“ล่า” สะท้อนภัยข่มขืน “ชีวิตจริง” รุนแรงยิ่งกว่าในละคร

ภาพส่วนหนึ่งจากละคร

หลายคนยังคงอินกับละครเรื่อง ‘ล่า’ เวอร์ชั่น 2017 ซึ่งได้ฉายไปเมื่อคืนวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา

โดยเฉพาะฉากที่ 7 ทรชนข่มขืนสองแม่ลูก ซึ่งได้สื่อสารออกมาถึงความรุนแรงของภัยข่มขืน จนผู้คนในสังคมต่างต้องพูดถึงและถกเถียงถึงเรื่องนี้อีกครั้ง และโดยเฉพาะคนในแวดวงด้านสิทธิสตรี ที่ทำงานช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ภัยข่มขืน ได้มาสะท้อนมุมมองในโอกาสที่ผู้คนกำลังสนใจ

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เล่าว่า จากสถิติการข่มขืนที่มูลนิธิได้รวบรวม พบว่าส่วนใหญ่ผู้กระทำคือคนใกล้ตัว ตั้งแต่ พ่อแท้ๆ พ่อเลี้ยง ลุง อา ตา ปู่ หรือพวกญาติๆ รองลงมาจะเป็นแฟน คู่รักที่อาจยังไม่แต่งงานกัน ที่ใช้อุบายหลอก มอมเหล้าผู้หญิงและข่มขืน จากนั้นจะเป็นพวกกลุ่มนายจ้างข่มขืนลูกจ้าง และคนแปลกหน้า ซึ่งอาจพบไม่มาก ส่วนกรณีข่มขืนในบทละครดังกล่าว เป็นกลุ่มคนแปลกหน้าที่อาจไม่ได้รู้จักกันโดยตรง แต่เป็นคนในละแวกบ้าน ในสถานการณ์จริงก็เกิดขึ้นบ้าง อย่างเคสล่าสุดที่กำลังสอบสวนกันอยู่ที่เกาะแรด จังหวัดพังงา ที่คนในหมู่บ้านย่องเข้าบ้านมาข่มขืนเด็กหญิงในบ้านของเธอเอง

 

Advertisement

**วิธีคิดชายเป็นใหญ่เป็นเหตุข่มขืน

จะเด็จเล่าอีกว่า รากลึกของการข่มขืนมาจากวิธีคิดชายเป็นใหญ่ ซึ่งถือเป็นวิธีคิดที่เป็นปัญหามาก อย่างที่ผ่านมาผู้ชายมักถูกปลูกฝังเวลามีความต้องการทางเพศ ก็ให้ไปสถานบริการทางเพศได้เลย แต่เราไม่เคยสอนให้ผู้ชายยับยั้งชั่งใจ รวมถึงแนวคิดนี้ในกรณีผู้กระทำมีอำนาจเหนือกว่าผู้ถูกกระทำ

“ในละครบอกเล่าถึงความโกรธแค้น และแนวคิดที่ผู้กระทำคิดว่ามีอำนาจเหนือกว่าจึงได้กระทำ และแน่นอนว่าเมื่อนั้นผู้ถูกกระทำจะต้องเผชิญกับความรุนแรงสาหัส แต่ในชีวิตจริงโดยเฉพาะระยะหลังนี้ การข่มขืนจะพบการฆ่าตามมาด้วย”

 

**ผู้หญิงถูกข่มขืนผลกระทบรุนแรง

แต่หลายกรณีที่ผู้ถูกกระทำไม่เสียชีวิต พวกเธอก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากปัญหาไปได้

“หลังจากการถูกข่มขืน ผู้หญิงต้องมีปมในใจนานหลาย 10 ปี บางคนต้องกินยาเพื่อในนอนหลับ บางคนต้องนอนฝันร้าย ซึ่งมูลนิธิก็พยายามเข้าไปช่วยเอ็มพาวเวอร์และเยียวยาให้เขาลืม บางเคสต้องปรึกษาจิตแพทย์ช่วยบำบัด อาทิ ใช้ศิลปะบำบัด ซึ่งก็มีที่สำเร็จ”

 

**ละครสะท้อนกระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลว ในโลกความจริงก็เป็น “แบบนั้น”

ในละครที่ผู้เสียหายต้องลุกขึ้นมาแก้แค้นผู้กระทำเอง ซึ่งสะท้อนกระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลว แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงก็เหมือนจะเป็นอย่างนั้น แม้ระยะหลังจะไม่มีการอภัยโทษให้นักโทษที่กระทำผิดคดีข่มขืน เพื่อไม่ให้ออกมากระทำซ้ำอีก แต่ราชทัณฑ์เองก็ไม่ได้มีกระบวนการที่จะเปลี่ยนวิธีคิดผู้ต้องขัง ที่ทำอย่างไรจะทำให้ผู้ต้องขังรู้ตัว สำนึกผิด และจะไม่กระทำซ้ำอีก แบบที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ของป้ามล-ทิชา ณ นคร ทำ ฉะนั้นประเด็นผู้ต้องขังต้องอยู่ยาวหรือสั้นในคุก จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญไปกว่าการที่ราชทัณฑ์จะมีกระบวนการนี้

“จริงๆ อาจต้องแก้ไขกระบวนการยุติธรรมตั้งแต้ต้นทาง ทำอย่างไรที่ตำรวจจะไม่ไกล่เกลี่ยให้ยอมความ ทำคดีอย่างไม่มองผู้หญิงแบบอคติ ให้ความเป็นธรรม ไม่ช่วยเหลือผู้กระทำที่มีอำนาจเหนือกว่า เพราะทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า กระบวนการยุติธรรมอาจกดทับให้ผู้หญิงต้องหมดหวัง ทำให้ผู้กระทำต้องลอยนวล สะท้อนได้จากสถิติผู้มาแจ้งความคดีกระทำความรุนแรงหลายพันเคสต่อปี แต่มีที่เป็นคดีความขึ้นศาลปีละไม่กี่ร้อยคดี ฉะนั้นกระบวนการยุติธรรมจะต้องปฏิรูป”

“หากละครจะเขียนบทในเชิงผู้หญิงที่ถูกกระทำ เดินหน้าสู้เอาเป็นเอาตายในกระบวนยุติธรรม สอนให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองก็จะดี เพราะวันนี้ยังมีผู้หญิงอีกมากที่ฝันร้าย เพราะไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม”

 

**ดูละครย้อนดูตัวเรา

ช่วงนี้ที่ทุกคนกำลังสนใจละครดังกล่าว ก็อยากให้ดูแล้วมองย้อนมาดูตัวเรา ว่าจะป้องกันหรือช่วยไม่ให้ผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงอย่างนั้นได้อย่างไร ซึ่งขอแนะนำ 3 ข้อ ว่า

1.จากนี้เวลามีลูกหลานผู้ชายเกิดในบ้าน ต้องปลูกฝังให้เขาเคารพเพศอื่นๆ รู้จักสิทธิเนื้อตัวร่างกาย

2.ต้องมาร่วมกันสนับสนุนผู้เสียหายให้ลุกขึ้นเรียกร้องความยุติธรรม โดยไม่ไปกระทำซ้ำ อาทิ ถามผู้เสียหายว่าทำไมถึงถูกข่มขืน แต่งตัวโป๊ไหม ไปเดินที่เปลี่ยวทำไม เพื่อต้องการทำให้ผู้เสียหายรู้สึกผิดที่นำพาตัวเองไปสู่อันตราย

และ3.สังคมต้องช่วยกันรณรงค์ยุติความรุนแรง ซึ่งหากพบเห้นการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก ผู้หญิง เราต้องช่วยกัน หรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าแก้ไขปัญหา

 

**เปิดสถิติข่มขืน

จากข่าวกระทำความรุนแรงทางเพศตลอดทั้งปี 2558 ที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลรวบรวมมาได้ 306 ข่าว มีผู้เสียหาย 326 ราย พบเป็นข่าวข่มขืนถึง 157 ข่าว หข่าวพยายามข่มขืน 42 ข่าว ในจำนวนดังกล่าวยังพบผู้เสียหายที่ต้องเสียชีวิตถึง 33 ราย

ส่วนปัจจัยให้เกิดความรุนแรงทางเพศ พบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงทางเพศมากที่สุด รองลงมาผู้กระทำมีปัญหาการยับยั้งอารมณ์ทางเพศ

ขณะที่ช่วงอายุผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ พบส่วนใหญ่อยู่ที่ 16-20 ปี รองลงมาเป็นช่วงอายุ 26-30 ปี และช่วงอายุ 21-25 ปี

ความสัมพันธ์ของผู้กระทำต่อผู้ถูกกระทำ ส่วนใหญ่เป็นบุคคลใกล้ชิดและคนรู้จักคุ้นเคย จำนวน 132 ข่าว จากบุคคลแปลกหน้า/ไม่รู้จักกัน จำนวน 130 ข่าว

อาชีพของผู้กระทำ ส่วนใหญ่เป็นอาชีพรับจ้างทั่วไป จำนวน 59 ราย รองลงมาเป็นลูกจ้าง จำนวน 51 ราย ว่างงาน จำนวน 33 ราย ตลอดจนนักเรียน/นักศึกษา จำนวน 28 ราย

สถานที่เกิดเหตุ ส่วนใหญ่เป็นที่พักของผู้ถูกกระทำฯ มากที่สุด จำนวน 61 ข่าว รองลงเกิดในที่พักของผู้กระทำ จำนวน 57 ข่าว และเกิดเหตุในที่เปลี่ยว/ถนนเปลี่ยว จำนวน 55 ข่าว

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ ระบุว่าผู้ถูกกระทำได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจมากที่สุด มีอาการหวาดผวา/ระแวง/ซึมเศร้า มากที่สุด จำนวน 74 ราย องลงมา สูญเสียทรัพย์ 58 ราย ถูกทำร้ายร่างกายสาหัส จำนวน 50 ราย

และพื้นที่จังหวัดที่เกิดเหตุการกระทำความรุนแรงทางเพศ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ มากที่สุด จำนวน 50 ข่าว รองลงมา จ.ชลบุรี จำนวน 22 ข่าว จ.สมุทรปราการ จำนวน 19 ข่าว จ.ปทุมธานี จำนวน 13 ข่าว และจ.เชียงใหม่ จำนวน 13 ข่าว

 

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image