ทุจริตผลต่อความมั่นคง โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

แฟ้มภาพ

ทุกชีวิตปรารถนาความมั่นคง เพราะคือหลักประกันที่จะหายใจได้โดย ไม่ต้องวิตกกังวลกับความไม่ปลอดภัยไร้สงบ

ทุกคน ทุกครอบครัวต่างดิ้นรนสร้างฐานะที่มั่นคง

“ความรู้สึกมีความมั่นคง” จึงสำคัญ

สำหรับประเทศ “ความมั่นคง” สำคัญยิ่ง เนื่องจากไม่เพียงทำให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้โดยรู้สึกปลอดภัยเท่านั้น “ความมั่นคง” ยังเป็นสิ่งสร้าง “ความเชื่อมั่น” ให้กับนานาชาติ

Advertisement

ประเทศที่มีความมั่นคงสูง ย่อมได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากนานาประเทศ

โลกที่อยู่ร่วมกันด้วยการทำมาค้าขาย ความไว้เนื้อเชื่อใจในความมั่นคงเป็นต้นทุนที่แข็งแกร่งที่สุด

เพียงแต่ว่า “ความมั่นคง” ของโลกยุคนี้เปลี่ยนไปจากเดิม

แต่ก่อนนั้น เมื่อมองหาความมั่นคง ย่อมต้องเล็งไปที่กำลังทหาร และแสนยานุภาพของอาวุธที่จะใช้ป้องกันการรุกรานทั้งจากนักล่าอาณานิคม และที่ขัดแย้งกันในเรื่องผลประโยชน์

ยุคนี้เปลี่ยนไปแล้ว ความมั่นคงที่เกิดจากการคุกคามด้วยกำลังจากนอกประเทศไม่ค่อยมีแล้ว

ประเทศใดมีปัญหาความมั่นคงหรือไม่ ดูกันจาก “ความขัดแย้งภายในเสียมากกว่า”

ประเทศที่ประชาชนแตกแยก แบ่งเป็นก๊ก เป็นเหล่า เป็นพวก แล้วใช้ความรุนแรงเพื่อแย่งชิง ทำลายล้างกัน คือปัญหาความมั่นคงของประเทศในโลกยุคนี้

ประเทศที่ประชาชนต่างฝ่ายไม่ยอมรับในกันและกัน ก่อให้เกิดสภาวะ “รัฐล้มเหลว” คือ มีอาณาเขต มีประชาชน มีระบบการบริหารจัดการ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศ แต่ “บริหารไม่ได้” ด้วยประชาชนต่างฝ่ายไม่ร่วมมือที่จะให้ใช้กติกาของระบบบริหารประเทศอย่างราบรื่น หรือถึงขั้นเอากติกามาบังคับใช้ไม่ได้

เป็น “รัฐบาลเป็ดง่อย” มีอำนาจแต่ใช้อำนาจไม่ได้

เป็นประเทศที่ “ไม่มีความมั่นคง” ก่อ “ความไม่เชื่อมั่นให้กับนานาประเทศ”

หนทางที่เลือกใช้ประคองความเป็นประเทศไว้ต่อไปคือ “กองทัพ” เข้ามาใช้กำลังควบคุมให้ทุกคนต้องอยู่อย่างยอมรับกติกา จัดการคนที่ละเมิดไม่ให้มามีบทบาท หรือแสดงออกเป็นตัวอย่างแก่คนอื่น

เป็น “ความมั่นคง” ภายใต้การบังคับด้วยกำลัง

แต่นั่นเป็นเพียงความมั่นคงชั่วคราว เพราะธรรมชาติของมนุษย์ย่อมใฝ่หาเสรีภาพ หรืออย่างน้อยอยู่ร่วมกันภายใต้กติกาที่ยอมรับร่วมกันได้จริงๆ ไม่ใช่ภายใต้กติกาที่ต้องบังคับให้ยอมรับด้วยอาวุธและกำลัง

ผู้บริหารประเทศจะต้องทุ่มเทสร้างความมั่นคงที่ยั่งยืนกว่าที่ได้จากการใช้กำลังบังคับขึ้นมา

นั่นคือ ทำให้ประชาชนยอมรับกติกาการอยู่ร่วมกันอย่างเต็มใจ

หมายถึงจะต้องเริ่มจากสร้างกติกาที่ให้ความรู้สึกว่าเป็นธรรมให้สิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกับเพื่อนร่วมชาติทุกคน

มีกลไกที่สามารถรักษากติกานั้นอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่งเสริมผู้ปฏิบัติตามกติกาให้ได้รับการเชิดชู

ขณะเดียวกันต้องจัดการกับผู้ละเมิดกติกา ให้เป็นที่รับรู้ว่ากระทำไม่ได้

โดยเฉพาะคนที่มีตำแหน่งหน้าที่ในการรักษากติกา เป็นผู้นำ หากใช้อำนาจเพื่อเปิดทางหรือสมยอมให้เกิดผลประโยชน์กับตัวเองและพวกพ้องในทางทุจริตประพฤติมิชอบ

กลไกการบริหารจะต้องไม่ปล่อยเอาไว้

เพราะการคดโกง ทุจริต จะเป็นเหตุก่อความรู้สึกไม่ชอบธรรมขึ้นกับการอยู่ร่วมกันในสังคม 

หากกลไกที่มีหน้าที่จัดการเป็นไปในทางที่ก่อความรู้สึกว่า “ไม่ยุติธรรม”

ความรู้สึกว่าถูกคดโกง ด้วยทุจริต และไม่เป็นธรรมนั้นจะก่อความคิดไม่ยอมรับกติกาการอยู่ร่วมกันขึ้นมา

และความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้เองที่จะสั่นสะเทือนต่อ “ความมั่นคง”

ประเทศที่ประชาชนไม่เชื่อมั่นในกลไกรักษากติกา ไม่เชื่อมั่นว่าจะจัดการอย่างเป็นธรรมได้

ประเทศที่ประชาชนระแวงสงสัย หรือถึงขั้นเชื่อว่า “กลไกรักษาความชอบธรรม” กลายเป็นกลไกที่ “รับใช้อำนาจที่ทุจริต”

“ความมั่นคง” มีแต่ต้องสร้าง และรักษาไว้ด้วย “กองกำลัง” และ “อาวุธ” อย่างไม่รู้เลิกรา

เป็น “ความมั่นคง” ที่ยากจะทำให้นานาประเทศ “เชื่อมั่น” อย่างเต็มใจ

หน้าที่ “สร้างและรักษาความมั่นคงในแบบที่นานาประเทศเชื่อถือ” 

จึงสำคัญ ต่ออนาคตการพัฒนาประเทศว่าจะไปสู่ความรุ่งเรือง หรือตกต่ำ

…………..

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image