หน้าหนาวที่แล้ว-หน้าหนาวหน้า โดย ปราปต์ บุนปาน

แฟ้มภาพ

ไม่แน่ใจว่า “หน้าหนาวนี้” มีอากาศเย็นแค่ไหน? 

คำตอบคงขึ้นอยู่กับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ตลอดจนการประเมินค่า-มาตรฐานของแต่ละบุคคลหรือกลุ่มคน

แต่ในทางการเมืองนั้น บรรยากาศของ “หน้าหนาวนี้” ดูจะมีอากาศ “ร้อนๆ” (ไม่ถึงกับ “ร้อนระอุ”) และ “เย็นๆ” (ไม่ถึงกับ “เย็นยะเยือก”) ระคนคละเคล้ากันไปอย่างน่าประหลาด

นับเป็นบรรยากาศที่ผิดแผกไปแน่ๆ หากเปรียบเทียบกับ “หน้าหนาวที่แล้ว” เมื่อปีก่อน

Advertisement

ถ้าเป็น “หน้าหนาวที่แล้ว” เรื่องราวเกี่ยวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กับนาฬิกาหรูหราราคาแรง (หลายเรือน?) อาจเป็น “ข่าวใหญ่” อยู่สักพัก ก่อนจะค่อยๆ เงียบหายเจือจางลงไป

แต่พอเป็น “หน้าหนาวนี้” เรื่องที่ว่ากลับยังไม่เงียบ ต่อให้สำนักข่าวหรือนักข่าวไม่เล่นเป็นประเด็น ผู้คนในโซเชียลมีเดียก็เดินหน้าขุดค้นกันต่อ

ไม่ใช่แค่ฝ่ายต่อต้าน-ตั้งป้อมกับรัฐบาล-คสช. แต่เพียงกลุ่มเดียว ที่ตั้งคำถามเรื่องนี้ แต่หลายคนที่เคยมีท่าทีเชียร์รัฐบาล ก็ช่วยตั้งคำถามสืบค้นข้อมูลอย่างไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

Advertisement

หรืออย่างน้อยที่สุด ก็เกิดอาการพูดไม่ออก หรือสงวนท่าทีที่จะปกป้องท่านรองนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น ต่อให้สื่อยอมลดราวาศอกตามคำร้องขอของท่านนายกรัฐมนตรี หรือต่อให้ ป.ป.ช. ไม่มีแอ๊กชั่นใดๆ อย่างที่ควรมี หรือต่อให้มีการชี้แจงอ้อมๆ ผ่านเซเลบสื่อสายทหาร (ที่ยิ่งแจกแจงข้อมูลก็ยิ่งพัลวันวุ่นวาย)

ทว่า ความสงสัย-ความเคลือบแคลงที่ผุดขึ้นในใจของผู้คนหลายกลุ่มจะไม่หายไปไหน

เพียงแต่จะถูกแปรเป็นอะไรเท่านั้นเอง?

คล้ายคลึงกับกรณีการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหาร ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ “น้องเมย” ที่ดูจะจัดการ-ควบคุมได้ยากเกินคาดคิด

คือ ต่อให้ผลสอบของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในกรณีนี้ โดยกองบัญชาการกองทัพไทย มีความถูกต้อง บริสุทธิ์ ยุติธรรม ร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า กลับกลายเป็นปฏิกิริยาจากสังคมที่ “ไม่เชื่อ” ในผลสอบดังกล่าวต่างหาก

ทั้งครอบครัวของผู้เสียชีวิตเอง และคนทั่วไปอีกไม่น้อย (ไม่ใช่แค่คนที่แอนตี้รัฐบาล-กองทัพมาแต่เดิม แต่ยังรวมถึงคนที่โปรรัฐประหาร-คสช. มาก่อน)

การจัดการข้อเท็จจริงเรื่องสาเหตุการเสียชีวิตของน้องเมยอาจเป็นเรื่องที่พอทำได้ และทำไปแล้ว

แต่การจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่เชื่อมั่นต่อกองทัพน้อยลง แถมสงสัยสถาบันทหารมากขึ้นนี่สิ ที่เป็นเรื่องยากและท้าทายมากกว่า

เช่นเดียวกับสถานการณ์นับถอยหลังสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่ยังขลุกขลัก มีทั้งภาวะ “รุดหน้า” และ “ฉุดรั้ง” ดำรงอยู่เคียงคู่กัน

เอาแค่ข่าวคราวล่าสุด ว่าด้วยความไม่แน่ใจของ สนช. ต่อกระบวนการสรรหาว่าที่ กกต. บางส่วน หรือข้อเสนอรีเซตพรรคการเมือง-ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรค ก็ล้วนแสดงให้เห็นถึงสภาวะอันปราศจาก “ฉันทามติ-ความเข้าใจร่วมกัน”

ทั้งระหว่างรัฐบาล และกลไกอำนาจรัฐราชการอื่นๆ ในยุคปัจจุบัน ตลอดจนบรรดานักการเมืองหลายฝ่าย ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องทวีบทบาทสำคัญมากขึ้นๆ เมื่อการเลือกตั้งขยับใกล้เข้ามา

ดีไม่ดี คู่ขัดแย้งทางการเมืองหลักๆ อาจจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปเลยด้วยซ้ำ ในช่วงเวลาใกล้เลือกตั้ง

“หน้าหนาวนี้” ไม่เหมือน “หน้าหนาวที่แล้ว” และ “หน้าหนาวปลายปีหน้า” ก็คงไม่เหมือนปลายปีนี้

……………

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image