Cloud Lovers : แม่ขะนิ้ง…ฟรุ้งฟริ้งจับใจ : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

ภาพที่ 1 : น้ำค้างแข็งตัว ภาพ : http://twistedsifter.com/2013/09/frozen-dew-drops/

ช่วงหน้าหนาวนี้ หลายท่านคงอยากขึ้นดอยไปชมเหมยขาบหรือแม่ขะนิ้ง (นิยมสะกดเป็น “แม่คะนิ้ง”) ผมจึงขอชวนคุยเรื่องนี้กันให้ชัดๆ ครับ

เริ่มจากน้ำค้าง (dew) บนใบไม้ใบหญ้า หากอากาศเย็นลงจนอุณหภูมิติดลบ หยดน้ำค้างก็จะแข็งตัวกลายเป็นเม็ดน้ำแข็ง ฝรั่งเรียกว่า frozen dew ภาษาวิชาการคือ white dew ภาษาไทยผมขอใช้ว่า “น้ำค้างแข็งตัว” ดูภาพที่ 1 ครับ

อากาศที่เย็นจัดอาจทำให้ไอน้ำ (สถานะแก๊ส ตามองไม่เห็น) กลายเป็นผลึกน้ำแข็งโดยตรง เรียกว่า ฮอร์ฟรอสต์ (hoar frost หรือสะกดติดกัน hoarfrost) คำว่า hoar แปลว่า แก่หง่อมผมหงอก ทั้งนี้ เพราะหากฮอร์ฟรอสต์เกาะต้นไม้ทั้งต้น ก็จะดูเหมือน “ต้นไม้หัวหงอก” นั่นเอง

ฮอร์ฟรอสต์ยังแบ่งได้เป็น 2 แบบหลัก ได้แก่

Advertisement

“ฮอร์ฟรอสต์พร็อปเพอร์ (hoar frost proper) : เกิดใกล้ผิวพื้น และผิวที่เกิดมักอยู่ในแนวระดับ ผลึกน้ำแข็งอาจมีรูปร่างเป็นเกล็ด เข็มหรือพัด ดูภาพที่ 2, 3 และ 4 สิครับ

ภาพที่ 2 : ฮอร์ฟรอสต์ พร็อปเพอร์
ภาพ : พรจันทร์ เอี่ยมนาน้อย
ภาพที่ 3 : ฮอร์ฟรอสต์ พร็อปเพอร์
ภาพ : Ant Antz
ภาพที่ 4 : ฮอร์ฟรอสต์ พร็อปเพอร์
ภาพ : Ant Antz

“แอดเวกชันฮอร์ฟรอสต์ (advection hoar frost) : เกิดจากอากาศชื้นปะทะกับผิววัตถุซึ่งเย็นจัด อุณหภูมิติดลบ โดยผิววัตถุมักอยู่ในแนวดิ่ง คำว่า advection คือการเคลื่อนที่ของอากาศในแนวระดับ ดูภาพที่ 5 ครับ

ภาพที่ 5 : แอดเวกชัน ฮอร์ฟรอสต์
ภาพ : ชบา ชมพู

คราวนี้มาดูคำไทยกันสักหน่อย นั่นคือ เหมยขาบ แม่ขะนิ้ง และน้ำค้างแข็ง

“เหมยขาบ” เป็นภาษาล้านนาครับ เพื่อนคนเหนือยืนยันตรงกันหมดว่าได้ยินมาตั้งแต่เด็ก คำว่า “เหมย” แปลว่า “น้ำค้าง”

“แม่ขะนิ้ง” เป็นภาษาถิ่นทางแถบจังหวัดเลย เพื่อนของผม คือ คุณวนิดา พรหมรักษา ชื่อเล่น “กระติก” เป็นคนอำเภอด่านซ้าย บอกว่า

“มายืนยันภาษาท้องถิ่น สมัยกระติกเป็นเด็ก ที่บ้านจะเห็น “แม่ขะนิ้ง” อยู่ตามยอดหญ้าเกือบทุกเช้าของหน้าหนาวแล้วค่ะ ปู่ย่าตายายพาเรียกแบบนี้ แต่ไม่แน่ใจว่าในภาษาเขียนจะเขียนว่าอย่างไร ระหว่าง ขะนิ้ง กับ คะนิ้ง ถ้าเป็นภาษาพูดตามสำเนียงคือ “แหม่ขะนิ้ง” แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นภาษาท้องถิ่นของที่ใดอีกบ้างหรือเปล่า”

ส่วนคำว่า “น้ำค้างแข็ง” แม้จะนิยมใช้กัน แต่คำนี้สื่อถึงน้ำค้างแข็งตัวมากกว่าฮอร์ฟรอสต์ซึ่งสวยงามกว่า

ผมจึงขอเสนอให้เราคนไทยเลือกใช้คำที่ตรงกับบริบท นั่นคือ ใช้คำว่า “น้ำค้างแข็ง” สำหรับหยดน้ำค้างที่แข็งตัว เพื่อให้ชัดเจนในเชิงวิชาการ และชวนกันไปดู “เหมยขาบที่ดอยอินทนนท์” ไปชม “แม่ขะนิ้งที่ภูเรือ” เพื่อแสดงถึงความละเอียดอ่อนในการอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่นอันงดงามเอาไว้ครับ

ขุมทรัพย์ทางปัญญา 
น้ำแข็งในธรรมชาติยังมีมากมาย
หากสนใจขอแนะนำCloud Guide คู่มือเมฆและปรากฏการณ์ในชั้นบรรยากาศ
ติดต่อ สนพ.สารคดี โทร 0-2547-2700 ต่อ 116 (คุณณี) หรือ Line ID : 0815835040

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image