กลยุทธ์ “คสช.” กลยุทธ์ แตกลายงา “ยื้อ” โรดแมป

เมื่อกระบวนท่าจากการขยายผลกรณีตรวจจับอาวุธสงครามและวัตถุระเบิดกลางทุ่งนา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา กลายเป็นกระสุน “ด้าน”

การขับเคลื่อนไปยังกฎหมายพรรคการเมืองก็เริ่มขึ้น

เห็นได้จากการเรียงแถวกันออกมาของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ประสานกับการออกมาของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป

เป้าหมาย คือ การแก้ พ.ร.ป.ว่าด้วย “พรรคการเมือง”

Advertisement

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.

ก็ออกมา “ขานรับ” อย่างคึกคัก

ขานรับบนพื้นฐานแก้ไขเพื่อสร้างความชอบธรรมระหว่างพรรคใหญ่กับพรรคเล็ก ระหว่างพรรคเก่ากับพรรคใหม่

Advertisement

ขณะที่เป้าหมายแท้จริง คือ “ยื้อ” โรดแมป

ทุกอย่างดำเนินไปตามอนุศาสน์อันท่าน “ซุนวู” สรุปไว้เมื่อหลายพันปีก่อน นั่นก็คือดำเนินไปบนพื้นฐานความจัดเจนที่ว่า

“การศึกมิหน่ายเล่ห์”

เพียงแต่นี่มิได้เป็น “การศึก” อย่างที่เรียกว่าสงครามซึ่งมีฐานกำลังอยู่กับทหาร หากแต่เป็นการศึกในพื้นที่ทาง “การเมือง”

1 อาศัยการข่าว 1 อาศัยช่องว่างและการได้เปรียบทางกฎหมาย

ความจริง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองก็เป็นผลผลิตจากการสร้างสรรค์ร่วมกันของ “แม่น้ำ 5 สาย” ไม่ว่าต้นทางหรือปลายทาง

“ประกาศ” ออกมาแล้วแต่ยัง “บังคับ” ใช้-ไม่ได้

เงื่อนไขตรงนี้เองที่ คสช.และรัฐบาลจะแปรจาก “ปัญหา” ให้มาเป็น “คุณ” เป็นประโยชน์ในทางการเมือง

นั่นก็คือ สร้างความชอบธรรมในการ “ยื้อ” โรดแมป

ใครที่คิดว่า คสช.ไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง เพราะว่าเติบโตมาในแบบ “ทหาร” อาศัยเพียงฐานะกำลังจาก “รัฐราชการ”

ก็อาจจะต้องเปลี่ยน “บทสรุป” ใหม่

ลองมองให้รอบด้านตั้งแต่ “ก่อน” วันที่ 22 พฤษภาคม และ “หลัง” วันที่ 22 พฤษภาคม จริงละหรือที่ คสช.ไม่มีประสบการณ์และความจัดเจนในทางการเมือง

ตรงกันข้าม กลับดำรงอยู่อย่างชนิด “แตกลายงา”

ไม่เพียงแต่จะมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายวิษณุ เครืองาม นายพรเพชร วิชิตชลชัย หากยังสามารถดึงเอา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มาเป็นมือไม้

ไม่เพียงแต่จะได้ใจจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

หาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ยังดำรงบทบาทในการพิทักษ์ปกป้อง “รัฐบาลของเรา” อย่างเสมอต้นเสมอปลาย

มาถึงหน้าสิ่วหน้าขวาน ก็ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อีกที่ออกโรง

ออกโรงพร้อมกับ นายไพบูลย์ นิติตะวัน บนพื้นฐานแห่งความคิดและความเชื่อ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” อย่างมั่นแน่ว

ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย มีความจำเป็นต้องมอง คสช.และรัฐบาลจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ใหม่

นี่มิได้เป็น “ละอ่อน” ในทางการเมือง

ตรงกันข้าม ไม่ว่าจะมองผ่าน “รัฐธรรมนูญ” ไม่ว่าจะมองผ่าน “กฎหมายลูก” ประกอบรัฐธรรมนูญไม่วาจะมองการแก้เกมเพื่อ “ยื้อ” โรดแมป

ทั้งหมดล้วนเป็น “นักการเมือง” ระดับ “เกจิ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image