กสม.สรุปสถานการณ์สิทธิ์ปี60 พบละเมิดสิทธิทุกด้าน เสรีภาพแสดงความเห็นถูกจำกัด

กสม.สรุปสถานการณ์สิทธิปี 60 พบมีการละเมิดสิทธิในทุกด้าน เสรีภาพแสดงความเห็น ถูกจำกัด ควบคุมอย่างเข้มงวดโดยกฎหมาย

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้จัดพิธีมอบรางวัลเนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม ประจำปี 2560 ให้กับบุคคล และองค์กรที่มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น จากนั้น ได้มีการสรุปสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทย ปี 2560 ที่น่าสนใจในเรื่องพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กสม.ได้รับการร้องเรียนเรื่องการทรมานและการบังคับสูญหายตั้งแต่ปี2550-2559 จำนวน 102 คำร้อง ส่วนใหญ่เป็นในพื้นที่ภาคใต้ จากการตรวจสอบพบว่าเป็นปัญหาโครงสร้างมาจากข้อจำกัดทางกฎหมาย เฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการกับผู้ต้องสงสัยคดีบังคับสูญหาย ส่วนการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมได้รับคำร้อง 125 เรื่อง จากคำร้อง 387 คำร้องที่อ้างถึงการกระทำที่เจ้าหน้าที่รัฐครอบคลุมกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ตั้งแต่การจับกุม ควบคุมตัวแจ้งข้อกล่าวหา คุมขัง การพิจาณาคดี และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ขณะที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพวิชาการ สื่อมวลชน การชุมชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ พบว่ายังถูกจำกัด ตรวจสอบ ควบคุมอย่างเข้มงวดโดยกฎหมาย อาทิ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 คำสั่งคสช.ที่3 /2558 พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ส่วนสิทธิมนุษยชนของบุคคล 7 กลุ่ม คือเด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ยังพบสถานการณ์ที่บุคคลดังกล่าวถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและถูกละเมิดซ้ำซ้อน ด้วยเหตุแห่งการมีสถานะต่างๆ ที่เหลื่อมทับซ้อนกัน เนื่องมาจากข้อจำกัดทางกฎหมาย เด็กถูกล่วงละเมิดและแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ ทำร้ายร่างกายถูกชักจูงให้เข้าสู่ขบวนการยาเสพติด กลุ่มวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศพบว่ามีการกระทำการรุนแรงต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะสื่อมวลชนมีการผลิตซ้ำภาพต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่มีลักษณะเหมารวม

สำหรับสถานการณ์เฉพาะหน้าด้านการปกป้องและปราบปรามการค้ามนุษย์ยังมีการนำผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์แสวงหาผลประโยชน์ ทั้งบังคับใช้แรงงาน ขายบริการทางเพศ บังคับเป็นขอทาน เหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้พบว่าสตรีที่สูญเสียผู้นำในความไม่สงบยังคงได้รับผลกระทบทางตรงทางอ้อม รัฐยังไม่มีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสม ด้านสิทธิชุมชน ฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าการดำเนินการโครงการต่างๆ ของรัฐทั้งการจัดการพลังงานเหมืองแร่ ทรัพยากรธรรมชาติที่ดิน ป่าไม้ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษยังไม่เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่วนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังพบว่ายังมีการคุกคาม ข่มขู่ การบังคับให้สูญหายใช้กฎหมายฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อให้ระงับการเผยแพร่ความคิดและการเข้าไปส่วนร่วมกับประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image