‘คอลัมน์อาศรมมิวสิก’ นักประพันธ์เพลงรุ่นใหม่ ปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ : โดย สุกรี เจริญสุข

ปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ (เกิด พ.ศ.2536) อายุ 24 ปี เป็นนักประพันธ์เพลงชาวไทยรุ่นใหม่ เรียนเป่าทรอมโบนอยู่ในวงโยธวาทิตของโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก เมื่อสอบเข้าเรียนต่อสาขาดนตรีที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ศึกษาวิชาการประพันธ์เพลงหรือวิชาการแต่งเพลง ซึ่งวิชานี้มีนักศึกษาไม่มากนัก เพราะเป็นวิชาใหม่ เป็นอาชีพใหม่สำหรับสังคมไทย หลายคนก็ปรามาสไว้ว่าเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยมีอนาคตในประเทศไทยเท่าไหร่นัก นอกจากคนไทยไม่ค่อยฟังเพลงสมัยใหม่แล้ว ยังไม่มีวงดนตรีที่จะเล่น และไม่มีคนที่จะจ้างให้เขียนเพลง

การจัดเทศกาลการประพันธ์เพลง (Thailand International Composition Festival, TICF) การประกวดแต่งเพลง โดย ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ ซึ่งได้ดำเนินการจัดมา 13 ปีแล้ว ทำให้นักศึกษาดนตรีในประเทศไทยหันมาสนใจด้านการประพันธ์เพลงมากขึ้น ประกอบกับมูลนิธิซิเมนต์ไทยได้ให้การสนับสนุน จัดประกวดการประพันธ์เพลง ตั้งแต่ พ.ศ.2547 (Young Thai Artist Award) เพื่อสนับสนุนเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจงานศิลปะทุกแขนงรวมทั้งการประพันธ์เพลงด้วย เมื่อก่อนนั้นในเมืองไทยสนใจการเล่นดนตรีและแข่งขันร้องเพลงมากกว่า

นอกจากนี้ วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (ทีพีโอ) ได้เปิดโอกาสให้มีการประพันธ์เพลง แต่งเพลงขึ้นใหม่ ทุกๆ ครั้งที่มีการแสดง ในปีหนึ่งๆ วงทีพีโอก็มีการแสดง 30 รายการ เท่ากับว่าเกิดเพลงใหม่ขึ้นปีละ 30 บทเพลงเป็นอย่างน้อย ซึ่งกิจกรรมก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 13 ปีแล้ว นับถึงวันนี้ มีเพลงใหม่ที่เป็นเพลงคลาสสิกสำหรับวงออเคสตราเกิดขึ้นแล้วไม่น้อยกว่า 350 เพลง

กิจกรรมดังกล่าวได้ช่วยสร้างให้เกิดนักประพันธ์เพลงหน้าใหม่ขึ้นในสังคมดนตรีของเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา

Advertisement

มักจะได้ยินมิตรรักแฟนเพลงบ่นว่า “ฟังไม่รู้เรื่อง ไม่เห็นเพราะเลย” อยู่บ่อยครั้ง ส่วนนักดนตรี บางครั้งไม่รู้ว่าเล่นผิดหรือเล่นถูก เพราะเป็นการนำเสนอบทเพลงครั้งแรก (World Premiere) ไม่เคยแสดงที่ไหนมาก่อน ไม่มีตัวเปรียบเทียบ ทั้งผู้ประพันธ์เพลง นักดนตรี และผู้ควบคุมวงดนตรี ก็ต้องคุยกัน ว่าต้องการเสียงอย่างไร ตัวโน้ตไม่สามารถบอกความต้องการของผู้ประพันธ์เพลงได้ทั้งหมด นักดนตรีไม่สามารถเล่นสื่อเสียงให้ตรงกับความต้องการของผู้แต่งได้ครบ ผู้ควบคุมวงดนตรีเองก็ต้องรู้ว่าจะนำเสียงของวงเพื่อที่จะมอบให้แก่ผู้ฟังอย่างไร

ประสบการณ์เหล่านี้ นักดนตรีในวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทยก็มีความสามารถสูงอยู่ เพราะต้องเล่นบทเพลงใหม่ๆ ทุกสัปดาห์ จนไม่รู้สึกว่าจะต้องตื่นเต้นอีกต่อไป ทั้งนี้ เมื่อเป็นเสียงใหม่ บทเพลงได้ประพันธ์ขึ้นใหม่ จึงไม่มีผิดและไม่มีถูก ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประพันธ์เพลงต้องการเสียงอย่างไร

เมื่อมีคำทักท้วงจากผู้ฟังว่าไม่ชอบ ไม่ไพเราะ ไม่น่าฟัง รวมทั้งหนวกหู เพราะว่านักประพันธ์เพลงเหล่านี้ “อาศัยอยู่ในโลกอนาคตหรือเป็นผู้มาก่อนกาล” อาจจะสื่อสารกับคนฟังในปัจจุบันได้ยาก เว้นแต่ว่าจะต้องสร้างความคุ้นเคยหรือต้องไปอยู่ในโลกอนาคตด้วยกัน คำตอบที่ใช้ได้บ่อยๆ ก็คือ “บทเพลงนี้อีก 300 ปีก็จะไพเราะ” เพราะเขียนให้คนในโลกอนาคตฟัง

ปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ เพื่อนๆ จะเรียกกันว่า “หลุย” เขาได้ส่งผลงานการประพันธ์เพลงเข้าประกวดในงานต่างๆ เท่าที่พึงจะหาได้และเท่าที่โอกาสจะอำนวย กระทั่งหลุยได้ผ่านการประกวดเข้ารอบในหลายๆ เทศกาล ได้รับรางวัลเข้ารอบบ้าง ชนะเลิศบ้าง รองชนะเลิศบ้าง รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 15 รายการ จนหลุยได้รับความสนใจจากพวกโลกอนาคต ทั้งในระดับชาติและในระดับนานาชาติ ผลงานของหลุยได้รับการคัดเลือกไปแสดงในหลายๆ เทศกาลดนตรีทั่วโลก ในญี่ปุ่น จีน เกาหลี ไทย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา

ปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ เรียนปริญญาตรีที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ.2554-2558) โดยศึกษาด้านการประพันธ์เพลงกับอาจารย์วาไลรี ริซาเยฟ (Valeriy Rizayev) จากนั้นจึงได้ส่งผลงานเพื่อสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาการประพันธ์และการอำนวยเพลง ที่ราชวิทยาลัยดนตรี (Royal College of Music) ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งหลุยได้รับการคัดเลือกให้เข้าเรียน โดยได้รับทุนการศึกษาเต็มจำนวน

ซึ่งก็เป็นนักเรียนไทยคนแรกของสถาบันนี้ที่ได้เรียนวิชาการประพันธ์

การศึกษาที่ราชวิทยาลัยดนตรี ที่กรุงลอนดอน เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสเปิดโลกของหลุยให้กว้างขึ้น หลุย
มีความขยันในการเขียนเพลง ส่งไปให้ที่นั่นที่นี่ เขียนให้เพื่อนๆ เล่น เขียนเพลงแสดงงานของตัวเองโดยเปิดการแสดงในโอกาสต่างๆ กระทั่งเรียนจบปริญญาโทวิชาการประพันธ์เพลง เมื่อส่งผลงานสมัครเรียนต่อในระดับปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยดนตรีชั้นนำในประเทศสหรัฐอเมริกา (4-5 มหาวิทยาลัย) ก็ได้รับเข้าเรียนโดยได้รับการยกเว้นค่าเล่าเรียนเต็มจำนวน ได้เงินอีกปีละ 35,000 เหรียญ หากต้องเดินทางไปแสดงผลงาน หลุยก็จะได้ค่าเดินทางอีก 800 เหรียญ ซึ่งมหาวิทยาลัยชั้นนำเหล่านั้นก็ได้นักศึกษาเก่งๆ ของโลกไปอยู่ด้วยหมด

นักศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาการประพันธ์เพลงในยุโรปและอเมริกา มีหน้าที่สร้างผลงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงหากจะเปรียบเทียบกับการศึกษาปริญญาเอกในประเทศไทย สถาบันการศึกษาไทยมีใบปริญญาให้ แต่ต้องเก็บค่าเล่าเรียนที่แพงเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ส่วนบุคคล ทำให้นักศึกษาปริญญาเอกของไทยต้องทำงาน “ตัวเป็นเกลียวหัวเป็นนอต” หาเงินไปจ่ายค่าเล่าเรียน ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ งานที่ทำอยู่กับสิ่งที่เรียนไม่ได้สอดคล้องกันเลย ไม่เกิดประโยชน์นอกจากจะได้ใบปริญญา

ระหว่างที่หลุยศึกษาในอังกฤษ หลุยก็ส่งผลงานเข้าประกวดเป็นประจำ ส่งผลงานไปแสดงกับวงดนตรีต่างๆ เท่าที่มีโอกาสจะทำได้ มีโอกาสได้เรียนกับครูชั้นนำของโลก (Dai Fujikura, Jonathan Cole และ Gilbert Nuono) หลุยสำเร็จการศึกษาเมื่อต้นปี พ.ศ.2560

เมื่อสิงหาคม พ.ศ.2560 หลุยได้ไปศึกษาในระดับปริญญาเอกด้านการประพันธ์เพลงที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยศึกษากับครูด้านการประพันธ์เพลงชั้นนำของโลก (Kevin Ernste, Marianthi Papalexandri-Alexandri และ Roberto Sierra)

หลุยรับปากไว้ว่าจะเขียนเพลงให้กับวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย ปีละ 2 เพลง ซึ่งเคยมีเพลงของหลุยแสดงไปแล้วก่อนหน้านี้ 2 เพลง ผลงานของหลุยเป็นบทเพลงที่น่าสนใจมาก มีมิติของความลงตัว ทั้งๆ ที่มีอายุและประสบการณ์ยังไม่มากนัก แต่ก็บ่งบอกถึงบุคลิกและศักยภาพของนักประพันธ์เพลงผู้นี้อย่างน่าสนใจยิ่ง

ในรายการเมื่อวันที่ 15-16 ธันวาคม 2560 วงดุริยางค์
ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย ได้นำผลงานเพลงของหลุย (Particle Odyssey for Orchestra) มาแสดง ซึ่งได้สร้างความอึ้งและทึ่งสำหรับผู้ฟังเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผู้ฟังที่อาคารมหิดลสิทธาคารคุ้นเคยกับเสียงใหม่ ฟังจนบอกได้ว่าอะไรชอบอะไรไม่ชอบ ผลงานของหลุยเป็นบทเพลงที่ผู้ฟังชื่นชอบมาก หลุยยังได้รับการว่าจ้างเพื่อประพันธ์เพลงให้กับงานในอังกฤษด้วย (UK new music ensemble เพื่อแสดงในงาน 95th Celebration of Charles Stewart Richardson, 2019-2020)

วันนี้ประเทศไทยมีอาชีพใหม่เกิดขึ้นแล้ว อาชีพนักประพันธ์เพลง แต่เป็นอาชีพที่ต้องแต่งเพลงให้ชาวโลกฟัง เพราะลำพังชาวไทยนั้นมีคนฟังน้อยแต่ก็วิจารณ์เยอะ และที่สำคัญที่สุดก็คือไม่มีคนจ้าง ไม่มีใครจ่ายเงินให้กับนักแต่งเพลง ก็ต้องคอยให้ชาวโลกจ้าง ครั้นมีชื่อเสียงโด่งดัง เมื่อกลับมาเมืองไทยก็จะได้รับการต้อนรับในภายหลัง ปล่อยให้ไปเผชิญกับนอกประเทศเสียก่อนแล้วค่อยย้อนกลับเข้ามาประเทศไทย

แต่อย่างน้อยเด็กไทยก็ไปปักธงชาติเรื่องดนตรีคลาสสิกในแผนที่โลกได้แล้ว

 

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image