ศูนย์พยากรณ์ศก. เผย 10 อาชีพรุ่ง-ร่วงปี 61 ผู้สื่อข่าวเสี่ยงตกงาน-ไม่มั่นคง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการประเมินความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการ ความมั่นคงและยั่งยืน ระดับรายได้ และจำนวนคู่แข่งในตลาดแรงงาน พบว่า 10 อาชีพเด่นปี 2561 อันดับแรกคือ แพทย์ (แพทย์ผิวหนัง ศัลยแพทย์) อันดับ 2 คือ โปรแกรมเมอร์ วิศวกรซอฟต์แวร์ และนักพัฒนา นักวิเคราะห์ข้อมูล อันดับ 3 คือ นักการตลาดออนไลน์ รวมทั้งรีวิวเวอร์ เน็ตไอดอล อันดับ 4 คือ นักการเงิน นักออกแบบวิเคราะห์ระบบด้านไอที/ให้คำปรึกษาด้านระบบไอที อันดับ 5 คือ กราฟฟิกดีไซน์ นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร อันดับ 6 นักวิทยาศาสตร์ด้านความงาม (คิดค้นเครื่องสำอางหรือครีม เป็นต้น) อาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อันดับ 7 คือผู้ประกอบการธุรกิจ (สตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น) อันดับ 8 คือ อาชีพในวงการบันเทิง (ดารานักแสดง/นักร้อง) สถาปนิก/มัณฑนากร อันดับ 9 คือครูสอนพิเศษ/ติวเตอร์ อาชีพเกี่ยวกับโลจิสติกส์และการขนส่ง อันดับ 10 คือ นักบัญชี

สำหรับ 10 อาชีพที่ไม่โดดเด่นปี 2561 อันดับแรกคืออาชีพตัดไม้/ช่างไม้ไม่มีฝีมือ อันดับ 2 คือ พ่อค้าคนกลาง อันดับ 3 คือ อาชีพย้อมผ้า บรรณารักษ์ อันดับ 4 คือ ไปรษณีย์ด้านส่งจดหมาย อันดับ 5 คือ พนักงานขายสินค้าหน้าร้าน อันดับ 6 คือ การตัดเย็บเสื้อผ้าโหล อันดับ 7 คือ การทำรองเท้า/ซ่อมรองเท้า อันดับ 8 คือ เกษรกร ครู/อาจารย์ อันดับ 9 คือ แม่บ้านทำความสะอาด และอันดับ 10 คือ นักหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และผู้สื่อข่าวภาคสนาม

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลต่ออาชีพในปี 2561 ได้แก่ เศรษฐกิจไทยขยายตัวในปี 2561 ประมาณ 4.2% อัตราว่างงานลดลงจากปี 2560 อยู่ที่ 1.1% ของประชากรรวม เหลือ 0.9% ในปี 2561 แนวนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 แนวโน้มการปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ โดยเฉพาะระบบเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเข้าถึงระบบเทคโนโลยีที่ง่ายและราคาไม่สูง พฤติกรรมคนเน้นความสะดวกสบายและความเป็นเทคโนโลยีมากขึ้น ธุรกิจต้องปรับตัวรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ การให้ความสำคัญของฐานข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์และการวางแผนธุรกิจมีมากขึ้น และการเปิดเสรีด้านการค้าและบริการของไทยในหลายชนิดสินค้า

นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ จากปัจจุบันวันละ 310 บาท เป็นเรื่องที่ไตรภาคีต้องพิจารณาอัตราและปรับขึ้นในเวลาที่เหมาะสม เมื่อประเมินจากกำลังซื้อต่างจังหวัดและคนชั้นล่างยังไม่มีกำลังซื้อ เอสเอ็มอียังไม่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ การปรับขึ้นแรงงานขั้นต่ำอีก 3-5% น่าจะเหมาะสมและทุกฝ่ายยอมรับได้

Advertisement

นายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า อาชีพนักหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และผู้สื่อข่าวภาคสนาม เป็นอาชีพที่ติดอันดับท็อปเทนที่มีความเสี่ยงต่อการตกงาน  รวมถึงมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงในอาชีพและรายได้ ซึ่งสวนทางกับปริมาณผู้ที่จบการศึกษาในสาขานิเทศน์ศาสตร์ในแต่ละปีมีจำนวนมาก เนื่องจากผู้บริโภคหันไปสนใจข่าวจากโซเชียลมีเดีย อย่างยูทูป,สื่อออนไลน์กันมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image