Wonder และ Safe Neighborhood หนังเด็กสองแง่มุม

Wonder และ Safe Neighborhood หนังเด็กสองแง่มุม

Wonder

คนส่วนใหญ่ดูหนังเรื่องนี้แล้วคงจะบอกว่า Wonder เป็นหนังดราม่า แต่ผู้วิจารณ์มองว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังผจญภัยครั้งมหัศจรรย์ของเด็กน้อยคนหนึ่ง อ๊อกกี้ (เจคอบ เทรมเบลย์) เด็กชายที่เป็นโรค Treacher–Collins Syndrome (โรคความผิดปรกติทางพันธุ์กรรม ที่ทำให้กระดูกโครงหน้าผิดรูปมาแต่กำเนิด)

อิซาเบล (จูเลีย โรเบิร์ตส์) แม่ของอ๊อกกี้มองว่า ลูกชายของเธอเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ ที่กำลังจะออกไปผจญภัยในโลกแห่งความเป็นจริง หลังจากที่ได้รับการปกป้องในอ้อมกอดอบอุ่นของครอบครัวที่มี พ่อ แม่ และพี่สาว ที่อุทิศชีวิตและโอบอุ้มเขาจากสายตาของโลกภายนอกมานานนับสิบปี

มาบัดนี้ ถึงคราวที่เขาต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริงแล้ว การเข้าเรียนในโรงเรียน อาจเป็นเรื่องปรกติสำหรับเด็กคนอื่นๆ แต่สำหรับเด็กชายวัยสิบขวบใบหน้าประหลาด ที่ผ่านการผ่าตัดมาถึง 27 ครั้ง เขาต้องต่อสู้กับสายตาของเพื่อนร่วมโรงเรียน ที่ถ้าไม่จ้องอย่างตกตะลึง ก็เบือนหน้าหนีอย่างรังเกียจ

Advertisement

ไม่ง่ายเลยสำหรับอ๊อกกี้ ตราบใดที่คนส่วนใหญ่ ยังคงสนใจแต่เปลือกนอก จนไม่ทันสังเกตถึงความงดงามที่ซ่อนลึกอยู่ภายใน

วันแรกของการเข้าเรียน ทั้งครอบครัวมาส่งและให้กำลังใจเขา ความคาดหวังของแม่คนอื่น อาจหวังให้ลูกเป็นเด็กดี และเรียนเก่งๆ แต่แม่ของอ๊อกกี้มองลูกเดินเข้าโรงเรียน และพูดว่า “พระเจ้าช่วย ขอให้เด็กๆ ใจดีกับเขาด้วยเถอะ”

Wonder ดัดแปลงจากนิยายของ อาร์. เจ. ปาลาซิโอ เป็นหนังสือ Bestseller อันดับหนึ่งของอเมริกานานกว่า 89 สัปดาห์ ชื่อนี้ตั้งตามชื่อเพลงของนาตาลี เมอร์แชนท์ เป็นหนังสือที่เขียนจากความรู้สึกผิดของปาลาซิโอ ที่รู้สึกว่า เธอและลูกๆ ได้แสดงกริยาที่เหมือนซ้ำเติมเด็กเหล่านี้ เมื่อเธอและลูกได้เจอเด็กที่เป็นโรคนี้โดยบังเอิญและไม่คาดคิด

Advertisement

แม้เด็กที่เกิดมาจะมีใบหน้าและกะโหลกที่ผิดปรกติ จนทำให้มีชีวิตที่น่าสงสารและชวนหดหู่ใจ แต่ปาลาซิโอ กลับเขียนเนื้อหาออกมาในเชิงสดใส เป็นพลังบวกที่อ่านแล้วสร้างรอยยิ้ม มีอารมณ์ขันและให้กำลังใจ เธอเข้าไปคลุกคลีกับเด็กที่เป็นโรคนี้ เพื่อเรียนรู้มุมมองของเขาต่อโลกภายนอก และเขียนหนังสือออกมาโดยคิดว่า “ฉันคิดมาตลอดว่า Wonder เป็นเสมือนวิตามินเสริมสร้างความเอื้อเฟื้อ”

หนังสือเรื่องนี้กลายเป็นกระแสสังคม ที่ส่งอิทธิพลจนเกิดโครงการ Choose Kind ที่มีเด็กหลายพันคนร่วมลงนามปฏิญาณ “เลือกทำดี Choose Kind”

ความดังของหนังสือทำให้โปรดิวเซอร์ ทอดด์ ลีเบอร์แมน หยิบมาสร้างเป็นหนังเพราะเห็นว่า “หนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดที่เรื่องนี้สื่อออกมาคือ มนุษย์มีหลายวิธีที่จะรังแกกัน อย่างการรังแกด้านจิตใจเป็นเรื่องใหญ่ พฤติกรรมแย่ๆ พวกนี้มีมาโดยตลอด พอบวกกับโลกโซเซียลมีเดีย ทำให้มีคนถูกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่ควรเผยแพร่เรื่องนี้ออกไปให้มากที่สุด”

ผู้กำกับหนังเรื่องนี้คือ สตีเฟ่น ชาบอสกี้ ที่เคยกำกับหนังดราม่าวัยรุ่นอย่าง The Perks of Being a Wallflower และผู้เขียนบท Beauty and the Beast ทั้งสองเรื่องมีตัวละครที่มีปมในใจและมีความผิดปรกติ ซึ่งชาบอสกี้สามารถเล่าเรื่องและถ่ายทอดอารมณ์ของหนังให้ออกมาได้อย่างไม่ธรรมดา ทั้งเศร้า ทั้งตลก จนยิ้มได้ทั้งน้ำตา แถมด้วยมุมสดใสอบอุ่นที่สุดแสนประทับใจ

หนังเล่าเรื่องผ่านตัวละครหลายตัว ตั้งแต่อ๊อกกี้ พ่อ แม่ พี่สาว และเพื่อนของอ๊อกกี้ ทำให้คนดูได้เข้าใจความกดดันที่ตัวละครแต่ละตัวได้รับ สะท้อนความรักของคนในครอบครัวที่คอยชาร์จพลัง และผลักดันให้อ๊อกกี้ออกไปผจญภัยกับโลกที่แท้จริง ทั้งยังได้เห็นพัฒนาการด้านจิตใจของอ๊อกกี้ที่ค่อยๆ เรียนรู้โลกภายนอก จนสามารถผ่านการทดสอบยิ่งใหญ่ในการอยู่ร่วมกับคนในสังคม

บทพูดในหนังเรื่องนี้ล้วนซาบซึ้งกินใจ มีตอนหนึ่งที่อ๊อกกี้ระเบิดอารมณ์พูดถึงความน่าเกลียดบนใบหน้าตัวเอง แม่ตอบว่า “คนเรามีร่องรอยบนหน้าเหมือนกันหมด คือแผนที่ที่จะบอกว่า เราควรมุ่งหน้าไปทางไหน เป็นแผนที่ที่แสดงให้เห็นว่า เราเคยผ่านอะไรมาบ้างแล้ว”

เชียร์จริงๆ ให้ดูหนังเรื่องนี้ หนังฟีลกู๊ดแห่งปี ที่สอนให้คนเปิดใจที่จะทำดีต่อกัน จุดพลังความหวัง ส่งต่อพลังบวก ยิ้มได้ทั้งน้ำตา และหันหน้ามามองกัน ไม่ใช่ที่รูปกายภายนอก แต่มองให้ลึกถึงจิตวิญญาณที่อยู่ภายใน

Safe Neighborhood

หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กชายวัยสิบสองขวบ วัยใกล้เคียงกับอ๊อกกี้ในหนัง Wonder (ซึ่งอายุสิบขวบ) แต่แตกต่างกันลิบลับ อ๊อกกี้หน้าตาแปลกประหลาด ขณะที่ ลุค (ลีวาย มิลเลอร์) เหมือนเทวทูตองค์น้อยที่แสนจะน่ารัก ตาแป๋วแหววใส่ซื่อจนเห็นแล้วอดเอ็นดูไม่ได้

หนังทั้งสองเรื่อง Wonder และ Safe Neighborhood เหมือนจะตอกย้ำคำพูดที่ว่า อย่าดูหรือตัดสินใครจากรูปกายภายนอก

หนังเรื่องนี้แสดงความเหี้ยมอำมหิตและโรคจิตของเด็กชายที่อายุเพียงแค่สิบสองปี ชอบดูหนังสยองขวัญจนแม่ต้องเตือนอย่างเอ็นดูว่า “อย่ามัวแต่ดูหนังสยองขวัญจนดึกดื่นนะ เดี๋ยวนอนฝันร้าย” หารู้ไม่ว่าอิทธิพลของหนัง ซึมซับเข้าไปในสายเลือดลูกชาย จนทำให้มีความโหดเหี้ยม เห็นความรุนแรงเป็นเรื่องสนุก ทำร้ายคนได้อย่างไร้สำนึก คิดแค่ว่า “สนุกดีว่ะ”

หนังเล่าเรื่องของลุค เด็กน่ารักน่าเอ็นดูในสายตาพ่อแม่ ที่เห็นลูกเป็นเด็กเสมอ จะไปฉลองคริสต์มาสต่างเมืองก็เป็นห่วง ต้องให้พี่เลี้ยงสาวสวยผมบลอนด์ เหมือนนางเอกหนังสยองขวัญที่ลุคชอบดู แอชลีย์ (โอลิเวีย เดอจอนจ์ จากหนังระทึกขวัญ The Visit) มาอยู่เป็นเพื่อน

โดยหารู้ไม่ว่าลุค ลูกชายของตนแอบหลงรักพี่เลี้ยงสาว (ซึ่งเคยดูแลลุคตั้งแต่อายุแค่แปดขวบ) แผนร้ายของลุคมาจากจิตใจที่ดำมืด และความชื่นชอบส่วนตัวที่มีต่อหนังสยองขวัญ ส่งผลให้ค่ำคืนวันคริสต์มาสที่ควรเป็นวันแห่งความสนุกสนานรื่นเริง กลายเป็นคืนแห่งความสยองและหักมุมเกินกว่าจะคาดคิด

ถ้าดูจากหนังตัวอย่าง หลายคนคงนึกถึงหนัง Home Alone เด็กน่ารักที่ถูกทิ้งให้อยู่บ้าน และมีคนร้ายลอบเข้ามา จนเด็กต้องหาทางปกป้องตัวเอง มีฉากขำขันน่ารักที่ติดตาคนดูแบบฉากใช้ถังสีจัดการกับผู้บุกรุก Safe Neighborhood มีฉากนี้เช่นกัน แต่เป็นฉากชวนสยองที่เอากันถึงตาย

ทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นด้านมืดของ Home Alone ผสานกับหนัง The Strangers และ Don’t Breath

ถึงจะไม่ชอบหนังเรื่องนี้ แต่ยอมรับว่า คริส เพคโอเวอร์ กำกับหนังได้อย่างชวนติดตาม เดินเรื่องเร็ว ทันทีที่พ่อแม่พ้นจากบ้าน ลุคเริ่มออกลาย เอาแชมเปญมาดื่มอย่างไม่ยี่หระต่อคำเตือนของแอชลีย์ มีฉากชวนสะดุ้งหลายฉาก การเล่นเกมน่ารังเกียจ ของลุคและเพื่อนซี้ แกเร็ตต์ (เอ็ด ออกเซนโบลล์ จากหนัง The Visit เช่นกัน) ที่เริ่มคุกคามชีวิตของแอชลีย์โดยจับเธอมัด และเล่นเกมท้าจับนมพี่เลี้ยงสาว

ความตื่นเต้น น่าสยองเพิ่มมากขึ้นๆ แม้ไม่ถึงกับมีภาพเลือดสาดกระจาย แต่ท่าทางสนุกสนานและสีหน้าไม่รู้สำนึกของลุค กดดันให้คนดูอารมณ์พลุ่งพล่าน เอาใจช่วยแอชลีย์ และอยากให้ลุคได้รับการลงโทษที่สาสม

ตอนจบของหนังเปิดให้คนดูคิดต่อเอง ซึ่งไม่น่าจะใช่บทสรุปที่ถูกใจคนดูมากนัก และหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่ขอพูดตรงๆ ว่า ไม่เชียร์ให้ใครไปดู

แม้ภาพจะไม่สยดสยองรุนแรงเท่าหนังสยองขวัญเรื่องอื่น แต่เป็นเรื่องความผิดปรกติทางจิตของเด็กชาย ที่หากเราตั้งสมมุติฐานว่าความอำมหิตวิปลาสส่วนหนึ่งมาจากการชอบดูหนังสยองขวัญ ก็ไม่ควรจะสนับสนุนให้มีการสร้างหนังทำนองนี้เผยแพร่เป็นตัวอย่างแก่เด็กคนอื่นต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image