กลุ่มฟื้นฟูปชต.-ศูนย์ทนายความฯ เตรียมยื่นศาล รธน.ยกเลิกคำสั่ง คสช.(คลิป)

 

เมื่อเวลา 10.10 น.วันที่ 9 ธันวาคม ที่ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ นายรังสิมันต์ โรม ผู้ประสานงานกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และนักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มธ.กล่าวในการแถลงข่าวการยื่นคำร้องขอยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 โดยมีสมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เข้าร่วม ว่า ข้อที่เป็นปัญหาอย่างยิ่งในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 คือ ข้อที่ 6 และ 12 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการออกคำสั่งเรียกบุคคลมาสอบปากคำ และสามารถจับกุมคุมขังไว้ได้นานสุดถึง 7 วัน โดยไม่ต้องมีคำสั่ง หรือหมายศาล ซึ่งคำสั่งดังกล่าวละเมิดสิทธิเสรีภาพที่แสดงออกโดยสุจริตหรือไม่

“นับตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีกลุ่มต่างๆ แสดงออกจำนวนมากว่าต้องการประชาธิปไตย แต่นับจาก คสช.ออกคำสั่งที่ 3/2558 กลุ่มเหล่านี้ถูกจับกุมคุมขัง และดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้ประกาศใช้ และได้รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีการกำหนดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคของบุคคล และสิทธิในชีวิต ร่างกายที่จะไม่ถูกคุมขัง ทว่าถึงวันนี้ การดำเนินคดีโดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ยังคงอยู่ จึงเป็นเหตุผลในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามสิทธิในมาตรา 213 เพื่อยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ในข้อ 6 และ 12 โดยผู้ร่วมยื่นคำร้องหลักมาจาก 5 คดี คือ คดีหอศิลป์กรุงเทพฯ คดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ คดีรณรงค์ประชามติ คดีปัดฝุ่นประชาธิปไตยโดยนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคดีเวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหารที่จัดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่” นายรังสิมันต์ กล่าว

Advertisement

นายรังสิมันต์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จะยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 รวมถึง การปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการรวบรวมรายชื่อผู้เสียหาย ซึ่งเชื่อว่ามีอยู่จำนวนมาก เพื่อให้แล้วเสร็จ และยื่นคำร้องภายในเดือนธันวาคมนี้ หรือมกราคม 2561

นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ตัวแทนผู้เสียหายจากคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ กล่าวว่า คสช.เข้ามาในช่วงแรก โดยอ้างว่าต้องการรักษาความสงบ แต่ที่ผ่านมาเป็นเพียงการสกัดยับยั้งผู้มีความเห็นต่าง ทำให้กฎหมายไม่มีบรรทัดฐาน เพราะเลือกใช้อำนาจบังคับกับฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น การยื่นคำร้องครั้งนี้จะเป็นคำตอบแก่สังคมว่ากฎหมายที่สูงสุดของประเทศคือกฎหมายใด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image