สมคิด เร่งแอร์บัสลงนามผุด “ศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา” ต้นปี 61

“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เร่งแอร์บัสลงนามผุดเมกะโปรเจ็กต์ “ศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา” เร็วขึ้นในต้นปี’61 โชว์ภาพความสัมพันธ์แนบแน่นก่อนรัฐบาลไทยบินไปยุโรปสานต่อด้านการค้าปีหน้า “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” รมช.คมนาคม ย้ำพร้อมช่วยบินไทยปลดล็อกสภาพขาดทุน ด้านบิ๊กบินไทยยังเก็บเบี้ยใต้ถุนร้านดันหน่วยธุรกิจ “Thai Shop-Food Truck” ขายออนไลน์และเจาะลูกค้าตามงานอีเวนต์

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำกิจกรรมสำคัญ 2 โครงการ ได้แก่ 1.การลงนามในสัญญาความร่วมมือเพื่อประเมินโอกาสทางธุรกิจของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (Maintenance Repair Operation :MRO) โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธี และ 2.การจัดงาน Thai Shop Gift Fair 2017 ขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 58 ปี นำสินค้าโลโก้การบินไทยในร้านสาขาทั่วประเทศมาปรับใหม่ให้กลายเป็นหน่วยธุรกิจใหม่ที่จะหารายได้เสริมผ่านช่องทางการขายผ่าน E-COMMERCE Online ในและต่างประเทศ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า มาทำหน้าที่ประธานพิธีลงนามในสัญญาความร่วมมือเพื่อประเมินโอกาสทางธุรกิจของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ระหว่าง การบินไทย กับ แอร์บัส โดยได้เร่งลงมือโครงการร่วมทุนเร็วขึ้นโดยจะต้องลงมือทำทันภายในไตรมาส 1 ปี 2561 เพราะรัฐบาลที่ต้องการใช้โอกาสพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor :EEC) ผลักดันอู่ตะเภาเป็นฮับการบินระดับเวิลด์คลาสให้เร็วที่สุด

ประการสำคัญต้องการตอกย้ำความสัมพันธ์ทางการค้าของไทยกับสหภาพยุโรปให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ช่วงต้นปีหน้านายกรัฐมนตรีจะบินไปหารือกับทางกลุ่มสหภาพยุโรปและหากนายกรัฐมนตรีไปไม่ได้ตนเองจะไปทำหน้าที่แทน หลังจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กับคณะกรรมการและหน่วยงานความปลอดภัยการบินยุโรป (EASA : European Aviation Safety Agency) ปลดธงแดงด้านมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินให้ประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ผนวกกับไทยต้องเร่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้ศักยภาพความพร้อมของอู่ตะเภาทำให้ EEC แจ้งเกิด โดยใช้จังหวะจากสถานการณ์การบินโลกโดยรวมมีมูลค่าการซ่อมบำรุงเครื่องบินพาณิชย์ 10 ปีหน้า สูงถึง 664 ล้านเหรียญสหรัฐ อีกทั้ง 20 ปีหน้าสายการบินได้สั่งซื้อฝูงบินเพิ่มขึ้นมากถึง 17,000 ลำ จากปัจจุบัน 6,100 ลำ ไทยจึงควรรีบทำศูนย์ซ่อมเฟสแรก (วงเงินลงทุนราว 15,000 ล้านบาท) เสร็จให้เร็วที่สุดภายในปี 2562 เพื่อเป็นผู้นำเอเชียครองส่วนแบ่งรายได้ตลาดการบินดังกล่าว

Advertisement

ส่วนกลุ่มทุนที่จะเข้ามาร่วมโครงการนอกจากแอร์บัส ผู้นำการผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลกแล้ว ไทยยังจะเปิดโอกาสให้สายการบินชั้นนำของโลกมากกว่า 5 แอร์ไลน์สเข้ามาร่วมด้วย

นายฌอง ฟร็องชัวร์ ลาวาล รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายกิจการค้าประจำภูมิภาคเอเชีย บริษัท แอร์บัส จำกัด กล่าวว่า แอร์บัสพร้อมร่วมทุนกับการบินไทยและหน่วยงานของรัฐบาล ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพทั้งด้านทำเลที่ตั้ง แรงงานฝีมือ การตลาด สอดรับกับผลการศึกษาขอบเขตและการวิเคราะห์โอกาสทางธุรกิจระหว่างกัน เบื้องต้นสามารถลงทุนทำได้ภายใน  2 ปีนี้รวม 7 กิจกรรม ประกอบด้วย 1.จัดตั้งธุรกิจซ่อมบำรุงเครื่องบินที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ทั้งซ่อมใหญ่และพ่นสี 2.จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม โดยร่วมกับสถาบันการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย 3.จัดตั้งโรงซ่อมชิ้นส่วนวัสดุอากาศยานแบบผสม 4.นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมซ่อมบำรุงอัจฉริยะหรือ Smart Hangar เข้ามาใช้อย่างเต็มที่ 5.จัดตั้งคลังอะไหล่และศูนย์โลจิสติกส์เต็มรูปแบบ 6.ออกแบบและก่อสร้างอาคารและศูนย์ซ่อมเครื่องบินสมัยใหม่ 7.ตั้งโรงซ่อมบริภัณฑ์เพื่อสนับสนุนการซ่อมใหญ่เครื่องบิน

ขณะที่นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการคมนาคม กล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะหารือกับผู้บริหารการบินไทยถึงแผนขับเคลื่อนสายการบินแห่งชาติในปี 2561 โดยมั่นจะทำให้การบินไทยพลิกจากขาดทุนมาทำกำไรให้ได้ เพราะหากเจแปน แอร์ไลน์ส ยังพลิกวิกฤตจนรอดพ้นมาได้การบินไทยเองก็ต้องทำได้เช่นกัน

Advertisement

นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 หได้จัดทำอีกกิจกรรมคือจัดงาน Thai Shop Gift Fair 2017 นำสินค้าที่มีโลโก้การบินไทยมาจำหน่ายพร้อมกับวางกลยุทธ์พลิกโฉมช่องทางการขายผ่าน E-Commerce ทาง www.thaishop.thaiairways.com โดยขยายแนวรุกเจาะตลาดนักท่องเที่ยวจีนซึ่งหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวประเทศไทยจึงจับมือกับ Web Chat Baidu และ Tmall.com ของจีนด้วย รวมทั้งทางห้างสรรพสินค้าชั้นนำของญี่ปุ่น Takashiyama ก็พร้อมนำเข้าสินค้า Thai Shop ไปวางจำหน่ายด้วย กิจกรรมครั้งนี้ตั้งเป้ายกระดับทำให้ Thai Shop เป็นหน่วยธุรกิจใหม่ของการบินไทยหารายเพิ่มในปีต่อไปจะทำให้เติบโตเพิ่มอีก3-4 เท่า จากปัจจุบันทำได้ปีละ 20-30 ล้านบาท ควบคู่กับการเปิดธุรกิจใหม่อีกโครงการคือบริการ Truck Food ระบายอาหารจากครัวการบินไทยไปจำหน่ายตามงานอีเวนต์ทุกรูปแบบเจาะกำลังซื้อในประเทศ เป็นรายได้เสริมของบริษัทต่อไป

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image