เปิดขั้นตอนที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เฟ้น2กกต. ลงคะแนนเปิดเผย

จากกรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เปิดเผยว่าการประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อเลือกผู้สมควรเป็น กกต. 2 คนนั้น จะขัดกับข้อกำหนดการให้ลงคะแนนเลือกโดยเปิดเผย แต่กลับเป็นการลงคะแนนลับนั้น

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม รายงานข่าวแจ้งว่า จากการตรวจสอบพบว่า ในการประชุมใหญ่ศาลฎีกาในการลงคะแนนเลือกผู้สมควรได้เป็นเป็น กกต.นั้น มีการเรียกประชุมรวม 2 ครั้ง จำนวนผู้พิพากษาที่มีในศาลฎีกาและมีสิทธิเข้าประชุมตามจำนวนคือ 176 คน แต่ในการประชุมนั้นไม่ได้เข้าครบเต็มจำนวนเนื่องจากบางคนติดภารกิจ โดยการเข้าประชุมมีจำนวนผู้พิพากษา ประมาณ 95 % จากจำนวนทั้งหมด 176 คน โดยครั้งแรกประชุมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กระบวนการประชุมนั้นให้มีเฉพาะผู้พิพากษาที่มีสิทธิลงคะแนนและผู้เกี่ยวข้องในการคัดเลือกเท่านั้นได้ร่วมประชุม บุคคลภายนอกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องไม่มีสิทธิเข้าร่วมประชุม

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนเริ่มกระบวนการเลือกผู้ถูกเสนอชื่อ ได้หารือกันในที่ประชุมถึงความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับวิธีการลงคะแนนโดยเปิดเผยว่าวิธีการลงคะแนนจะเป็นอย่างไร มีผู้พิพากษาอาวุโสเสนอการลงคะแนนโดยไม่ต้องระบุชื่อผู้พิพากษาที่ลงคะแนน ขณะที่เมื่อลงคะแนนให้นำบัตรนั้นหย่อนในตู้ที่ประชุมซึ่งผู้พิพากษาทุกคนจะมองเห็นได้ โดยการประชุมนั่งตามลำดับอาวุโสอยู่แล้ว สุดท้ายรองประธานศาลฎีกา 6 คนที่อยู่ในที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก เห็นว่า การกาเครื่องหมายบนบัตรลงคะแนนที่ผู้พิพากษาแต่ละคนลงคะแนนโดยตรงจากจำนวนบัตรที่พิมพ์ตามจำนวนผู้พิพากษาเป็นการกระทำโดยเปิดเผยแล้ว ผลการนับคะแนนเสียงที่ประชุมผู้พิพากษาข้างมากกว่า 100 คน ลงคะแนนให้นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา จากการลงคะแนนเพียงรอบแรกก็ผ่านด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้พิพากษาที่เข้าประชุม จากครั้งนั้นมีผู้สมัครถูกเสนอรวม 5 คน ส่วนอีก 4 คนให้ที่ประชุมลงคะแนนอีกในรอบที่ 2 ตามระเบียบการคัดเลือกฯแต่ปรากฏว่า ใน 4 คนยังไม่มีผู้ใดมีคะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งจากที่ประชุม จึงต้องให้ดำเนินการรับสมัครใหม่เพื่อเลือกผู้ที่สมควรเป็น กกต.อีก 1 คนให้ครบตามจำนวน

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า หลังจากนั้นจึงได้เปิดรับสมัครใหม่ กระทั่งวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา จึงกำหนดนัดประชุมใหญ่ศาลฎีกา อีกครั้งที่ 2 เพื่อลงคะแนนเลือกผู้สมัครใหม่ที่สมควรได้เป็น กกต. ขณะที่เมื่อจะลงคะแนน ในที่ประชุมใหญ่ได้พิจารณาประเด็นข้อกฎหมายถึงวิธีการลงคะแนนอีกเช่นกัน แล้วว่าเป็นการกระทำการโดยเปิดเผยซึ่งที่ประชุมใหญ่มีมติด้วยเสียงข้างมากแล้วชัดเจน 86 ต่อ 77 (ตามที่นายสมชัยกล่าวถึง) และเมื่อได้ลงคะแนนเลือกผู้สมัครที่มีคุณสมบัติครบถ้วนก็ได้นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ด้วยคะแนนเสียงประมาณ 106-107 คะแนนเกินครึ่งหนึ่งจากที่ประชุม จากผู้สมัครที่ถูกเสนอชื่อครั้งนี้ มี 2 คน

Advertisement

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า จากนั้นกระบวนการลงคะแนนเลือกผู้สมควรเป็นกกต.ทั้ง 2 คน จึงได้ดำเนินการเสร็จสิ้นตามข้อกำหนดแล้ว และรอเสนอรายชื่อให้ สนช.พิจารณาเห็นชอบรวมกับอีก 5 คนที่คณะกรรมการสรรรหาลงมติเลือกไว้เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากนี้ สนช. ต้องดำเนินตามกระบวนการพิจารณาว่าจะเห็นชอบทั้ง 7 คนหรือไม่ หรือจะเห็นว่ามีข้อที่เป็นปัญหาตามการตั้งข้อสังเกตของนายสมชัย หากเป็นเช่นนั้นโดยสนช.ไม่เห็นชอบผู้ที่ได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จากความเห็นต่างข้อกฎหมายเกี่ยวกับวิธีการลงคะแนนแล้ว กระบวนการต้องกลับมาสู่การเปิดรับสมัครและลงคะแนนเลือกใหม่ต่อไป

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการคัดเลือกผู้สมควรได้รับเเต่งตั้งเป็นกรรมการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 ข้อ10 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าการลงมติเลือกผู้สมควรได้รับการเเต่งตั้งเป็น กกต.ให้กระทำโดยเปิดเผยด้วยการทำเครื่องหมายกากบาทอย่างชัดเจนลงหน้าชื่อเเละนามสกุลผู้ซึ่งตนเลือกจำนวนไม่เกิน2คนหรือจำนวนเท่าที่ยังขาดอยู่ ซึ่งบัตรการลงมติดังกล่าวจะมีการระบุหมายเลขที่ยืนยันด้วยว่าบัตรดังกล่าวเป็นชื่อของผู้พิพากษาคนใด เรื่องดังกล่าวจึงมองว่าเป็นการลงคะเเนนโดยเปิดเผยถูกต้องตามกฎหมายทุกประการเเล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image