สกู๊ปหน้า 1 : เกมพิเรนทร์-ห้ามลอง เสี่ยงพิการ-ถึงตาย

สัปดาห์ที่ผ่านมาโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กวิพากษ์วิจารณ์กับความคึกคะนองของวัยรุ่น เล่น “ฝันหวานกดหลับ” ด้วยการใช้มือดันบริเวณหน้าอกเพื่อนจนเกิดอาการหลับหมดสติชั่วคราว เป็นเเกมที่เคยระบาดอยู่ช่วงหนึ่งในประเทศต่างๆ และกลับมาระบาดใหม่อีกครั้ง

ทางการแพทย์ต่างออกมาเตือนถึงอันตราย โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายเกมฝันหวานกดหลับว่า ถูกเรียกในหลายชื่อ เช่น choking game, pass-out challenge, fainting game, space cowboy เป็นการเล่นของวัยรุ่นที่ระบาดไปทั่วโลก แต่แฝงอันตรายถึงชีวิต ไม่ควรทำตามเป็นอย่างยิ่ง วิธีการเล่นก็คือ ให้เพื่อนหายใจเข้าออก ลึกๆ ช้าๆ และยืนเบ่งท้อง แล้วให้เพื่อนอีกคนไปกดหน้าอก การทำเช่นนี้จะทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนเข้าหัวใจได้ เลือดจะไปเลี้ยงสมองลดลง กระทั่งหมดสติ

สาเหตุเกิดจาก 2 กลไกหลัก คือ 1.การหายใจเข้าออกลึกๆ ยาวๆ ทำให้คาร์บอนได ออกไซด์ในเลือดต่ำลง ส่งผลให้มีอาการชาตามตัว หน้ามืดวิงเวียน และเกิดภาวะเลือดเป็นด่างซึ่งจะทำให้ความดันต่ำลงได้ง่าย 2.การกลั้นหายใจและเบ่ง และการกดหน้าอกหรือท้อง ทำให้เลือดเข้าหัวใจได้ลดลง จึงไปเลี้ยงสมองลดลงเช่นกัน จนนำไปสู่การหมดสติและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

การเสียชีวิตอาจเกิดจากการล้มศีรษะกระแทกพื้น เกิดบาดแผลรุนแรงหรือเลือดออกในสมอง หากสมองขาดออกซิเจนนานเกินไป จะส่งผลให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้ หรือการกดหน้าอกรุนแรงที่ผิดวิธีอาจทำให้กระดูกซี่โครงหักรุนแรงและเป็นอันตรายต่อปอดและหัวใจ ที่สำคัญจะทำให้หัวใจหยุดเต้นได้เช่นกัน
หากพบเหตุการณ์ที่มีคนเล่นเช่นนี้แล้วเกิดอาการหมดสติ วิธีการช่วยเหลือ คือต้องจับนอนราบกับพื้นโดยเร็วเพื่อให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปสู่สมองได้ดีขึ้น จะทำให้กลับมาคืนฟื้นสติโดยเร็ว แต่หากไม่ฟื้นไม่หายใจและคลำชีพจรไม่ได้ ให้เริ่มการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) ทันที หากไม่ดีขึ้นต้องรีบส่งแพทย์ หรือแจ้งสายด่วน 1669 ทันที

Advertisement

เล่นกับความเสี่ยงยังมีให้เห็นบ่อยๆ อย่างในประเทศฝั่งตะวันตกก็มีวิธีดื่มวอดก้าพิสดาร ที่เรียกว่า วอดก้า อาย บอลลิ่งŽ (vodka eye balling) หรือการดื่มวอดก้าผ่านทางดวงตา เชื่อกันเองว่าจะช่วยหลีกเลี่ยงการถูกจับ เพราะลมหายใจไม่มีกลิ่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหมือนการดื่มปกติ และยังช่วยให้เมาเร็วขึ้น
เริ่มจากการถือขวดวอดก้าแล้วจ่อไปที่ดวงตา ก่อนจะเทเหล้าเข้าไปในตาโดยตรง ซึ่ง รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ให้ข้อมูลว่า ปกติตาเราจะมีน้ำตาคอยหล่อลื่น ซึ่งน้ำตาจะต้องมีส่วนประกอบที่เหมาะสม เช่น สารป้องกันเชื้อโรค เม็ดเลือดขาว โปรตีน เอ็นไซม์ ไขมัน การที่เอาสิ่งผิดปกติเข้าไปย่อมไม่เหมาะสม ซึ่งจริงๆ จักษุแพทย์จะไม่ให้ล้างตาด้วยซ้ำไป เพราะจะทำให้สารเคลือบผิวตาสูญเสียได้ แต่หากต้องใช้จริงๆ คือ น้ำตาเทียม เพราะออกแบบให้คล้ายๆ น้ำตาปกติ แต่น้ำตาเทียมก็ยังไม่ใช่น้ำตาปกติอยู่ดี และการที่เอาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปอีกยิ่งอันตราย เพราะแอลกอฮอล์จะสลายไขมัน หนำซ้ำในเหล้ายังมีสารหมักดองต่างๆ ที่เป็นสารเคมีทั้งนั้น จะทำให้เกิดความผิดปกติทั้งหมดต่อดวงตา ทั้งกระจกตา เยื่อบุตาขาว

อันตรายสุดคือ เมื่อเอาแอลกอฮอล์ไปใส่ดวงตา อาจทำให้ผิวกระจกตกหลุดลอก และอาจซึมผ่านเข้าไปในกระจกตา จนกระทั่งเกิดแผล และบวม ส่งผลให้ติดเชื้อได้ง่าย และซ้ำร้ายคือ ทำให้ตาบอดในที่สุด


Advertisement

“ส่วนที่ระบุว่าจะทำให้เมาง่ายนั้น ผมว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิดมาก เป็นไปไม่ได้เลย เพราะปกติดวงตาเราจะป้องกันไม่ให้สารซึมผ่านได้ง่ายๆ ยกเว้นจะไหลผ่านท่อน้ำตาเข้าไปที่คอ แต่ก็น้อยมาก เพราะฉะนั้นการเอาเหล้าไปใส่ที่ตาและเชื่อว่าทำให้เมาง่าย จริงๆ เพราะไหลไปทางท่อน้ำตาและไหลลงคอ แต่ก็ไม่เยอะอยู่ดี ดังนั้น เรื่องนี้ไม่น่าเป็นจริง แถมเสี่ยงอันตรายมาก”Ž รศ.นพ.นริศกล่าว

ขณะที่ในด้านการควบคุมการเปิดเผยการเล่นที่มีความเสี่ยงอันตราย พ.ต.ท.วัชรพันธ์ ศิริพากย์ รอง ผกก.2 บก.ปอท. กล่าวว่า จากกรณีคลิปดังกล่าวที่มีการเผยแพร่กันในโลกโซเชียลนั้น จากการตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นผู้โพสต์หรือผู้ที่กดไลค์ กดแชร์ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้ก่อความตื่นตระหนกตกใจให้กับบุคคลอื่น ต่างกับกรณีเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีการเตือนผ่านทางเฟซบุ๊กว่าจะมีระเบิดที่สยาม นั่นคือการก่อความตื่นตระหนกตกใจให้กับบุคคลอื่นถือว่ามีความผิด

อย่างไรก็ดี คลิปที่เผยแพร่กันอยู่นี้ ต้องมาพิจารณาอีกว่าผิดศีลธรรมอันดีหรือไม่ หากพบความผิดจะต้องดำเนินการขอศาลอนุญาตปิดเฟซบุ๊กดังกล่าว หรือเว็บไซต์ที่มีการเผยแพร่ นอกจากนี้ หากทราบว่าเด็กกลุ่มนั้นอยู่ในพื้นที่ใด อาจจะต้องเรียกเด็กมาตักเตือนถึงการกระทำดังกล่าวŽ พ.ต.ท.วัชรพันธ์ระบุ
แต่หากการกระทำดังกล่าวส่งผลให้ผู้ถูกกระทำได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตายโดยผู้ถูกกระทำยินยอม พ.ต.ท.วัชรพันธ์บอกว่า กรณีนี้จะเข้าข่ายความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิต แต่หากผู้ถูกกระทำไม่ยินยอมจะเข้าข่ายความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิต ต้องมาพิจารณาลงรายละเอียดอีกครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นการเล่นแบบใดก็ตาม สิ่งสำคัญต้องรู้เท่าทันถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น และการป้องปรามก็เป็นสิ่งสำคัญ ทั้งผู้ปกครองคอยดูแลไม่ให้เด็กเล่นที่อันตรายเช่นนี้ และงดการเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์เพื่อไม่ให้เกิดการลอกเลียนแบบต่อเด็ดขาด

ก่อนจะเกิดเหตุเศร้าสลดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image