2475 จากสายตาต่างชาติ บันทึกทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งกำลังจะล่วงเข้าทศวรรษสุดท้ายก็ครบ 100 ปีแล้ว แต่คนไทยเราไม่น้อยยังไม่กระจ่าง นักเรียนนักศึกษาไม่มีบทเรียนที่จะอธิบายหรือวิเคราะห์รอบด้าน ถึงที่มาที่ไปอย่างชัดเจน เพื่อจะเข้าใจวิถีประชาธิปไตยซึ่งคนเกือบทั้งหมดในโลกแสวงรับเป็นระบอบการปกครอง จนปัจจุบันนี้ การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย ก็ยังต้องเรียนกันแบบปะติดปะต่อเอาเอง

แม้หนังสือจะให้ค้นคว้าศึกษามีอยู่ ถึงจะยังไม่มากพอแต่ก็ไม่น้อยเสียทีเดียว ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยที่หนักแน่นพอจะใช้ชีวิตของสังคมเป็นเดิมพัน ซึ่งเริ่มมายาวนานแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 2500 กระทั่งเกิดเหตุการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญ 14 ตุลาคม 2516 ก่อนนักเรียนนักศึกษาและประชาชนจะถูกล้อมปราบเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 มาจนทุกวันนี้ เดี๋ยวนี้

ไทยก็ยังระหกระเหินบนทางแพร่งที่คนไม่น้อยยังอิดๆ ออดๆ อยู่กับเรื่องประชาธิปไตย แม้จะรู้ว่าหากระบอบไม่สถิตเศรษฐกิจร่วงลงเหวก็ตาม

เมื่อมีคนนอก แน่นอน ไม่ใช่ ไกจิน อย่างที่ญี่ปุ่นเรียกคนไม่ใช่ญี่ปุ่น แต่คนนอกในความหมายที่ว่านี้คือญี่ปุ่นที่อยู่เมืองไทย ผู้เขียนบันทึกทูตญี่ปุ่นซึ่งเห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 ‘การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม’ อันเป็นการให้ข้อมูลใหม่ ที่เป็นประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง ดังนั้น จึงเป็นบันทึกที่ผู้สนใจประวัติศาสตร์ตัวเองต้องหาอ่านให้กระจ่าง

Advertisement

ด้วยเหตุที่ท่านทูต ยาสุกิจิ ยาตาเบ มีความสัมพันธ์อันดีและเป็นพิเศษกับทั้งฝ่ายเจ้านาย ข้าราชการ และแม้แต่ฝ่ายผู้นำคณะราษฎร

การบรรยายภาพรวมจึงให้เหตุการณ์ที่ต่อเนื่อง มีรายละเอียดของเรื่องและเหตุการณ์นานาพอแก่ความเข้าใจ ทั้งยังมีข้อคิดเห็น วิเคราะห์วิจารณ์เรื่องราวต่างๆประกอบไว้ด้วย ทำให้เกิดรูปลักษณ์ทางวิชาการอยู่มาก ไม่ได้เป็นหนังสือแสดงข้อเท็จจริงหรือให้ข้อมูลอย่างเดียว ทั้งการเล่าเรียงที่ให้ภาพรวมดังกล่าว ให้น้ำหนักอย่างมีดุลยภาพทีเดียว

เออิจิ มุราชิมา กับ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ผู้แปลรับรองไว้อย่างนั้น น่าอ่านทีเดียว

๐ประเทศซึ่งบอบช้ำจากสงครามล่าอาณานิคม สงครามเจ้าลัทธิ ต่อเนื่องมายาวนานจนต้องแบ่งประเทศออกเป็นสองส่วน ทั้งดินแดนที่มีอยู่ก็อัตคัตทรัพยากร ไม่มีผู้ใดจะทำนายได้ว่า ประเทศลักษณะนี้จะก้าวพ้นความทุกข์ยากแสนสาหัสได้อย่างไร

ถูกแล้ว เมื่อสักสี่ทศวรรษก่อน ประเทศเกาหลีตามหลังประเทศไทยถึง 30 ปี แต่วันนี้ ประเทศเกาหลีนำหน้าประเทศไทยไปไกลขนาดไหน มีคนไทยสักกี่คนอยากรู้บ้าง

เพราะเพียง 50 ปี ครึ่งศตวรรษเท่านั้นเอง เกาหลีก็ผงาดขึ้นยืนหยัดอย่างดงามบนเวทีโลก เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมนานา เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมร่วมสมัย ซึ่งเพื่อนบ้านร่วมทวีปต้องศึกษา

‘มหัศจรรย์เกาหลี จากเถ้าถ่านสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม’ โคเรีย ดิ อิมพอสสิเบิล คันทรี่ เล่มนี้ ได้ฉายภาพการเดินทางของเกาหลีอย่างลึกซึ้งและครอบคลุม ตั้งแต่รากฐานทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และประเพณีที่หลอมหล่อเป็นอุปนิสัย โลกทรรศน์ และวิธีแก้ปัญหาของผู้คน จนการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ ผลักดันให้กลายเป็นประเทศใหม่ที่ต้องจับตามอง ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ แปลให้อ่าน

เดิน… เดิน… เดิน… ถ้าหวังก้าวหน้าต้องพากันเดิน ไทยร้องเพลงนี้กันมาเกือบห้าสิบปีแล้วเหมือนกัน


๐ อีกเล่มที่ต้องสนใจคือ ‘เศรษฐกิจจีน’ ปริศนา ความท้าทาย อนาคต ของอาจารย์ หลินอี้ฟู นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงอันดับหนึ่งของจีน จะมาไขปริศนาให้เห็นตั้งแต่ช่วงยุคทองของอารยธรรมจีน จนถึงยุคยากจนตกต่ำ ความผิดพลาดของนโยบายเศรษฐกิจที่วางแผนจากส่วนกลางในยุคคอมมิวนิสต์ ก่อนจะกลับมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอีกครั้ง

ทำไมจีนซึ่งเป็นมหาอำนาจยิ่งใหญ่ในอดีตต้องล้าหลังกว่าประเทศตะวันตกที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ก่อน แต่ผลของการเปิดประเทศในปี 2522 เศรษฐกิจกลับก้าวกระโดดขึ้นมาได้น่าอัศจรรย์อย่างไร
หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้เราเข้าใจระบบคิดเบื้องหลังเศรษฐกิจ เพื่อหันกลับมามองบ้านเมืองตัวเองได้กระจ่างขึ้น อักษรศรี พานิชสาส์น แปลให้อ่านได้ชัดเจน

๐เรื่องยาวขนาดเหมาะมือเล่มหนึ่งของ วิคตอร์ อูโก เจ้าของ ‘เหยื่ออธรรม’ กับ ‘คนค่อมแห่งนอตเตรอะดาม’ เป็นความลึกซึ้งของความคิดและจิตใจมนุษย์ จากบันทึก ‘วันสุดท้ายของนักโทษประหาร’ ที่จำหลักความเจ็บปวด หวั่นกลัว โกรธขึ้ง อยู่เบื้องหลังกำแพงคุก ที่เบื้องหน้าคือคมมีดกิโยติน

กรรณิกา จรรย์แสง ผู้ทำงานสำคัญมากมายจาก ‘รุกสยาม ในนามของพระเจ้า’ ที่ต้องอ่านแบบเคี้ยวเอื้อง จึงได้อรรถรสระหว่างบรรทัดอย่างอิ่มเอม ‘บันทึกการเดินทางของอองรี มูโอท์ในสยาม’ ซึ่งน่าตื่นเต้นที่ได้กลับเข้าป่าอันรกชัฏเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผจญภัยไปโผล่พบนครวัด ฯลฯ เป็นผู้แปลวรรณกรรมชั้นเยี่ยมเรื่องนี้ และแน่นอน จากภาษาฝรั่งเศสดั้งเดิม

‘เนชั่นแนล จีออกราฟิก’ ฉบับเสด็จสู่สวรรคาลัย ซึ่งงามด้วยภาพชุดพิศดารตระการ ยังมีเรื่องวัคซีนที่น่าตื่นใจ เรื่องและภาพชุดการลักลอบล่าเสือจากัวร์ กับ 10 ภาพเล่าเรื่อง

และอย่าลืม ‘มติชนสุดสัปดาห์’ ใครคลายแล้ว ใครยังไม่คลาย นิตยสารการเมืองอ่านแล้วใจไม่หาย เพราะยังไงก็ได้แบบไทยไทยสิคะ พ่อเจ้าประคุณ.

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image