วันนี้ที่ราชภัฏ : โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นหนึ่งสถาบันอุดมศึกษาที่พัฒนาการมาจากสถาบันการฝึกหัดครู โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการพระราชทานนาม “ราชภัฏ” เมื่อปี 2535 มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ดำเนินภารกิจตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 ซึ่งสาระสำคัญในพันธกิจก็คล้ายกับสถาบันอุดมศึกษาทั่วไป แต่ที่มีความแตกต่างจากสถาบันอื่น พ.ร.บ.คงได้กำหนดให้ทุกมหาวิทยาลัยราชภัฏต้องดำเนินการคือ มาตรา 7 ที่ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่เสริมสร้างพลังแห่งแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้ เชิดชูภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างสรรค์ศิลปวิทยาเพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนของปวงชน มีส่วนร่วมในการจัดการบำรุงรักษา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงทำการสอนวิจัยให้การบริการวิชาการแก่สังคม ปรับปรุงถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู

ในขณะเดียวกัน ในมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ได้ระบุสาระสำคัญเพื่อให้การดำเนินการของมหาวิทยาลัยเป็นไปตามวัตถุประสงค์ตาม มาตรา 7 ได้กำหนดภาระหน้าที่ของมหาวิทยาลัยไว้ 8 ประการ เพื่อให้มุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนตลอดจนการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในคุณค่าความสำนึก ความภูมิใจในวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ เป็นต้น

ด้วยการก่อเกิดของสถาบันดังกล่าวจะเห็นได้ว่าบทบาทหน้าที่ ที่สำคัญที่มีความแตกต่างจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วไปคือการให้ความสำคัญในการยกระดับและพัฒนาท้องถิ่นในมิติต่างๆ ภายหลังมีการประกาศ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ ปี 2547 นอกจากจะส่งผลให้ชาวราชภัฏในขณะที่มีสถานะเป็นสถาบันในขณะนั้นจะมีความภาคภูมิใจและพร้อมที่จะขับเคลื่อนองค์กรเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แล้ว สังคมไทยโดยเฉพาะในท้องถิ่นที่ห่างไกลในส่วนภูมิภาคของประเทศต่างมีความยินดีปรีดาที่จะเห็นท้องถิ่นหรือชุมชนของตนเองได้รับการยกระดับและพัฒนาแห่งอนาคต ภายใต้สถาบันที่ได้ชื่อว่าคนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน

การบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศในระยะแรก ผู้บริหารและบุคลากรต่างตระหนักและให้ความสำคัญในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาโดยมีท้องถิ่นเป็นฐานและเป้าหมาย แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลก บริบทการบริหารจัดการตลอดจนกระบวนทัศน์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏส่วนใหญ่จะเปลี่ยนแนวคิดจากการเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางที่มุ่งเน้นเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและพัฒนาวิชาชีพครูไปสู่เส้นทางใหม่ ที่มีรูปแบบคล้ายกับมหาวิทยาลัยเดิมที่เติบโตมาก่อนหน้านี้

Advertisement

บางสถาบันก้าวไปไกลถึงขั้นที่จะออกนอกระบบราชการ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ รวมทั้งจัดการศึกษาในสาขาวิชาที่ตนเองไม่มีความเชี่ยวชาญและถนัด ซึ่งซ้ำซ้อนกับมหาวิทยาลัยของรัฐเดิมและมหาวิทยาลัยเอกชน ประเด็นนี้จึงก่อให้เกิดคำถามตามมาว่าวันนี้ราชภัฏยังเป็นสถาบันที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาวิชาชีพครู หรือคำนึงถึงรากเหง้าความเป็นมาของตนเองมากน้อยแค่ไหน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อโลกในศตวรรษที่ 21 เป็นโลกของการแข่งขัน มนุษย์กำลังเข้าสู่วิถีชีวิตของยุคดิจิทัล คงไม่มีผู้บริหารสถาบันใดที่จะยอมตกเทรนด์ การแสวงหาช่องทางเพื่อโอกาสแห่งความก้าวหน้าจึงไม่อาจที่จะทำให้ผู้บริหารมองข้ามได้

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสถาบันอุดมศึกษาโดยเฉพาะราชภัฏในการไปสู่โลกแห่งอนาคตใช่ว่าจะส่งผลดีแก่สถาบันเท่านั้น สิ่งที่ตามมาคือปัญหานานาสารพันที่เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ บุคลากร ตลอดจนสื่ออุปกรณ์อาคารสถานที่และ ฯลฯ วันนี้ประเด็นที่มีการหยิบยกมาสู่การแก้ไขและมีทีท่าว่าจะเป็นปัญหาของชาวราชภัฏตลอดไปหลักๆ ได้แก่ งบประมาณ และบุคลากร เมื่องบประมาณมีขีดจำกัด แต่ด้วยภาระงานที่เพิ่มขึ้น คนหรือบุคลากรทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกสถาบันต้องแสวงหา วันนี้ต้องยอมรับว่า ข้าราชการในทุกสถาบันอุดมศึกษากลับมีปริมาณลดน้อยลงทุกปี แต่ในส่วนที่เป็นพนักงานทั้งในส่วนของพนักงานราชการหรือพนักงานมหาวิทยาลัยกลับเพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำเรื่องค่าจ้างตลอดจนขวัญกำลังใจจึงเป็นประเด็นร้อนที่มีการเรียกหา ในระยะหลังสังคมไทยโดยเฉพาะในแวดวงการศึกษามักจะมีการหยิบยกเรื่องความเหลื่อมล้ำหรือความเท่าเทียมมากขึ้นตามลำดับตั้งแต่ขั้นปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษา

Advertisement

วันนี้ความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏให้เห็นระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏกับมหาวิทยาลัยของรัฐเดิมอันมาจากภาครัฐได้แก่การสนับสนุน การส่งเสริมในมิติต่างๆ โดยเฉพาะงบประมาณตัวอย่างที่พบเห็นในเชิงประจักษ์ เช่น การผลิตบัณฑิต การจัดการศึกษาที่ราชภัฏทั่วประเทศต้องรองรับผู้คนในทุกระดับโดยเฉพาะในกลุ่มของคนระดับกลางลงมา ซึ่งราชภัฏไม่สามารถปฏิเสธได้และมีปริมาณมากกว่าบางสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเดิมด้วยซ้ำ แต่งบที่ทุกรัฐบาลจัดสรรให้นั้นมีเพียงน้อยนิดหากนำงบประมาณแผ่นดินของราชภัฏทั้งหมดมากางในแต่ละปี พบว่ายังมีความเหลื่อมล้ำให้เห็นอย่างชัดเจน จากความเหลื่อมล้ำและความไม่เสมอภาคในหลากหลายมิติที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาของชาติ โดยเฉพาะความเชื่อหรือค่านิยมของนักบริหารการศึกษาบางกลุ่ม ที่มองว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยเกรดสอง การสนับสนุนควรจะเป็นรอง เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นที่นำไปสู่ความน้อยเนื้อต่ำใจของชาวราชภัฏทั้งมวลมาอย่างยาวนาน ซึ่งภาครัฐไม่ควรที่จะมองข้าม

แต่จากการที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการปรับ ครม.และมีเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาเป็น นพ.อุดม คชินทร ผู้ซึ่งมีประสบการณ์และผ่านการบริหารงานในสถาบันอุดมศึกษามาก่อน จากนี้ไปคงจะทำให้ชาวอุดมศึกษาและชาวราชภัฏทั่วประเทศต้องเกาะติดในวิสัยทัศน์และการบริหารจัดการเพื่อการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการยกระดับการพัฒนางานอุดมศึกษาของชาติ

นพ.อุดมได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในขณะเข้ารับตำแหน่งความตอนหนึ่งว่า มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก เรียกว่าต้องปฏิรูปอุดมศึกษาทั้งระบบ ถึงจะทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก อย่างเช่น การผลิตบัณฑิตที่เก่งแต่ไม่ใช่เก่งแค่ในประเทศ ต้องเก่งและสามารถไปทำงานได้ทั่วโลก หลักสูตรประเทศเราต้องเน้นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีนวัตกรรม รวมทั้งการจัดการศึกษาให้ผู้สูงอายุ ฯลฯ

ขณะที่ในส่วนของการพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏ รมช.กล่าวว่า รัฐบาลต้องส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยเติบโตตามศักยภาพ ตามความถนัด เช่น มรภ.ต้องมีบทบาทในการพัฒนาชุมชน สังคม ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งรากเหง้าของ มรภ. มาจากการผลิตครู แต่ปัญหาตอนนี้คือ ขาดครูที่มีคุณภาพและครูสำคัญที่สุด เพราะครูสร้างเด็กเพื่อพัฒนาประเทศ ดังนั้น มรภ.ต้องประกาศตัวว่าผลิตครูที่ดีที่สุด ดีกว่าจุฬาฯ ต้องดึงตรงนี้กลับมาให้ได้ หากทำตามบทบาทแล้ว ต่อไปจะพัฒนาไปมากกว่านี้ตนเองก็ไม่ว่า (มติชน : วันที่ 5 ธันวาคม 2560,หน้า 2)

จากการที่ รมช.ศธ. ได้เจาะลึกลงในบทบาทหน้าที่และรากเหง้าของราชภัฏสะท้อนให้เห็นว่า กระทรวงพร้อมที่จะสนับสนุนและส่งเสริมแต่ควรเป็นไปตามบทบาทหน้าที่ โดยเฉพาะภารกิจที่สังคมชื่นชมและให้การยอมรับวิทยาลัยครูมาอย่างยาวนานคือการผลิตครู

ดังนั้น วันนี้ผู้บริหารตลอดจนสภามหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งมวลจะต้องหันกลับมาทบทวนและสังเคราะห์ในบทบาทหน้าที่ของการกำเนิดสถาบันให้ชัดเจน การที่จะขับเคลื่อนการยกระดับให้ราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษาคุณภาพชั้นนำสู่สากลนั้นคงไม่มีใครที่จะไม่เห็นด้วย แต่ถ้าการพัฒนามหาวิทยาลัยไปพร้อมกับพันธกิจหลักด้วยการยกระดับท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง บนพื้นฐานในมิติคนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน ภายใต้ศาสตร์ของพระราชาและความพอเพียงก็จะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศได้เป็นอย่างมาก

ราชภัฏจะก้าวไกล ประเทศไทยจะพัฒนา คงอยู่ไม่ไกลเกินฝัน หากวันนี้ทุกภาคส่วนตระหนักในคุณค่าของความเป็นมาและรากเหง้า ภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image