กรธ. ไม่เคยคิดเซ็ตซีโร่สมาชิกพรรคการเมือง ชี้ไม่ช่วยให้สีเสื้อเหลือง-แดงจาง

กรธ. ไม่เคยคิดเซ็ตซีโร่สมาชิกพรรคการเมือง ชี้ไม่ช่วยให้สีเสื้อเหลือง-แดงจาง ด้านเจษฎ์ ถามรีเซ็ตพรรคการเมืองใครได้ประโยชน์ ย้อน คสช.จะอยู่อีกนานแค่ไหน เตือน สนช.จะเป็นด่านหน้าแลกตำแหน่ง สว. ที่ยังเลื่อนลอยใช่หรือไม่

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่สมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) จัดโครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้แก่สื่อมวลชน โดยอภิปราย เรื่อง“การเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มา ซึ่งคณะรัฐมนตรี” โดยนายอุดม รัฐอมฤต กรธ. กล่าวถึงกรณีกระแสให้แก้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ให้เกิดความเท่าเทียมด้วยการเซ็ตซีโร่สมาชิกพรรคการเมือง ว่า จริงๆ นโยบายของรัฐบาล หรือของกรธ. ที่ผ่านมาในการยกร่างฯ การจะยุบพรรคเก่าหรือให้อยู่ต่อก็ไม่เคยเป็นปัญหา อาจจะมีเสียงให้ล้างไพ่กันใหม่หมด แล้วนับหนึ่งใหม่ แต่กรธ. ไม่เคยคิดเช่นนั้นและการให้แต่ละคนมานับหนึ่งใหม่ก็ไม่ก่อให้เกิดผลที่แตกต่าง ขณะนี้ไม่ว่าจะพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่ หรือมีอยู่แล้วก็ต้องแจ้งจำนวนสมาชิกพรรคและเลือกกรรมการบริหารพรรคใหม่ ข้อบังคับก็ต้องถูกรื้อใหม่ กล่าวคือทุกอย่างต้องเข้าสู่ระบบใหม่หมด

“ไม่มีอะไรที่จะมาบอกว่าให้ทุกคนเริ่มนับหนึ่งใหม่ ด้วยการเขียนกฎหมายยกเลิกพรรคเดิม เพราะท้ายที่สุดคนอาจจะคิดว่าเคยอยู่พรรคนี้ แล้วอยากจะดึงไปอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง มองว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวคนเพราะคิดว่าอยู่พรรคนี้แล้วจะได้รับเลือก หรือว่าจะได้สมัครหรือไม่ ไม่ได้เป็นปัญหาเรื่องความเท่าเทียมอย่างที่เราเข้าใจ ในความเห็นของผมเรื่องนี้จะเป็นข้อที่ทำให้พอล้างไพ่แล้ว บางคนมองว่าเหลืองและแดงจะได้จางลงไป สำหรับผมไม่ได้เป็นประเด็น แต่ขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมืองที่คิดว่าจะมีโอกาสได้รับเลือกตั้งหรือไม่เท่านั้นเอง” นายอุดม กล่าว

ด้านนายเจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษากรธ. กล่าวว่า กรธ. คิดถึงความได้ปรียบและเสียเปรียบของพรรคการเมืองเก่าและใหม่ ภายใต้รัฐธรรมนูญพ.ศ.2560และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560ไว้แล้ว แต่ถ้าจะทำให้เกิดความเท่าเทียมบนพื้นฐานของการเซ็ตซีโร่ คำถามที่ตามมาคือ ถ้าเซ็ตซีไร่พรรคการเมืองทุกพรรคใครก็ตามที่จะเข้าสู่ทางการเมืองจะไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบกันเลยหรือ เพราะในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าคนที่เป็น คสช. ครม. สนช. สปช. และสปท. ต้องลาออก 90 วันนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญบังคับใช้ ก็เพื่อจะเซ็ตซีโร่ให้เท่ากันแต่ในส่วนของพรรคการเมืองจะเซ็ตซีโร่อย่างไรให้เท่ากันหมด เนื่องจากพ้นระยะเวลา 90 วันไปแล้ว คนเหล่านี้จะมาเป็นส.ส. ไม่ได้ แล้วท่านจะเริ่มใหม่ให้กับใคร

Advertisement

“สมมติว่าคนที่เขากำลังถูกมุ่งเป้าคือ คสช. อาจจะไม่ได้คิดอะไรเลย แต่พอคนเหล่านี้พูดว่าใครได้ประโยชน์ ถ้าไปไกลกว่านี้ ได้ ถ้าเริ่มใหม่ก็ได้ คุณเริ่มใหม่ตั้งแต่ 22 พ.ย.57 แล้วนะ คุณจะเริ่มใหม่ตัวคุณเองเมื่อไหร่ คุณมาตั้งแต่ 22 พ.ย.57 นะ คุณจะอยู่ไปอีกหรอ ทำไมไม่มีช่วงที่คุณไป ทำไมมีแต่ผมไป แล้วก็มาเริ่มกันใหม่ แล้วคุณก็มาเริ่มพร้อมผมอีก แล้วใครจะเป็นคนแก้กฎหมาย ซึ่งตอนนี้คือ สนช. คนก็จะถามว่าสนช. ยังไม่พอใจอีกหรอ ไปดูรัฐธรรมนูญใหม่อีก เขากำหนดไว้ว่าลาออก 90 วันหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ส.ว. ก็ไม่ได้ห้ามอะไร คิดดีๆ หน่อยไหมเขาเปิดช่องให้ไปเป็นส.ว. หรือยัง ถ้าเขาเปิดช่องให้คุณไปเป็นส.ว. แต่ไม่เริ่มต้นใหม่ แล้วจะเริ่มต้นพรรคการเมืองใหม่เลยหรอ อันนี้คุณทำอะไร จะต้องตอบคำถามจำนวนมาก ค่าสมัครสมาชิกจะรายปีต้องเริ่มทุกคนอยู่แล้ว ท่านต้องไปเอาผีออก เพราะถ้าท่านไม่เอาผีออก เหมือนว่าท่านจะต้องเซ็ตซีโรพรรคใหม่อยู่แล้ว สิ่งที่อาจจะได้เปรียบกันคือว่าชื่อพรรคเดิมๆ ท่านไม่อยากให้มีพรรคประชาธิปัตย์อยู่ และเป็นพรรคเดียวที่อยู่มานาน ไม่เคยถูกยุบ แต่พรรคอื่นๆ ถูกยุบและเปลี่ยนชื่อกันไปหมดแล้ว ดังนั้นอยากเอาชื่อพรรคนี้ออกก็ให้พูดกันมาตรงๆ อยากให้ทุกพรรคตั้งชื่อกันใหม่ แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องนี้ มันก็มีแค่นี้ ที่ยังคงอยู่ นอกนั้นกลไกข้างในก็เกลี่ยกันไปได้ทั้งหมด ถ้าจะเอาแบบนั้นจริงๆ ผู้สมัครอิสระทั้งหมดพรรคไม่ต้องมี เป็นแบ่งเขตกันหมด แก้รัฐธรรมนูญท่านจะไปอธิบายประชาชนอย่างไร ตอนท่านทำประชามติ ระบบจัดสรรปันส่วนที่อธิบายกัน ไหนบอกว่ากรธ.คิดมาเป็นอย่างดี แล้วอยู่ดีๆ เขาบอกไม่เอา มันจะยุ่ง” นายเจษฎ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image