ท่วงท่า การเมือง หวังดี แต่ส่ง ‘ผลร้าย’ ต่อ การเลือกตั้ง

ประหนึ่งว่า การออกโรงของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เสนอให้แก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

เท่ากับเป็นการช่วย “คสช.”

ประหนึ่งว่า การออกโรงของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ในการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจากสังกัดพรรคให้ 400 คนไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค

เท่ากับเป็นการช่วย “คสช.”

Advertisement

มองเผินๆ ดาษๆ อาจคิดว่าเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุผลของการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองก็เพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

ระหว่างพรรคใหญ่กับพรรคเล็ก ระหว่างพรรคใหม่กับพรรคเก่า

ขณะที่หากการเลือกตั้ง 400 ส.ส.โดยไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค เพื่อผนวกพลังเข้ากับ 250 ส.ว. เส้นทางของนายกรัฐมนตรี “คนนอก” ก็ผ่านฉลุยเหมือนกับปูพรมแดงให้เลย

เป็นเช่นนั้นจริงหรือ

ไม่ว่าจะมองอย่างไรก็ต้องเข้าใจได้ตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่า ไม่ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน เปี่ยมด้วยความหวังดีอย่างแน่นอน

บทบาท นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเช่นใดก็รู้กันอยู่

ยิ่งบทบาท นายไพบูลย์ นิติตะวัน ยิ่งแจ่มชัดตั้งแต่ได้รับการปูนบำเหน็จรางวัลให้เป็น “สปช.” และเมื่อผ่านประชามติก็ปวารณาตั้งพรรคการเมือง

เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อาจถูกมองว่าเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลพรรคไทยรักไทย แต่เมื่อผ่านพรรคมัชฌิมาธิปไตยก็แจ่มแจ้ง

ยิ่งโยงสายสัมพันธ์ไปยัง “รองนายกรัฐมนตรี” บางคน ยิ่งไม่มีข้อกังขา

เชื่อมั่นได้เลยว่า บทบาทและการเคลื่อนไหวของทั้ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ตลอดจน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ล้วนจิตหนึ่งใจเดียวเพื่อ คสช.

และตรงนั้นแหละที่จะกลายเป็น “ปัญหา”

อย่าลืมอย่างเด็ดขาดว่า คสช.ให้คำสัตย์ว่าอย่างไรตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ไม่ว่าโดยการปราศรัย ไม่ว่าจะผ่านบทเพลงเจื้อยแจ้ว

เราจะทำตาม “สัญญา” ขอ “เวลา” อีกไม่นาน

นั่นก็เห็นได้จากสัญญาที่ประกาศผ่าน “ปฏิญญา โตเกียว” ผ่าน “ปฏิญญา นิวยอร์ก” ผ่าน “ปฏิญญา ทำเนียบขาว” และที่สุดคือ “ปฏิญญา ทำเนียบรัฐบาล”

จะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561

แต่ยิ่งเข้าใกล้เดือนมกราคม 2561 อาการของ คสช. อาการของรัฐบาลยิ่งเด่นชัดยิ่งว่าอาจจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป

จากเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นเดือนอื่นและปีอื่น

การเล่นบท “สมิงพระรามอาสา” ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประสานเข้ากับ นายไพบูลย์ นิติตะวัน และ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อาจสร้างความชอบธรรมให้ในระดับที่แน่นอนหนึ่ง แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าชาวบ้านจะมองไม่ออก

เพราะแม้กระทั่งภายในพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เห็นด้วย อย่าว่าแต่พรรคการเมืองอื่นเลย

ความปรารถนาดีอันมาจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายไพบูลย์ นิติตะวัน และ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน จึงอาจกลายเป็นความประสงค์ร้ายไปโดยอัตโนมัติ

บนพื้นฐานแห่ง “ทฤษฎีสมคบคิด”

การทำแบบนี้ในห้วงก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 อาจถูกมองอย่างหนึ่ง แต่เมื่อมาทำในเดือนธันวาคม 2560 กลับจะถูกมองอีกอย่างหนึ่ง

กลับจะกลายเป็น “ผลเสีย” มากกว่าจะเป็นผลดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image