นาซา ร่วมกับกูเกิล ใช้ ‘เอไอ’ ค้นพบดาวเคราะห์อีก 2 ดวงในระบบดาวใหม่

REUTERS/Mike Blake/File Photo

สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม กูเกิล และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา แถลงข่าวร่วมกันระหว่าง ด้วยการวิเคราะห์ขั้นสูงของคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถค้นพบดาวเคระห์ใหม่ 2 ดวง ที่โคจรอยู่รอบๆดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างไกลออกไป ซึ่งรวมทั้งระบบดาวใหม่ที่มีดาวเคราะห์เป็นบริวารอยู่พอๆกับระบบสุริยะของโลก

นาซาแถลงว่า ระบบดาวใหม่ที่ค้นพบว่ามีดาวเคราะห์บริวารพอๆกับระบบสุริยะนี้ เกิดขึ้นจากข้อมูลที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ และการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) โดยระบบดาวใหม่ มีดาวเคราะห์เป็นบริวารอยู่ 8 ดวง โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ที่เรียกว่า “เคปเลอร์90” ที่อยู่ห่างจากโลกออกไปถึง 2,545 ปีแสง อย่างไรก็ตาม ดาวเคราะห์ที่พบในระบบดาวใหม่นี้ไม่มีดวงไหนที่น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่

นายแอนดรูว์ แวนเดอร์เบิร์ก นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส เมืองออสติน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ระบบดาวเคปเลอร์90 เหมือนเป็นระบบสุริยะที่ย่อส่วนลง โดยดาวเคราะห์ใหม่ที่ถูกค้นพบ 2 ดวง ชื่อ เคปเลอร์80จี กับเคปเลอร์90ไอ โดย เคปเลอร์90ไอ เป็นดาวเคราะห์ที่เหมือนกับโลก และโคจรรอบดาวฤกษ์ 1 รอบกินเวลา 14.4 วัน ซึ่งหมายความว่า ครบหนึ่งปีของระบบดาวใหม่จะเท่ากับ 2 สัปดาห์บนโลก

แวนเดอร์เบิร์กกล่าวว่า ดาวเคปเลอร์90ไอ ไม่ใช่สถานที่ที่จะเดินทางไปได้ เนื่องจากพื้นผิวมีความร้อนสูง โดยนาซาคำนวนว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของดาวเคปเลอร์90ไอ จะอยู่ที่ 426 องศาเซลเซียส หรือพอๆกับดาวพุธ ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในระบบสุริยะ

Advertisement

ทั้งนี้ การค้นพบครั้งนี้เกิดขึ้นโดยใช้เครื่องมือจากกูเกิล โดยใช้คอมพิวเตอร์ในการสแกนสัญญาณของดาวเคราะห์ที่รวบรวมจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์จำนวน 35,000 สัญญาณ เพื่อค้นหาการเดินทางของดาวเคราะห์ โดยนับตั้งแต่กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ถูกปล่อยขึ้นไปบนอวกาศเมื่อปี ค.ศ.2009 ได้ทำการสแกนดาวฤกษ์ทั้งหมดราว 150,000 ดวง หลังจากนั้นจะนำข้อมูลที่ได้ป้อนเข้าไปในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลได้เร็วกว่าและลึกกว่าที่มนุษย์จะทำได้ ซึ่งเป็นเทคนิคที่รู้จักกันในชื่อของ แมชีน เลิร์นนิ่ง หรือการทำให้คอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยในกรณีนี้ ซอฟต์แวร์จะทำการเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างดาวเคราะห์กับวัตถุอื่นๆด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่จำนวนมาก และมีความถูกต้องสูงถึง 96 เปอร์เซ็นต์

สำหรับกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ คาดว่าจะสิ้นสุดปฏิบัติการลงในปีหน้า เมื่อเชื้อเพลิงหมดลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image