ชมกันได้ด้วยตาเปล่า “ฝนดาวตกคนคู่” 120 ดวงต่อชั่วโมง แจ่มๆ คืน 14 ธ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม นายศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เวลาประมาณ 20.30 น. คืนวันที่ 14 ธันวาคม จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 15 ธันวาคม จะเกิดปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” หรือ “ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่” ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถดูได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคในบริเวณฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงรบกวน ทั้งนี้ปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” หรือ “ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 4-17 ธันวาคมของทุกปี คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีอัตราการตกสูงสุดถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง จุดศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

“เราน่าจะดูได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคของไทย เพราะคืนวันที่ 14 ธันวาคมยังตรงกับช่วงข้างแรม ท้องฟ้าจะมืดสนิท ไร้แสงจันทร์รบกวน จึงเป็นโอกาสดีที่จะสังเกตการณ์ฝนดาวตกได้เกือบตลอดทั้งคืน ซึ่งดวงจันทร์จะขึ้นจากขอบฟ้าเวลาเช้ามืดวันที่ 15 ธันวาคม เวลาประมาณ 03.55 น.” ผู้อำนวยการ สดร.กล่าว

นายศรัณย์กล่าวว่า นอกจากฝนดาวตกเจมินิดส์แล้วช่วงเดือนธันวาคมยังมีฝนดาวตกชุดอื่นให้ชมกันอีก เช่น ฝนดาวตกพัพพิดส์-เวลิดส์ ในคืนวันที่ 7 ธันวาคม อัตราการตก 10 ดวงต่อชั่วโมง และฝนดาวตกเออร์ซิดส์ในคืนวันที่ 22 ธันวาคม อัตราการตก 10 ดวงต่อชั่วโมง ถือเป็นเดือนส่งท้ายปีที่เหมาะแก่การสังเกตการณ์ฝนดาวตกเป็นอย่างยิ่ง

Advertisement

“ฝนดาวตกเจมินิดส์เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับกระแสธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน ทิ้งไว้ในขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว สายธารของเศษหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อยจะถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟที่มีสีสวยงาม (fireball) ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไป คือ เป็นดาวตกที่มีทิศทางพุ่งมาจากจุดๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรือใกล้เคียงกับกลุ่มดาวอะไร ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ หรือดาวที่อยู่ใกล้กลุ่มดาวนั้น เช่น ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต เป็นต้น” นายศรัณย์กล่าว

ด้านนายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ ได้แนะนำเทคนิคการถ่ายภาพฝนดาวตกว่า แนะนำให้ใช้กล้องที่สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้ ปรับค่าความไวแสงสูงๆ ตั้งแต่ ISO 1600 ขึ้นไป เพื่อให้กล้องมีความไวแสงในการบันทึกภาพฝนดาวตก ตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องที่มั่นคงและใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้สามารถเก็บภาพท้องฟ้าให้ได้กว้างที่สุด หันหน้ากล้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นทิศของศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตก บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ซึ่งจะเริ่มโผล่ขึ้นจากขอบฟ้าตั้งแต่เวลาประมาณสองทุ่มครึ่งของวันที่ 14 ธันวาคม เป็นต้นไป

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image