหตุการณ์ที่มีความสำคัญระดับประเทศ และนานาชาติ ในยุคที่อาณานิคมตะวันตกแพร่ขยายมายังเอเชีย ทำให้สยามเลือกที่จะรักษาเอกลักษณ์ของชาติ และปฏิรูปประเทศในทุกด้าน นำไปสู่ยุคของการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยหอจดหมายเหตุฯ ได้เก็บรักษาเอกสารดังกล่าวมาตั้งแต่ พ.ศ.2520 ปัจจุบันนี้ได้สแกนจัดเก็บเอกสารในรูปแบบดิจิทัลไฟล์ เพื่ออนุรักษ์ต้นฉบับ และให้บริการด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ

Advertisement

นายวีระกล่าวอีกว่า ในปี 2017 ประเทศเพื่อนบ้านที่ได้ขึ้นทะเบียนหลายราย อาทิ 1.จารึกบนกระดูกที่ใช้เสี่ยงทายของจีนโบราณ 2.หอจดหมายเหตุหลักฐานการอนุรักษ์มรดกโลกโบโรพุทโธ อินโดนีเซีย 3.จารึกบนระฆังของพระเจ้าบุเรงนองแห่งพม่า 4.ฟิล์มกระจกที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่บันทึกภาพอ่าวท่าเรือซิดนีย์ 5.เอกสารเรื่องปันหยีของชวาที่ได้ส่งอิทธิพลต่อวรรณคดีในหลายประเทศ 6.เอกสารเกี่ยวกับชนดั้งเดิมในหลายประเทศที่เสนอต่อสหประชาชาติเก็บรักษาไว้ที่สวิสเซอร์แลนด์ 7. เอกสารจดหมายเหตุที่เขียนด้วยลายมือเกี่ยวกับเชคสเปียร์เสนอโดยอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

Advertisement

นายวีระกล่าวต่อว่า สำหรับการประกาศขึ้นทะเบียนฟิล์มกระจก และภาพต้นฉบับของไทยครั้งนี้ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์รายการที่ 5 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก โดยก่อนหน้านี้ไทยขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกมาแล้ว 4 รายการ ได้แก่

1.ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2546 เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญ ที่บันทึก และประกาศข้อมูลข่าวสารสาธารณะ และนโยบายของรัฐโบราณให้สาธารณชนรับทราบ และมีผลต่อประวัติของโลกนอกพรมแดนวัฒนธรรมของไทย ทำให้เข้าใจความสำคัญของการปกครอง การค้าขาย การติดต่อแลกเปลี่ยนกับชาติต่างๆ ในช่วงเวลาของยุคสุโขทัย มีความสมบูรณ์ในตัวเอง นับเป็นเอกสารสาธารณะที่หาได้ยากยิ่ง

2.เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของรัชกาลที่ 5 ขึ้นทะเบียนปี 2552 เป็นเอกสารเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสยาม รวมพระอัจริยภาพทุกด้านที่ทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงส่งเสริมให้สยามอยู่ได้ อย่างสงบประกอบด้วยเอกสารการเลิกทาส และเอกสารอื่นที่แสดงให้เห็นถึงนโยบาย และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมให้กรุงสยาม ดำเนินนโยบายต่างประเทศ ที่ทำให้ประเทศสามารถอยู่ในความสงบได้อย่างดี โดยเป็นเอกสารต้นฉบับทั้งหมด 8 แสนหน้า ปัจจุบันจัดเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติและหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

3.จารึกวัดโพธิ์ ประกาศขึ้นทะเบียนในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อปี 2551 และขึ้นทะเบียนในระดับโลกใน ปี 2554 “วัดโพธิ์” หรือ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร” ซึ่งจารึกวัดโพธิ์เป็นองค์ความรู้จากปราชญ์ของไทย และสรรพศิลปวิทยาการต่างๆ เช่น ตำราการแพทย์ โบราณคดี และวรรณกรรม โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนทั้งหลาย ฯลฯ มาจารึกลงบนแผ่นหินอ่อน ประดับไว้ตามบริเวณผนัง-เสาพระระเบียงรอบพระอุโบสถ พระวิหาร พระวิหารคด และศาลารายรอบพระมณฑปภายในวัดและแม้ว่าเวลาผ่านไปกว่า 178 ปี วัดโพธิ์ยังคงเป็นแหล่งเรียนรู้สรรพวิทยา เห็นได้จากความรู้เกี่ยวกับโยคะศาสตร์และตำราการนวดแผนโบราณวัดโพธิ์ เป็นที่รู้จักแพร่หลายออกไปทั่วโลกในปัจจุบัน

และ 4.บันทึกการประชุมของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ขึ้นทะเบียนไว้เมื่อปี พ.ศ.2556 เป็นเอกสารที่มีอายุกว่า 100 ปี ส่วนหนึ่งของบันทึกการประชุมของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่มีทั้งหมด 16 เล่ม บันทึกไว้ช่วงระหว่างปี 2447-2547 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเอกสารเหล่านี้ เป็นการรวบรวมบันทึกความคิด ความอ่าน หรือการระดมสมองของ สมาชิกสยามสมาคมที่มาจากหลายสาขาอาชีพ มีทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการระดับสูง ที่ปรึกษาชาวต่างชาติ สะท้อนภาพและมุมมองของสังคมในยุคสมัยนั้น ซึ่งเป็นประโยชน์ในการศึกษาวิจัย และอ้างอิง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image