FUTURE PERFECT : 10 เทรนด์เทคโนโลยีที่จะ ‘มา’ ในปี 2018 : ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

เป็นประจำทุกช่วงปลายปีที่บริษัทต่างๆ จะออกสรุปรวบยอดสิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่กำลังจะผ่านพ้น และพยายามพยากรณ์ หรือวิเคราะห์สิ่งที่จะเกิดขึ้น หรือสิ่งที่จะ “มา” ในปีถัดไป ถึงแม้รายงานเหล่านี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นจริง (เช่น ทำนายว่ารถยนต์ไร้คนขับจะมีให้เห็นกันทั่วไป – แต่ก็ไม่เกิดขึ้นเสียที) แต่อย่างน้อย มันก็ทำให้เราได้รู้ว่านักวิเคราะห์เขาคิด, เขาเก็งอนาคตไว้อย่างไร หนึ่งในรายงานที่ผมพบว่าน่าสนใจเสมอคือรายงานของ Gartner บริษัทวิจัยสัญชาติอเมริกัน

ปีนี้เป็นอีกปีที่ Gartner ออกรายงานชื่อ “Top Strategic Technology Trends” หรือ “แนวโน้มเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์” 10 แนวโน้มด้วยกัน โดยทั้ง 10 แนวโน้มจะถูกแบ่งออกเป็นสามด้านหลักๆ คือ Intelligent (ความฉลาดเฉลียว) Digital และ Mesh (การเชื่อมต่อกันเป็นโครงใย)

ในส่วนของ Intelligent ประกอบไปด้วย 3 เทรนด์ย่อย คือ AI Foundations, Intelligent Apps and Analytics และ Intelligent Things

AI Foundations หรือ “รากฐานปัญญาประดิษฐ์” Gartner วิเคราะห์ว่าความสำคัญของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการช่วยตัดสินใจ สร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ และช่วยปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า จะยังคงความสำคัญจนถึงปี 2025 ถึงแม้ในปัจจุบันจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น (จากผลการสำรวจพบว่ามีบริษัทมากถึง 59% ที่ยังอยู่ในช่วง “รวบรวมข้อมูล” เพื่อสร้างกลยุทธ์ด้านปัญญาประดิษฐ์ของตนเท่านั้น) แต่ท้ายที่สุดแล้วบริษัทจำนวนมากก็จะต้องเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ขับเคลื่อนธุรกิจอยู่ดี ซึ่งคำว่า “ปัญญาประดิษฐ์” ในที่นี้นั้น Gartner ไม่ได้พูดถึงปัญญาประดิษฐ์แบบ “ทั่วไป” ที่เราอาจเรียกว่า General AI (คือพัฒนาให้สามารถคิดได้เหมือนมนุษย์) แต่พวกเขาพูดถึงปัญญาประดิษฐ์ชนิด “แคบ” ที่ถูกสร้างมาเพื่อทำงานเฉพาะอย่างเท่านั้น

Advertisement

Intelligent Apps and Analytics Gartner มองว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แอพพลิเคชั่นและบริการทั้งหลายจะต้องมีปัญญาประดิษฐ์เป็นส่วนประกอบไม่มากก็น้อยทั้งสิ้น ที่น่าสนใจคือพวกเขาคิดว่าปัญญาประดิษฐ์จะมีบทบาทสำคัญในการเป็น “ตัวกลาง” ระหว่างมนุษย์กับระบบที่ซับซ้อน (นั่นคือ เป็นชั้นที่คั่นกลางระหว่างสองสิ่งนี้) โดยอาจทำหน้าที่เช่น ผู้ช่วยอัจฉริยะ ที่ตระเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและจัดเรียงให้ง่ายดาย เพื่อให้มนุษย์มาตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายอีกที (ไม่ได้มาทำหน้าที่ “ทดแทนแรงงาน” เสียทั้งหมด)

Intelligent Things “สิ่งของอัจฉริยะ” ในที่นี้หมายถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ทั้งในบ้าน หรือในอุตสาหกรรม ที่มีความสามารถในการ “รับรู้และตัดสินใจ” มากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น เครื่องดูดฝุ่นอัตโนมัติ หรือรถไถที่สามารถทำงานได้เอง โดยไม่ต้องมีมนุษย์ควบคุม จุดเปลี่ยนของเทคโนโลยีเหล่านี้คือความสามารถในการทำงาน “ร่วมกันเอง” (ไม่ว่าจะร่วมกับมนุษย์ หรือร่วมกันเองโดยไม่ต้องใช้มนุษย์ก็ตาม) เช่น อุปกรณ์ให้ปุ๋ยอัตโนมัติอาจได้รับข้อมูลจากเครื่องตรวจจับสภาพอากาศ เพื่อตัดสินใจว่าจะให้ปุ๋ยพืชผลในวันไหน แล้วอาจส่งข้อมูลไปให้เครื่องเก็บเกี่ยว เพื่อให้จัดตารางการเก็บเกี่ยวได้ดีที่สุด ฯลฯ

ในส่วน Digital ประกอบไปด้วย 4 เทรนด์ย่อย คือ Digital Twins, Cloud to the Edge, Conversational Platforms และ Immer-sive Experience

Advertisement

Digital Twins ไม่ได้หมายถึง “ฝาแฝดดิจิทัล” ของมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงแนวคิดในการที่วัตถุต่างๆ จะต้องมี “ตัวตนออนไลน์” (อย่างน้อย เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อข้อมูลกันได้) ด้วย Gartner วิเคราะห์ว่าในปี 2020 จะมีเซ็นเซอร์ที่เชื่อมต่อข้อมูลในลักษณะนี้มากกว่า 21,000 ล้านชิ้นทั่วโลก ซึ่งจะทำให้มี “ตัวแทนของวัตถุ” ออนไลน์เป็นพันๆ ล้านชิ้น (ซึ่งคำว่า “ชิ้น” ในที่นี้ ท้ายสุดแล้วก็จะหมายถึงมนุษย์ด้วย ให้คิดง่ายๆ ว่าสิ่งของ รวมถึงมนุษย์ มี “โปรไฟล์” บนโลกออนไลน์ที่สามารถรับส่งข้อมูลกับ “โปรไฟล์” อื่นๆ ได้)

Cloud to the Edge คำที่เราได้ยินกันในช่วงสี่ห้าปีนี้บ่อยครั้งคือคำว่า Cloud หรือ “ระบบประมวลผลบนหมู่เมฆ” (ที่หลายคนก็แซวว่า แค่เป็นคำเก๋ๆ ของการเรียก “คอมพิวเตอร์ของคนอื่น” เฉยๆ) ในปี 2018 Gartner วิเคราะห์ว่าเทรนด์ Edge computing (หรือการออกแบบให้การประมวลผล เก็บและขนส่งข้อมูล อยู่ใกล้กับแหล่งข้อมูล ที่เรียกว่า “ขอบ”) จะถูกผสมผสานเข้ากับแนวคิดแบบ Cloud Computing ถึงแม้ว่าเดิมทีจะมีคนเชื่อว่าสองแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่อยู่คนละขั้วกัน ซึ่งการพัฒนานี้ก็จะมีขึ้นด้วยความพยายามในการหยิบข้อดีของทั้งสองระบบมาผสานกันนั่นเอง

Conversational Platform หมายถึงการติดต่อคอมพิวเตอร์หรือระบบปัญญาประดิษฐ์ด้วยการพูดจาเป็นภาษามนุษย์ เราได้เห็นเทคโนโลยีนี้พัฒนาขึ้นมากแล้วในปีที่ผ่านๆ มา (เช่น Alexa ของ Amazon, Siri ของ Apple) แต่ Gartner มองว่ามันยังสามารถพัฒนาไปได้อีก เช่น อาจพัฒนาไปให้สามารถสเก็ตช์หน้าผู้ร้ายได้จากคำให้การของพยานเลยทีเดียว

Immersive Experience อีกเทคโนโลยีที่เราเห็นว่าเริ่มมี “จุดเริ่มต้น” เป็นหย่อมๆ ทั่วโลก คือเทคโนโลยีความจริงเสมือนทั้งหลายตั้งแต่ Augmented Reality, Virtual Reality และ Mixed Reality ซึ่ง Gartner มองว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จุดสนใจใหญ่ที่สุดจะอยู่ที่ Mixed Reality ซึ่งหมายถึงระบบที่ผู้ใช้สามารถปฏิสัมพันธ์กับสิ่งของทั้งดิจิทัลและสิ่งของในโลกจริงได้ โดยที่เขายังมีตัวตนบนโลกจริงอยู่ (ต่างจาก VR, ในขณะที่ AR เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เรา “เห็น” ข้อมูลเพิ่มเติมหรือเลเยอร์ที่ซ้อนทับกับโลกจริง แต่เราไม่สามารถปฏิสัมพันธ์ด้วยได้ จากบางคำนิยาม)

ในส่วน Mesh ประกอบไปด้วย 3 เทรนด์ย่อย คือ Blockchain, Event-Driven และ Continuous Adaptive Risk and Trust

Blockchain เป็นอีกคำที่ร้อนแรงมากในปีนี้ ด้วยความที่มันเป็นเทคโนโลยีเบื้องหลังสกุลเงินดิจิทัลยอดฮิตอย่าง Bitcoin และสามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย แต่ในปีนี้เราก็ยังเห็นการประยุกต์ใช้บล็อกเชนอย่างพื้นฐานเท่านั้น หรือหากเป็นการประยุกต์ใช้ที่ “ล้ำ” ขึ้น ก็ยังอาจไม่ได้รับความสนใจในวงกว้างมาก แต่ Gartner ก็คิดว่าในปีที่กำลังจะมาถึง บล็อกเชนจะมีบทบาทสำคัญในทุกวงการตั้งแต่รัฐบาล, วงการสาธารณสุข, การแจกจ่ายเนื้อหาไปถึงการขนส่ง

Event-Driven การขับเคลื่อนด้วยเหตุการณ์ หมายถึงความสามารถในการจับรูปแบบที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปของสถานการณ์ (เช่น การสั่งซื้อ) แล้วใช้การตรวจจับนั้นเพื่อตัดสินใจทางธุรกิจ ด้วยระบบกึ่งอัตโนมัติ

Continuous Adaptive Risk and Trust (CARTA) ในเทรนด์สุดท้าย Gartner มองว่าปัญหาเรื่องความมั่นคงปลอดภัยดิจิทัลนั้นจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในปีที่กำลังจะถึง ดังนั้นมาตรการการตอบสนอง โดยมอบความรับผิดชอบให้กับบุคลากรและนักพัฒนาที่เกี่ยวข้องนั้นจำเป็นมาก “เทคนิคการรักษาความปลอดภัยดั้งเดิมที่ต้องใช้การควบคุมและความเป็นเจ้าของ (own-ership) จะไปไม่รอดแล้วในโลกดิจิทัล การรักษาความปลอดภัยรอบๆ ระบบ (perimenter protection) ก็จะไม่สามารถป้องกันการโจมตีจากภายในได้” การพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ อย่างเช่นการล่อลวงแฮกเกอร์ให้เข้ามาติดกับที่วางไว้ที่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองไปเรื่อยๆ (adaptive honeypot) จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งหมดนี้คือ 10 เทรนด์ที่ Gartner คิดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาธุรกิจในปี 2018 ทั้งหมดอาจเล่นอยู่ “หลังฉาก” และเราในฐานะผู้บริโภคอาจมองไม่เห็นชัดเจนนัก แต่สุดท้ายแล้วเราจะอยู่ในโลกของการพัฒนาเหล่านี้ลึกลงเรื่อยๆ และวันหนึ่งพวกมันก็จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเรา อย่างไม่ทันคาดคิด

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image