ปัจฉิมบทแห่งนิตยสาร โดย : กล้า สมุทวณิช

การปิดตัวนิตยสาร “คู่สร้างคู่สม” ที่มีอายุกว่าสามสิบปีของคุณดำรง พุฒตาล นั้น คล้ายเป็นการพังทลายลงของปราการด่านสุดท้ายที่เราเคยได้แอบอิงอุ่นใจว่า อย่างน้อยก็ยังมีนิตยสารหัวหนึ่ง ซึ่งยั่งยืนยงในวงการสิ่งพิมพ์ ต้านทานกระแสแห่งโลกการอ่านบนหน้าจออิเล็กทรอนิกส์และสื่อโซเชียลอยู่ได้

พลันเมื่อคู่สร้างคู่สมลาลงจากแผงหนังสือ จึงเหมือนเป็นสัญญาณให้เราต้องยอมรับว่าสังคมไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาสุดท้ายของนิตยสารที่มีความหมายถึงสิ่งพิมพ์ที่เผยแพร่ออกมาเป็นประจำตามรอบเวลา

ผลกระทบของการปิดตัวลงของนิตยสารหลายฉบับในช่วงสองสามปีมานี้ ทำให้คนที่ทำงานเกี่ยวข้องต้องไปหางานใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจ สำหรับนักเขียนและคอลัมนิสต์นั้นก็ต้องปรับตัวหาทางรอดให้อยู่ได้ในสังคมการอ่านผ่านหน้าจอและโซเชียลเน็ตเวิร์ก

รูปแบบการ “รอดชีวิต” ของผู้เคยเลี้ยงชีพด้วยการผลิตเนื้อหาให้นิตยสารนั้นมีจุดร่วมที่คล้ายกัน คือจะต้องยอมสร้างงานขึ้นมาแบบให้เปล่าไปก่อน เพื่อหวังเก็บเกี่ยวดอกผลที่เป็นค่าตอบแทนในอนาคตอันไม่แน่นอน เช่น รอให้มีสปอนเซอร์มาลงโฆษณาในเพจ หรือได้รับเชิญไปเป็นคอลัมนิสต์ในสำนักข่าวหรือนิตยสารออนไลน์ต่างๆ ส่วนนักเขียนวรรณกรรมเรื่องแต่งอย่างเรื่องสั้นหรือนวนิยายนั้น ก็ต้องหาทางเผยแพร่ผลงานในช่องทางพื้นที่ซึ่งเหมาะสมกับรูปแบบของงาน เพื่อสร้างฐานผู้อ่านให้มากพอที่จะดึงดูดความสนใจให้มีสำนักพิมพ์รับซื้องานนั้นไปพิมพ์รวมเล่ม

Advertisement

เป็นรูปแบบที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากยุคสมัยที่เขียนหนังสือหรือทำงานแลกค่าเรื่องจากนิตยสารหรือสิ่งพิมพ์แบบดั้งเดิม ซึ่งถ้ากล่าวกันตรงๆ ก็คือว่าเราคงต้องเสี่ยง “ทำงานฟรี” แล้วรอลุ้นว่าจะได้รับค่าตอบแทนแห่งการทำงานนั้นกลับคืนมาหรือไม่

ผู้มองโลกในแง่ดีส่วนหนึ่งมองว่า แม้นิตยสารจะหายไป แต่ไม่ได้แปลว่า “ผู้อ่าน” จะหายตาม หรือ “สังคมการอ่าน” จะสูญสลายไปก็หาไม่ เพียงแต่การอ่านนั้นจะเปลี่ยนรูปแบบจากบนกระดาษไปสู่หน้าจอเท่านั้น

กระนั้น รูปแบบการอ่าน “นิตยสาร” กับการอ่านงานจากสื่อออนไลน์ที่มีลักษณะเดียวกันนั้นก็มีความแตกต่างอยู่ในสาระสำคัญบางประการ

Advertisement

ประการแรก คือการลดลงซึ่งความเป็น “สถาบัน” ของนิตยสาร จากที่นิตยสารแต่ละหัวจะเคยมีลักษณะเป็น “สถาบัน ที่คอยกำกับแนวทางของนิตยสารแต่ละฉบับว่าจะไปในทิศทางใด เช่น เพื่อความบันเทิง เพื่อการนำเสนอบอกเล่าเรื่องราวของคนในแวดวงใดแวดวงหนึ่ง (เช่น นิตยสารเกี่ยวกับรถยนต์หรือการบ้านการเรือน) หรือเกี่ยวกับสังคมการเมือง ซึ่งแนวทางหลักนั้นก็ยังมีรายละเอียดย่อยๆ ลงไปอีก เช่น นิตยสารสังคมการเมืองนั้น มี “แนวคิดทางการเมือง” ไปทางไหน หรือนิตยสารบันเทิง ก็แบ่งว่าเป็นบันเทิงไทยหรือเทศ หรือจับกลุ่มผู้อ่านแนวไหน

นอกจากนั้น นิตยสารที่มีประสบการณ์ผ่านเวลามายาวนาน ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “จิตวิญญาณ” อันเป็นแนวทางที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของนิตยสารอยู่ด้วย ซึ่งนิตยสารจะคัดเลือกนักเขียนที่เข้ากับจิตวิญญาณดังกล่าว และจิตวิญญาณนี้เองที่จะกำกับให้นักเขียนหรือคอลัมนิสต์เขียนงานให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของนิตยสารแต่ละสำนักด้วย

แต่เราไม่อาจพบ (หรือเพียงอาจยังไม่พบ) จิตวิญญาณในลักษณะดังกล่าวได้ในสื่อใหม่หรือนิตยสารออนไลน์ อย่างเรื่องตลกร้ายในแวดวงผู้ที่นิยมอ่านข่าวหรือเนื้อหาจากสำนักข่าวออนไลน์ว่า ถ้าไม่ได้ดูที่หัวโพสต์แล้ว ก็จะไม่สามารถแยกได้เลยว่างานที่เพิ่งอ่านไปสดๆ ร้อนๆ นั้น เป็นงานของสำนัก MA MO หรือ TS เพราะสามสำนักข่าวนั้นใช้บริการนักเขียน คอลัมนิสต์
และนักวิชาการแทบจะกลุ่มเดียวกัน และนำเสนอเนื้อหาของข่าวแทบจะเป็นรูปแบบเดียวกัน เหมือนกับการรวมตัวกันของคอลัมนิสต์หรือนักเขียนอิสระเข้าไว้ภายใต้ชื่อสำนักข่าวเดียวกันมากกว่า

อีกประการหนึ่ง ตำแหน่งหน้าที่ซึ่งเคยมีความสำคัญมากในโลกของนิตยสารกระดาษที่ลดบทบาทลงอย่างยิ่ง คืองานของ “บรรณาธิการ” ที่เดิมจะทำหน้าที่ในการคัดเลือกและรวบรวม ตลอดจนขัดเกลาเนื้อหาของงานที่จะลงในนิตยสารนั้นให้เป็นไปตามแนวทางของนิตยสารแต่ละหัว หรือตามตีมของแต่ละฉบับ ควบคุมความเป็นเอกภาพของเนื้อหานั้นก็จะลดลงไป เหลือเพียงหน้าที่ในการตรวจพิสูจน์อักษร การพิจารณาจังหวะว่าจะลงเนื้อหาใดเมื่อไร หรือคัดกรองเนื้อหาที่อาจจะหมิ่นเหม่ต่อกฎหมายเท่านั้น ด้วยเหตุที่การ “ปล่อยงาน” ของสำนักข่าวออนไลน์นี้ไม่ได้มีวาระการทำงานแบบรายเดือนหรือรายวันเหมือนสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีกำหนดวางแผง แต่ว่ากันที่หลักนาทีหรือชั่วโมง เพราะเป็นการที่ต้องปล่อยงานรายชิ้น เช่นนี้การขัดเกลาหรือคุมแนวของเนื้อหาจึงยากที่จะกระทำได้โดยสภาพ

อาจจะยังเร็วไปที่จะตัดสินว่าสำนักข่าวออนไลน์นั้นจะขาดไร้จิตวิญญาณที่กล่าวไว้ เพราะอาจจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการสั่งสม ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่ากระบวนการนั้นจะเกิดได้หรือไม่ ในยุคที่ผู้อ่านนั้นอ่านข่าวหรืองานเขียนแบบแยกชิ้นตามที่แสดงขึ้นมาบนฟีดข่าวของโซเชียลเน็ตเวิร์ก

การอ่านงานแบบ “เป็นชิ้นๆ” นี้เองซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างกับการอ่านนิตยสารเป็นเล่ม นั่นคือเมื่อเราซื้อนิตยสารสักฉบับหนึ่ง แม้ในคราวแรกจะเพียงเพื่ออ่านเนื้อหาบางส่วน หรืองานของคอลัมนิสต์บางคนเท่านั้น แต่การที่นิตยสารนั้นรวบรวมงานเขียนอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกันในรูปเล่ม มันก็ทำให้เรามีโอกาสที่จะอ่านคอลัมน์และเนื้อหาส่วนอื่นๆ ที่อาจจะยังไม่มีความสนใจในขณะนั้น (แต่ต้องอ่านให้คุ้มกับที่ซื้อนิตยสารมาแล้วฉบับหนึ่ง) ทั้งยังเป็นไปได้ว่า อาจจะถูกรูปภาพ หรือคำโปรยเรียกความสนใจให้ลองเปิดอ่านคอลัมน์หรือเรื่องราวอื่นๆ นั้นด้วยก็ได้ รูปแบบการอ่านนิตยสารที่เป็นสิ่งพิมพ์นั้นจึงเอื้อต่อการขยายขอบเขตการอ่านที่หลากหลาย หรือช่วยในการไต่ระดับการอ่าน ให้ข้ามแดนเข้าไปสู่เนื้อหาที่ยากขึ้นหรืออยู่นอกเขตแดนความสนใจแต่เดิมก็ได้

เช่นนี้ การอ่านงานแบบ “เป็นชิ้น” ในโซเชียลเน็ตเวิร์กหรือในสำนักข่าวออนไลน์นั้น ทำให้โอกาสในการข้ามไปสู่แดนของเนื้อหาอื่นนั้นเกิดยากขึ้น โดยเฉพาะกรณีของผู้ที่ใช้โซเชี่ยลเน็ตเวิร์กเป็นตัวเลือกในการเข้าสู่เนื้อหาที่ตัวเองได้สมัครรับ (Subscribe) หรือที่มีมิตรสหายในเฟรนลิสต์แชร์มานั้น โอกาสที่จะได้อ่านเรื่องราวหรือข่าวที่นอกเหนือจากความสนใจยิ่งลดต่ำลงไปอีก ด้วยระบบคัดสรรของระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้น จะเป็นการเลือกแสดงแต่เนื้อหาที่ผู้ใช้สนใจหรือดูบ่อยๆ หรือเคยมีประวัติการค้นหา (รวมถึงที่แย่กว่านั้น คือเลือกเฉพาะเนื้อหาที่ยอม “จ่ายฆ่าโฆษณา” เพื่อให้ระบบจัดมาแสดงไว้ในหน้าจอของผู้อ่านให้) จนในที่สุด บนหน้าจอของผู้อ่านแต่ละคนก็จะมีแต่เนื้อหาเดิมๆ ในเรื่องที่คาดว่าผู้ใช้คนนั้นจะต้องการอ่าน หรือสนใจจะอ่านเท่านั้น

การ “ตามใจ” ผู้ใช้งานด้วยกลไกประมวลผลแบบปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยคิดแทนของระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กนี้ ยังส่งผลให้เนื้อหาที่มีผู้นิยมมากกว่านั้นได้รับความสนใจถูกเผยแพร่มากขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ในขณะที่เนื้อหาที่อาจจะ “ยาก” ทั้งในเชิงของการทำความเข้าใจ และยากในทางการสร้างสรรค์เนื้อหา เช่น บทความทางวิชาการ กึ่งวิชาการ สารคดีแบบเจาะลึก หรือเนื้อหาที่ลงศึกษาในรายละเอียดที่ซับซ้อนนั้น ก็ถูกระบบกลบหายไปตามลำดับความสนใจ

จากเดิมที่เนื้อหาเหล่านั้นเคยมีที่ทางแทรกสอดอยู่ได้ในนิตยสารรูปแบบเก่า และเราต้องยอมรับความจริงคือ การสร้างสรรค์เนื้อหาที่ยากหรือต้องใช้ความละเอียดซับซ้อนนั้นต้องอาศัยทั้งการลงทุนลงแรงในการค้นคว้า การเขียนและเรียบเรียง หรือทักษะการถ่ายภาพหรือการเดินทาง ซึ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยความทุ่มเท ที่นอกจากผู้สร้างงานจะต้องมี “ใจรัก” อย่างยิ่งแล้ว ก็ควรได้รับค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อด้วย ซึ่งแต่เดิมผู้ที่ยอมจ่ายเงินให้กับการทำเนื้อหาในลักษณะนี้คือนิตยสารหรือสำนักพิมพ์

แต่ในรูปแบบของการเผยแพร่เนื้อหาในยุค
โซเชียลเน็ตเวิร์กนี้ อย่างที่กล่าวไปตอนต้น คือการต้องยอมทำงานฟรีไปก่อนจนกว่าจะมีคนเห็นคุณค่าและยอมจ่ายค่าตอบแทนให้ เช่นนี้ก็คงต้องยอมรับว่า คนที่ยอมทำเนื้อหาที่ต้องอาศัยความทุ่มเทนั้น จะเหลือแต่คนที่มีใจรักสมัครใจทำอย่างยิ่งที่ไม่คาดหวังในเรื่องค่าตอบแทน และเมื่อเผยแพร่ออกมาแล้วอาจจะต้องทำใจว่างานนั้นก็จะถูกกลืนหายไปท่ามกลางทะเลของเนื้อหา ด้วยไม่อาจจะแข่งขันกับงานที่ถูกใจผู้คนจำนวนมากกว่าได้
กล่าวให้เห็นภาพชัด คือสารคดีประเภทท่องเที่ยวที่พาเราไปรู้จักกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในแหล่งท่องเที่ยวที่ยังไม่ถูกค้นพบ หรือธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์เหมือนที่เราเคยอ่านในนิตยสารอย่าง “สารคดี” หรือ “อสท.” อาจจะค่อยๆ หายไป เหลือแต่บทความแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ที่เป็นเพียงการถ่ายภาพมาแล้วอธิบายว่าภาพนี้คืออะไร อยู่ตรงไหน จะไปได้อย่างไร มุมใดบ้างที่ต้องไปเซลฟี่ หรือคอลัมน์เกี่ยวกับอาหารก็อาจจะเหลือแต่การถ่ายรูปอาหารสวยๆ ในร้านเก๋ๆ พร้อมคำวิจารณ์ว่าอร่อยดี รสชาติดี แต่ไม่มีการลงลึกไปในรายละเอียดของที่มา วัตถุดิบ ความเป็นมาของอาหารนั้น ความพลิกแพลงแตกต่าง หรือรายละเอียดของความ “อร่อย” เหมือนคอลัมน์ของนักชิมอาหารในนิตยสารสมัยก่อน

โลกของสื่อยุคใหม่อาจจะทำให้ใครๆ ก็เป็นผู้สื่อข่าว เป็นคอลัมนิสต์ เป็นช่างภาพ เป็นนักวิจารณ์ หรือนักวิเคราะห์ได้ เป็นเสรีภาพและการเปิดมุมมองใหม่ที่ทำให้ “สื่อ” นั้นไม่อาจถูกครอบงำได้โดยง่ายจากอำนาจทุนหรืออำนาจรัฐ ใครๆ ก็เป็นนักเขียนหรือผู้สร้างเนื้อหาที่มีคนอ่านเป็นร้อยหรือเป็นล้านภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่สิ่งที่เราอาจจะต้องแลกมา คือการทำงานแบบ “มืออาชีพ” ของการทำงานสื่อนั้นอาจจะหายหรือลดบทบาทไป

ถ้าเราจะมองเรื่องทั้งหมดนี้แบบปล่อยวางก็คงจะทำใจได้ว่า สิ่งที่ไม่ตอบสนองหรือเข้ากับยุคสมัย ที่ตัดสินโดยผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมนั้น จำต้องตายจากหรือเปลี่ยนรูปแบบไปตามกฎแห่งการอยู่รอดและการคัดสรรตามธรรมชาติ

แต่การเปลี่ยนไปของสื่อและวัฒนธรรมการอ่านนี้ จะส่งผลอย่างไรต่อโลกและสังคมในระยะยาว นี่คือสิ่งที่รอให้เราไปค้นพบร่วมกัน เมื่อปัจฉิมบทของสิ่งพิมพ์ที่เรียกว่า “นิตยสาร” มาถึง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image