ศิลปะ ความรัก และสายน้ำ ‘วง เผ่าพะนิด’ และ ‘แคลร์ โอบุสซิเยร์’ เมื่อแม่น้ำเทมส์ไหลบรรจบแม่น้ำโขงที่จังหวัดกระบี่

วง เผ่าพะนิด และ แคลร์ โอบุสซิเยร์

จากสองหนุ่มสาวนักเรียนศิลปะต่างทวีป สู่คู่ชีวิตศิลปินระดับโลก ฝีมือของเขาและเธอเป็นที่ประจักษ์ในวงกว้าง โดยเฉพาะในยุโรปและเอเชีย

เจ้าของผลงานการออกแบบอาคารมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ว่าที่แลนด์มาร์กแห่งใหม่ในสหราชอาณาจักร

ล่าสุด เดินทางมาเมืองไทย ซึมซับ ทำความรู้จักอัตลักษณ์ของความเป็นเมืองริมอันดามัน เตรียมรังสรรค์ผลงานชิ้นใหม่อันน่าตื่นตาตื่นใจ ร่วมกับศิลปินแถวหน้าจากทั่วโลกกว่า 60 ชีวิต ที่จังหวัดกระบี่ ในงานแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ ที่จะมีขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย Thailand Biennale, Krabi 2018

มติชนŽ ได้รับเกียรติจากศิลปินทั้งสองที่เปิดใจให้สัมภาษณ์ต่อสื่อไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก…

Advertisement

วง เผ่าพะนิด (Vong Phaophanit) และ แคลร์ โอบุสซิเยร์ (Claire Oboussier)

แม้สถานะในปัจจุบันของทั้งคู่จะเป็นพลเมืองอังกฤษ ทว่าแรกเริ่มแล้ว วงŽ คือนักศึกษาจากประเทศลาวที่เดินทางไปศึกษาด้านศิลปะที่ฝรั่งเศส ในเวลาต่อมา โดยการแนะนำจากเพื่อน เขาได้พบรักกับ แคลร์Ž นักศึกษาสาวชาวอังกฤษผู้มีศิลปะเป็นชีวิตจิตใจเช่นกัน

Advertisement

หนึ่งปีหลังจากทำความรู้จักคบหากัน ทั้งคู่ตัดสินใจเข้าพิธีวิวาห์ที่บ้านเกิดของฝ่ายเจ้าสาว

จนถึงวันนี้ ความรักในศิลปะŽ และ ความรักในกันและกันŽ มั่นคงยืนยาวผ่านเวลากว่า 32 ปี

จะเรียกว่า พรหมลิขิตŽ หรือ คู่แท้Ž ก็แล้วแต่

ทว่า สิ่งที่สัมผัสได้คือ เรื่องราวของทั้งคู่เป็น มหัศจรรย์แห่งความรักŽ ที่ทำให้ทุกข้อจำกัดและทุกความแตกต่างมิใช่อุปสรรค

วงŽ เกิดในปี ค.ศ.1961 ที่จังหวัดสะหวันนะเขต ประเทศลาว เป็นที่รู้จักในแวดวงศิลปินจากการทำประติมากรรมและผลงานจัดวางขนาดใหญ่ทั้งในและนอกสถานที่ (large-scale installations) ซึ่งมีชั้นเชิงที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยความหมาย ความทรงจำเป็นอิทธิพลหลักที่ทำให้เขาเลือกใช้วัสดุที่สามารถอ้างอิงถึงวัฒนธรรมลาว เช่น ไม้ไผ่ ยาง และข้าวสาร อย่างไรก็ตาม วงŽ ยังคงให้ความสำคัญกับขอบเขตระหว่างสุนทรียศาสตร์และปรัชญาในงานของตัวเองมากกว่า

ด้าน แคลร์Ž นั้น เกิดในปี ค.ศ.1963

ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เธอเป็นทั้งศิลปินและนักเขียน เลือกใช้สื่อหลากหลายรูปแบบจากภาษาพูด ภาษาเขียน ไปจนถึงภาพยนตร์ เสียง และองค์ประกอบของประติมากรรมในการสร้างผลงาน

ปัจจุบัน วงและแคลร์ทำงานร่วมกันในนาม

สตูดิโอ วง เผ่าพะนิด และ แคลร์ โอบุสซิเยร์Ž

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งสองเดินทางมายังจังหวัดกระบี่เพื่อเข้าร่วมเทศกาลศิลปะที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย Thailand Biennale, Krabi 2018

แนวคิดหลักของงาน คือ เขตแดนแห่งความมหัศจรรย์ (Edge of the Wonderland) บ่งบอกถึงพื้นที่สำหรับจัดแสดงผลงานที่ตั้งอยู่ กลางแจ้งŽ บนแนวชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นแนวกั้นเขตแดนระหว่าง

แผ่นดินใหญ่และทะเลอันดามัน รวมถึงบ่งบอกแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานที่จะมีทั้ง การเชื่อมต่อและหักเหของแนวคิดŽ นำไปสู่จินตนาการอันน่าตื่นเต้น ผ่านฝีมือของศิลปินทั่วโลกกว่า 60 คน ที่ลงพื้นที่ซึมซับวัฒนธรรม ธรรมชาติ และอัตลักษณ์ของพื้นที่

ก่อนหน้านี้เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ทั้งคู่ยังเข้าร่วมนิทรรศการ Mekong-New Mythologies ที่จัดขึ้น

ณ ศูนย์ศิลปะแห่งฮ่องกง แนวคิดหลักของงานคือ การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับระบบนิเวศ สังคม การเมือง และตำนานแห่งลุ่มแม่น้ำโขง จึงน่าสนใจว่า วงŽ ในฐานะลูกหลานชาวลาว หนึ่งในประเทศที่มีแม่น้ำโขงเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ จะมีมุมมองต่อสถานการณ์ปัจจุบันของแม่น้ำที่เต็มไปด้วยความ

ขัดแย้งแห่งนี้อย่างไร

ติดตามความเห็นว่าด้วย ความรัก ความขัดแย้ง

และเทศกาลศิลปะแนวใหม่ที่กระบี่Ž ในแบบฉบับคู่รักจากแม่น้ำเทมส์และแม่น้ำโขงที่หลอมรวมกันด้วยศิลปะ ในลำดับต่อจากนี้

คุณทั้งสองตกหลุมรักซึ่งกันและกันเพราะมีความชอบศิลปะเหมือนกันหรือเปล่า?

แคลร์ : เป็นคำถามที่น่าสนใจ (ยิ้ม) ก็คงจะใช่ เราพบกันที่ปารีสปี 1984 ตอนนั้นวงเรียนอยู่ชั้นปีสุดท้ายที่วิทยาลัยศิลปะ ฉันเองก็ยังเรียนอยู่ เราเด็กด้วยกันทั้งคู่ พอวงเรียนจบ เขาก็เดินทางไปสหราชอาณาจักรกับฉัน ไม่กี่อาทิตย์หลังจากนั้น พ่อแม่เราก็จัดงานแต่งงานให้

วง : ในตอนนั้นเราได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันเกี่ยวกับหนังสือที่เราอ่าน เพลงที่เราฟัง รวมถึงเรื่องอื่นๆเพื่อจะรู้จักซึ่งกันและกัน ดังนั้น ผมว่ามันก็ไม่มีอะไรพิเศษนะ (ยิ้ม)

การทำงานกับสามีหรือภรรยามีความแตกต่างจากการทำงานกับเพื่อนร่วมงานทั่วไปหรือเปล่า เคยทะเลาะกันเพราะเรื่องงานมั้ย?

แคลร์ : ก็มีบ้าง แต่หลายครั้งความขัดแย้งก็ช่วยให้เกิดสิ่งที่ดีกว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเห็นแย้งกัน

เราจะพยายามให้มันพาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แต่ด้วยความที่รู้จักกันมานาน ทำให้มักไม่ต้องพูดอะไรกันมาก หลายๆ คน ถ้าไม่พูดกันอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด

แต่สำหรับเรา ไม่ใช่ มันเป็นระดับของความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง

วง : ผมว่าเป็นเพราะเราไม่ได้คิดว่างานของเราต้องเป็นไปตามความต้องการของใครด้วย ตามหลักของการทำงานศิลปะจะมองว่าศิลปินต้องโดดเดี่ยวตัวเอง

ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่น แต่เราสองคนไม่ได้เป็นแบบนั้น ความคิดของแคลร์เป็นความคิดของผม

ความคิดของผมก็เป็นความคิดของแคลร์ ด้วยทัศนคติแบบนี้ทำให้เราพยายามพัฒนางานอยู่เสมอ บางครั้งเราทำงานกับคนอื่น ไม่ว่าจะสถาปนิก วิศวกร การร่วมมือกันทำให้ไอเดียได้ขยายออกไป

แคลร์ : อย่างที่วงพูดเลย ในยุโรปหรือโลกตะวันตก

จะมีเรื่องเล่าที่เข้มแข็งอย่างหนึ่งว่า ศิลปินต้องเป็นอัจฉริยะที่โดดเดี่ยวตัวเองจากโลก เราสองคนพอใจที่ได้ท้าทายและผลักความเชื่อที่ว่านี้ออกไปด้วยการทำงานร่วมกันมาเป็นเวลานาน ฉันไม่แน่ใจว่าในเอเชียจะมีความเชื่อแบบนี้อยู่หรือเปล่า แต่มันคงไม่เข้มแข็งเท่าในยุโรป เพราะขณะที่วัฒนธรรมตะวันตกสอนให้เราเพิ่มความยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง วัฒนธรรมแบบพุทธอย่างหลัก อนัตตาŽ กลับบอกให้เราลดมันลง

ผลงานก่อนหน้านี้เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง อยากให้ช่วยอธิบายเกี่ยวกับตัวงานและแนวคิดของงานชุดนี้?

แคลร์ : งานของเราที่ทำในโปรเจ็กต์ Mekong Mythologies จะมีคลิปวิดีโอ 3 คลิปเรียงกัน คลิปแรกเป็นหนังสั้นถ่ายทำในประเทศลาวที่จังหวัดสะหวันนะเขต

ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ วงŽ ลักษณะเป็นการสำรวจเมือง เดินทางไปในสถานที่แปลกๆ ที่คนทั่วไปจะไม่ค่อยได้ไป คลิปที่สอง เราได้ทำให้แม่น้ำเทมส์ที่ลอนดอนกับแม่น้ำโขงกลายเป็นแม่น้ำสายเดียวกัน

ส่วนคลิปสุดท้าย เป็นคลิปที่เราถ่ายทำการผ่าตัดจำลองของศัลยแพทย์คนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันเขาทำงานอยู่ที่ Imperial College ที่ลอนดอน เราขอให้เขาแสดงการผ่าตัดโดยอาศัยเพียงความทรงจำทั้งหมดเมื่อ

30 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่เขาเคยผ่าตัดฉุกเฉินให้แก่ชายหนุ่ม

ผิวสียากจนคนหนึ่งที่ถูกแทงได้รับบาดเจ็บจนรอดชีวิต เหตุการณ์เกิดขึ้นที่แอฟริกาใต้ในยุคที่ยังมีการแบ่งแยกสีผิว ศัลยแพทย์คนนี้ในเวลานั้นยังเป็นเพียงแพทย์ฝึกหัด เขารู้สึกช็อกกับสิ่งที่เจอ ตอนถ่ายทำ เราถ่ายเฉพาะมือของเขา ไม่มีผู้ป่วยจริงๆ และไม่มีอุปกรณ์ใดๆ ทำให้เห็นว่ามือของเขามีความละล้าละลัง คลิปนี้มีแค่ภาพ ไม่มีเสียง เป็นการผ่าตัดที่เต็มไปด้วยความหมายซ้อนทับกันหลายชั้น เพราะนอกจากศัลยแพทย์จะเป็นคนผิวขาวและคนไข้เป็นคนผิวสีแล้ว เหตุการณ์ทางการเมืองในแอฟริกาในช่วงนั้นก็ถูกนำเสนอด้วย

วง : ระหว่างการถ่ายทำ มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ คือ มีเพื่อนคนหนึ่งของศัลยแพทย์ที่ได้เห็นการผ่าตัดนี้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เขาจำรายละเอียดการผ่าตัดได้แม่นยำ และเขาก็เป็นหมอเหมือนกัน ตอนที่ได้ดูคลิปนี้ เขาจะทักเป็นระยะๆ ว่า ตอนนี้หมอเขาทำท่าผิดนี่Ž (หัวเราะ) ผมว่ามันก็เหมือนกับวันนี้ที่เรามาอยู่ที่กระบี่ ได้ไปเกาะ ไปทะเล มันเป็นเพียงบางสิ่งบางอย่างที่เราเห็น เราเชื่อว่ามุมมองของเราซึ่งเป็นผู้มาเยือนย่อมแตกต่างจากมุมมองของคนในท้องถิ่น นี่เป็นหัวข้อที่เรานำมาใช้ในงานอยู่เสมอ คือ หาความแตกต่างระหว่าง การมองกับการเห็นŽ (to look & to see)

การเห็นŽ มีความหมายที่ลึกซึ้งกว่า การมองŽและ การฟังกับการได้ยินŽ ก็มีแนวคิดแบบเดียวกัน?

แคลร์ : ถูกต้อง การมองŽ คือการเข้าถึงบางสิ่งบางอย่างโดยอาศัยความเข้าใจทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตัวเอง แต่ การเห็นŽ แสดงว่าคุณเกือบจะได้เข้าไปสัมผัสสิ่งนั้นแล้วจริงๆ

พวกเราต้องการ เห็นŽ มากกว่าแค่ มองŽ อย่างที่คุณว่า การมองก็เหมือนการฟัง แต่การเห็นคือการได้ยิน

ในฐานะที่เป็นคนลาวและเป็นศิลปินที่เคยมีผลงานเกี่ยวกับแม่น้ำโขง คิดอย่างไรเกี่ยวกับความขัดแย้งในลุ่มแม่น้ำโขงในปัจจุบัน โดยเฉพาะระหว่างจีนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้?

วง : ผมคิดว่าทุกๆ ประเทศควรเคารพและแบ่งปันทรัพยากร มันน่าเสียดายที่ตอนนี้แต่ละฝ่ายก็ต่างโลภและทำลายแม่น้ำโขง คนที่อาศัยแถบลุ่มแม่น้ำโขง พวกเขาทำมาหากินด้วยการประมง พวกเขาจะเผชิญมลพิษ เผชิญการขาดแคลนน้ำสะอาด ผมคิดว่าควรหาทางออกจากปัญหานี้ ให้มีการแก้ไขที่เหมาะสมและทำให้ทุกประเทศสามารถใช้ทรัพยากรจากแม่น้ำแห่งนี้ร่วมกัน ธรรมชาติเป็นสิ่งที่เอื้อเฟื้อแก่ทุกคน เราต้องเริ่มด้วยทัศนคติที่ถูกต้องก่อน แต่ตอนนี้ผมก็ยังไม่เห็นสัญญาณอะไรว่าเหตุการณ์จะดีขึ้น

แคลร์ : มันจะดีกว่ามากถ้าเราหยุด มองŽ

แม่น้ำโขง แต่เริ่มต้นที่จะ เห็นŽ แม่น้ำโขงซะที เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่แตกต่างออกไป ตอนนี้เรากำลัง มองŽ แม่น้ำโขง เลยคิดแค่ว่าทำอย่างไรจึงจะเอาประโยชน์จากมันมาให้ได้มากที่สุด มันย้อนแย้งกันมากที่แม่น้ำซึ่งไหลไปให้แก่ทุกชีวิต เป็นอาหารแห่งชีวิต กลับทำให้คนมาขัดแย้งกัน

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่คุณเดินทางมากระบี่?

ทั้งสองคน : ใช่ ที่นี่ยอดเยี่ยมมาก

คิดว่าอะไรคือจุดแข็งของจังหวัดกระบี่?

แคลร์ : ฉันคิดว่ามันเร็วเกินไปที่จะตอบคำถามนี้ เพราะเราเพิ่งเดินทางมาถึงกระบี่

วง : เราใช้เวลาอยู่ในโรงแรมซึ่งเป็นพื้นที่ที่จำกัดมากๆ

ตอนนี้เราจึงได้แค่ มองŽ แต่ยังไม่ เห็นŽ (หัวเราะ)

แคลร์ : ขอให้เราได้ใช้เวลาเพื่อที่จะเห็นกระบี่ก่อน เมื่อไหร่ที่เห็นแล้ว เราจะบอกคุณ (หัวเราะ) แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันสังเกตนะ คือ ขนาดของสิ่งต่างๆ บนภูมิประเทศของจังหวัดกระบี่มันใหญ่มาก เช่น การก่อตัวของหิน สำหรับศิลปินที่ต้องสร้างผลงานบางอย่างซึ่งต้องเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่ใหญ่ขนาดนี้ เราจำเป็นต้องคิดอย่างระมัดระวังอย่างยิ่งในทุกสิ่งที่ทำ ทั้งเรื่องขนาดของมันและการให้ความหมายกับภูมิทัศน์ เรื่องเหล่านี้สำคัญมาก

คาดหวังอะไรจากการเข้าร่วม Thailand Biennale ในครั้งนี้?

แคลร์ : เมื่อวานที่เรามาถึงที่นี่ ความคิดของเราต่อกระบี่เป็นอีกแบบหนึ่ง แต่เช้าวันนี้ความคิดนั้นก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง อย่างที่บอกไปว่าเพราะเราได้เผชิญหน้ากับขนาดของสิ่งต่างๆ ที่ใหญ่มากในภูมิประเทศของกระบี่ มันทำให้รู้สึกท้าทาย

ดังนั้น สิ่งที่คาดหวังก็คือ เราปรารถนาที่จะสร้างผลงานที่ไม่ได้แค่นำอะไรมาวางไว้ที่กระบี่ แต่มันต้องเกิดจากกระบี่ เป็นไปตามแนวคิดของ Thailand Biennale ที่กำหนดให้ผลงานต้องเกิดขึ้นจากพื้นที่

ที่เราแสดง นี่จึงไม่ใช่นิทรรศการศิลปะที่แค่นำวัตถุมาจัดแสดง ฉันจะสร้างผลงานที่เกิดจากกระบี่และเพื่อกระบี่ มอบให้แก่ผู้คนที่นี่ พวกเขาจะมีความสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ต่อสิ่งที่เราสร้าง

วง : นี่คือ Thailand Biennale ครั้งแรก เราหวังจะสร้างงานที่ยอดเยี่ยมสำหรับการเริ่มต้น ต้องการสร้างมาตรฐานที่สูงให้แก่ผู้สร้างงานในอนาคตที่จะสามารถทำได้ดียิ่งกว่า

แคลร์ : แนวคิดของงานครั้งนี้คือ Edge of the Wonderland ถือเป็นแนวคิดที่ใจกว้างมาก โครงสร้างพื้นฐานของกระบี่และผู้คนก็เอื้อเฟื้อแก่เรา ฉันจึงมองว่าทุกอย่างจะเป็นไปได้ด้วยดี

งานศิลปะที่ถูกรังสรรค์ขึ้นจากการตีความพื้นที่

ที่จัดแสดง จะออกมางดงาม แปลกใหม่ และมีความหมายลึกซึ้งเพียงใด รอชื่นชมผลงานของวงและแคลร์ รวมถึงของศิลปินคนอื่นๆ ที่จะจัดแสดงตามสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่จังหวัดกระบี่ได้ ตั้งแต่วันที่2 พ.ย.2561 ถึง 28 ก.พ.2562 รวมระยะเวลา 4 เดือนเต็ม ไปเพื่อสัมผัสว่า จริงๆ แล้ว พื้นที่ของศิลปะ ไม่ได้จำกัดอยู่ในแกลเลอรี่หรือพิพิธภัณฑ์ แต่ศิลปะอยู่รอบตัวเรา

…ความรักก็เช่นกัน

ขึ้นอยู่กับเราว่าจะมองหรือเห็นมันเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image