คอลัมน์ ฟิสิกส์ธรรมดาสาระมันส์ : สถานีอวกาศเทียนกง-2

ในวันที่ 29 กันยายน ค.ศ.2011 ประเทศจีนได้ส่งสถานีอวกาศเทียนกง-1 ขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก โดยเทียนกงนั้นมีความหมายว่า วังแห่งสวรรค์ แต่สถานีอวกาศนี้เกิดปัญหา ไม่สามารถติดต่อกับภาคพื้นดินได้ ทำให้ในเดือน พฤษภาคม ค.ศ.2017 ทางการจีนส่งหนังสือถึงหน่วยงานอวกาศนานาชาติว่าสถานีอวกาศเทียนกง-1 มีการลดระดับลง 160 เมตรต่อวัน และล่าสุดนักวิทยาศาสตร์จากหลายๆ ประเทศคาดการณ์ว่ามันจะตกลงสู่พื้นโลกช่วงปลายเดือนมกราคมปี ค.ศ.2018

แต่ความมุ่งมั่นทะเยอทะยานด้านอวกาศของประเทศจีนยังไม่จบเพียงเท่านั้นเพราะในเดือนกันยายน ค.ศ.2016 ประเทศจีนได้ส่งสถานีอวกาศเทียนกง-2 ขึ้นสู่อวกาศ ลักษณะของมันแทบไม่ต่างจากเทียนกง-1 ทั้งรูปร่าง และขนาด โดยประกอบไปด้วยทรงกระบอกสองส่วนติดกัน ส่วนแรกสำหรับให้นักบินอวกาศอาศัยอยู่และการทดลองที่ต้องใช้นักบินอวกาศ อีกส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิง ส่วนผลิตไฟฟ้า และการสื่อสาร ซึ่งนักบินอวกาศจะไม่เข้ามาอยู่ในส่วนนี้ ทรงกระบอกส่วนนี้จะมีเซลล์สุริยะประกบติดอยู่ด้วย

ภารกิจหลักของสถานีอวกาศเทียนกง-2 คือทดสอบเทคโนโลยีการขนส่งสัมภาระและสิ่งจำเป็นต่างๆสู่อวกาศ การเติมเชื้อเพลิงในอวกาศ รวมทั้งการส่งมนุษย์อวกาศไปอาศัยในช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อทดสอบว่าจะเกิดผลอะไรกับร่างกายบ้าง

นอกจากนี้ยังมีการทดลองเรื่อง

Advertisement

-นาฬิกาอะตอมความแม่นยำสูงในอวกาศ

-เทคโนโลยีการสื่อสารด้วยเลเซอร์ และ การเข้ารหัสแบบควอนตัมที่ส่งรหัสลงสู่โลก

-การตรวจจับรังสีแกมมา

Advertisement

-การทดสอบวัสดุสำหรับใช้ในอวกาศ

-การปลูกพืชในอวกาศ

-การใช้คลื่นไมโครเวฟวัดระดับความสูงต่ำออกมาเป็นภาพสามมิติ

ปลายปี ค.ศ.2016 ยานอวกาศเสินโจว 11 ถูกส่งไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศเทียนกง-2 สำเร็จ โดยมีนักบินอวกาศสองคน Jing Haipeng และ Chen Dong เข้าไปอาศัยอยู่นานถึงหนึ่งเดือนซึ่งนับว่าเป็นภารกิจนักบินอวกาศที่ยาวนานที่สุดของประเทศจีน

ล่าสุดเมื่อกลางปี ค.ศ.2017 ที่เพิ่งผ่านมานี้ ยานขนส่งเทียนโจว-1 (Tianzhou 1) ประสบความสำเร็จในการเดินทางไปเติมเชื้อเพลิงให้กับสถานีอวกาศเทียนกง-2 ได้อย่างงดงาม แน่นอนว่าการเชื่อมต่อในครั้งนี้เป็นการทดสอบว่ายานสามารถเข้าไปเติมสัมภาระเสบียงต่างๆ ให้กับสถานีอวกาศได้ด้วย ยานขนส่งเทียนโจว-1 นั้นถูกออกแบบมาให้ขนส่งเสบียงได้มากถึง 6 ตัน เชื้อเพลิง 2 ตัน (เรื่องน่าตลกคือ ยานขนส่งเทียนโจว-1 นั้นมีน้ำหนักรวมแล้วมากถึง 13 ตัน ในขณะที่สถานีอวกาศเทียนกง-2 กลับมีน้ำหนักเพียง 8 ตันครึ่งเท่านั้น)

อย่างไรก็ตาม สถานีอวกาศเทียนกง-2 นั้นเป็นเหมือนภารกิจนำร่องสำหรับการสร้างสถานีอวกาศเต็มรูปแบบของจีนในระหว่างปี ค.ศ.2019-2020

ปัจจุบัน ประเทศสหรัฐอเมริกานั้นกีดกันจีนออกจากความร่วมมือด้านอวกาศในทุกมิติ ทั้งเรื่องดาวเทียม จรวด หรือแม้แต่องค์ประกอบเล็กๆ ที่ใช้ในงานด้านนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเหตุผลด้านความมั่นคงและการทหาร

ด้วยเหตุนี้ ประเทศจีนจึงต้องลุยเองทุกอย่าง โดยในช่วงแรกได้รับความช่วยเหลือจากประเทศรัสเซีย แต่ในปัจจุบันนี้ประเทศจีนกำลังไปได้สวยในด้านอวกาศและมีการติดต่อซื้อชิ้นอุปกรณ์ต่างๆ จากประเทศรัสเซียและประเทศในยุโรป ทำให้หลายคนมองว่าการกีดกันเช่นนี้ทำให้สหรัฐเองเสียโอกาสทางธุรกิจไปมากเหมือนกัน


 

อ้างอิง

http://www.skyandtelescope.com/astronomy-news/chinas-tiangong-1-set-to-reenter-in-the-coming-months/

https://www.reuters.com/article/us-china-space/china-to-begin-construction-of-manned-space-station-in-2019-idUSKBN17U0GG

https://www.theguardian.com/science/2017/apr/22/tiangong-1-chinas-first-cargo-spacecraft-docks-with-orbiting-space-lab

https://www.popsci.com/chinas-first-robot-cargo-spaceship-tianzhou-1

https://chinaspacereport.com/spacecraft/tiangong2/

http://www.bbc.com/news/world-asia-china-37700404

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image