คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : ถนนสู่สุนทรีย์

เพลงคลาสสิกนี่มีเสน่ห์ ถ้ามีผู้รู้แนะนำให้รู้จัก ยิ่งเพลิดเพลิน

เหมือนดั่งเช่นการไปฟังคอนเสิร์ตวงไทยแลนด์ฟีลฮาร์โมนิก ออเคสตรา หรือวงทีพีโอ

อาทิ การไปฟังเมื่อวันศุกร์-เสาร์ที่แล้ว และได้ซึมซับบทเพลงอมตะ

ซิมโฟนี หมายเลข 3 บันไดเสียง อีแฟลต เมเจอร์ ของ ลุควิค ฟาน บีโธเฟน ชาวเยอรมัน (ค.ศ.1770-1827)

Advertisement

หรือที่รู้จักกันในชื่อ Eroica ซึ่งแปลว่า วีรบุรุษ

เสน่ห์ของบทเพลงนี้คืออานุภาพที่เปรียบเหมือน บิ๊กแบงŽ วงการดนตรีคลาสสิก

ระเบิดออกเพื่อเปลี่ยนจาก คลาสสิกŽ สู่ โรแมนติกŽ

Advertisement

คลาสสิกที่ยึดระเบียบแบบแผน สู่โรแมนติกที่คำนึงถึงอารมณ์มนุษย์ด้วย

เสน่ห์ของบทเพลงนี้ วงทีพีโอถ่ายทอดออกมาเป็นช่วงๆ

ตั้งแต่ท่อนแรก

เริ่มต้น การย้ำคอร์ด Eb ซึ่งถือเป็นอินโทรของบทเพลงเริ่มขึ้น

ถือว่าเป็นอินโทรที่สั้นจริงๆ

จากนั้นบทเพลงเคลื่อนเข้าสู่ทำนองแรก โดยกลุ่มเครื่องสายเชลโลนำร่อง

แล้วตามมาด้วยกลุ่มเครื่องเป่า

ความแปลกของบทเพลงปรากฏขึ้นอีกครั้งเมื่อการบรรเลงเชื่อมต่อทำนองแรกกับทำนองที่สองมีความยาวกว่าปกติ

เออ ที่เคยปฏิบัติกันก็ไม่ทำ ส่วนที่ไม่เคยปฏิบัติก็จะทำ

ความ เกินกว่าปกติŽ นี้ยังปรากฏให้ได้ยินเป็นระยะๆ ตลอดบทเพลง

โดยเฉพาะช่วงท้าย ซึ่งปกติจะ สั้นŽ แต่บีโธเฟนประพันธ์ยาวแถมยังมีการพัฒนาทำนอง

ในท่อนที่สอง บทเพลงเริ่มต้นด้วยเสียงอันเศร้าหมอง แต่ช่วงกลางกลับเจิดจ้าขึ้นมา

ก่อนที่จะกลับไปสู่ทำนองเดิม แล้วจบลงอย่างสงบ

ส่วนท่อนที่สาม บีโธเฟนได้เปลี่ยนจากวิถีปฏิบัติเดิมที่เคยใช้รูปแบบการประพันธ์ manuet ซึ่งเป็นจังหวะเต้นรำ

กลายมาเป็น scherzo ซึ่งมีความเร็วจี๋ และมีพลังเหลือล้น

ขณะที่ยังคงช่วงกลางที่เรียกว่า Trio เอาไว้ ซึ่งในบทเพลงซิมโฟนีหมายเลข 3 นี้ เฟรนช์ฮอร์นได้แสดงฝีมือเยี่ยม

ประทับใจ !

ท่อนสุดท้าย บีโธเฟนประพันธ์ในรูปแบบ แวริเอชั่นส์ หรือการแปรทำนอง

ทำนองหลักที่นำมาประพันธ์ บีโธเฟนนำเอาดนตรีประกอบของบัลเลต์มาใช้

บัลเลต์เรื่องดังกล่าวชื่อ The Creatures of PrometheusŽ

เป็นบัลเลต์ที่บีโธเฟนประพันธ์ดนตรี

นอกจากความพิสดารเกี่ยวกับการประพันธ์แล้ว บทเพลงนี้ยังมีความหมายทางการเมือง

บทเพลงนี้เดิมบีโธเฟนต้องการประพันธ์ให้แก่ นโปเลียน

แต่ภายหลังเปลี่ยนใจจึงใช้ชื่อ อีโรอิกาŽ หรือ วีรบุรุษŽ แทน

ดังนั้น ทำนองหลักของท่อนแรกที่นำเสนอโดยเชลโล ตีความเป็นตัวแทนของวีรบุรุษ

ความเบาและทิศทางเสียงที่พุ่งสูง คือ ความอ่อนแอที่ยังมีอยู่

ขณะที่โน้ต และจังหวะ รวมถึงการรัวกลอง จุดให้ระลึกถึงผลงานหลายชิ้นที่แต่งระหว่างการปฏิวัติในช่วงสาธารณรัฐที่หนึ่งของฝรั่งเศส

ส่วนท่อนสุดท้ายที่นำเอาดนตรีจากบัลเลต์เรื่อง The Creatures of PrometheusŽ มาเป็นทำนองหลักนั้น

ตีความจากชื่อ Prometheus ซึ่งเป็นเทพไททันที่ขโมยไฟจากสวรรค์มาให้มนุษย์ใช้ประโยชน์

กระทั่ง Zeus เจ้าแห่งเทพรู้เรื่อง และลงโทษด้วยการพันธนาการไว้กับหิน

แล้วให้นกอินทรีมาจิกกินตับทุกวัน

ตับจึงถูกจิกกินไปทุกวัน แต่ Prometheus ก็ฟื้นขึ้นมาใหม่ทุกวัน เพราะเขาเป็นอมตะ

เทพ Prometheus นี้ ถือว่าเป็นวีรบุรุษของมนุษยชาติ ขณะที่นโปเลียนในยุคนั้นถูกเปรียบกับเทพไททัน

ด้วยเหตุนี้จึงตีความว่า บีโธเฟนต้องการจะยกย่องนโปเลียน

เพียงแต่ตอนหลังเปลี่ยนใจ

ความรู้ที่ได้รับทั้งมิติของการประพันธ์ มิติของประวัติศาสตร์ และการตีความนี้

เมื่อได้ทราบ เวลาได้ฟัง จะทำให้เรารู้สึก อินŽ ไปกับบทเพลง

แม้หลายคนจะมองเพลงคลาสสิกว่ายากที่จะฟัง

แต่หากได้รับการชี้แนะ ก็สามารถซึมซับสุนทรีย์ได้ไม่มากก็น้อย

น่าเสียดายที่ความรู้เหล่านี้ไม่ค่อยได้ยิน ไม่ค่อยได้อ่าน

ก่อนหน้านี้รายการวิทยุชื่อ สนทนาภาษาดนตรีŽ ทางคลื่น FM 100.5 มี บวรพงศ์ ศุภโสภณ เป็นผู้จัด

ได้อธิบายบทเพลง และเชิญผู้รู้มาช่วยอธิบายมิติต่างๆ ของบทเพลงเหล่านี้

ให้ฟังทุกเสาร์-อาทิตย์

แต่การจัดผังรายการล่าสุด รายการอันมีประโยชน์ต่อการฟังดนตรีคลาสสิก

ไม่มีอยู่แล้ว

ตอนนี้ก็เหลือแต่ที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่นั่น เผยแพร่ความรู้ของบทเพลงก่อนรับฟัง

ทุกโปรแกรมการแสดงของวงทีพีโอ จะมีสูจิบัตรแจก มีกูรูมาอธิบาย

ใครได้ติดตามเป็นประจำคงทราบกันดีอยู่แล้ว

แต่ที่เอ่ยมาทั้งหมดเพราะรู้สึกเสียดาย

เสียดายรายการวิทยุที่ให้ความรู้ต้องหดหาย

และน่าเสียดายถ้าสังคมไทยหยุดการสนับสนุนความรู้ทางสุนทรียะ

ความรู้ทางศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นแขนงไหน ล้วนเป็นการสร้างถนนสู่สุนทรีย์

บางที สังคมที่กระด้างอาจได้รับการขัดเกลา เมื่อมีสุนทรีย์

แต่ถ้าเราทอดทิ้งเส้นทางสู่สุนทรีย์เสียแล้ว

มันก็น่าเสียดาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image