ฟังความเห็น ‘อจ.นิติฯ ธรรมศาสตร์’ วิพากษ์ละคร “ล่า” แง่กระบวนการยุติธรรม ‘อย่าหลอกคนดูว่าปรึกษา ‘อัยการ-ทนายความ’ แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร. รณกรณ์ บุญมี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้โพสต์เฟ๊ซบุ๊กส่วนตัวตั้งค่าสาธารณะแสดงความเห็นละคร “ล่า” ว่า

ละครที่ทำแล้วทำร้ายสังคมนี้จะสร้างมาทำไม จะมีเหยื่อความผิดทางเพศในอนาคตอีกกี่คนที่ไม่กล้าไปฟ้องคดีเพราะคิดว่าจะโดนแบบนี้

คือรู้ล่ะนะว่าเป็นเรื่อง “ล่า” ที่จะขายความรุนแรงจากการไล่ล่าฆ่า เลยต้องทำให้ผลทางกฎหมายไม่เป็นที่พอใจของเหยื่อจนต้องออกมาไล่ฆ่าเอง ซึ่งปมนี้ก็น่าสนใจ แต่ฉากในห้องพิจารณาคดีจะทำให้มันถูกต้องไม่ได้หรือไง

ตอนแรกก็ไม่คิดจะดูเรื่อง”ล่า” นะ แต่มีเพื่อนคนหนึ่งถามว่าการพิจารณาคดีมันเป็นแบบนี้จริงไหม ประกอบกับจ่าพิชิต แห่ง drama addict โฆษณาว่ามีอัยการ/ทนายความเข้าไปช่วยดูแลการเขียนบท ก็เลยไปดูฉากพิจารณาคดีว่าเป็นยังไง

Advertisement

ดูแล้วก็โอนะ โอ้โหคดีพิจารณาปีไหนเนี่ย โอ้โหนี้อัยการ/ทนายความให้คำปรึกษาแล้วจริงๆเหรอ (วะ) เนี่ย

คือคดีข่มขืนนี้มันก็ยากด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว สถิติการฟ้องคดี การชนะคดีมันยากอยู่แล้ว โดยไม่ต้องเอาข้ออ้างอย่างการที่ผู้เสียหายจำหน้าและชื่อจำเลยไม่ได้มาเป็นสาเหตุยกฟ้อง และบรรยากาศการพิจารณาคดีที่เลวร้ายมาทำให้มันยิ่งแย่ไปกว่าที่มันเป็นหรอก

นี้เป็นการเขียนโพสต์ที่หงุดหงิดและเรียงลำดับอย่างสับสนมาก จะพยายามเอาเป็นทีละประเด็นละกัน

Advertisement

1) ตั้งแต่ปี 2551 เรามีมาตรา 172 วรรค 3 ที่กำหนดให้ศาลสามารถเลือกที่จะไม่ให้จำเลยกับผู้เสียหายเผชิญหน้า เมื่อพิเคราะห์ถึงสภาพจิตใจ เพศ และความหวาดกลัว (ที่ชัดเจนมาก) ที่ผู้เสียหายมีต่อจำเลย โดยใช้การถามผ่านกล้องวงจรปิดแทน และถ้าทนายความถามด้วยคำถามแบบนี้ในเรื่อง sensitive อย่างการถูกรุมโทรม กฎหมายก็สามารถให้ถามผ่านนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ได้

นี้อะไรให้ทนายถามตรง เผชิญหน้ากับจำเลยตรง แถมมีฉากที่จำเลยยิ้มเยาะเย้ยอีก คนทำละครต้องการอะไรเหรอ คือผมไม่มีปัญหาถ้าจะทำเหมือนกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องตลก แต่ผลข้างเคียงก็คือคุณอาจกำลังทำให้ผู้เสียหายทางเพศ หรือคนที่จะเป็นผู้เสียหายทางเพศในอนาคตไม่กล้ามาฟ้องคดีเพราะกลัวว่าจะเจออะไรแบบนี้ แล้วถ้าเค้าไม่กล้าเพราะฉากนี้มันติดตา อยากให้รู้ไว้ว่าคุณคือคนที่ควรถูกประณาม

2 ถ้ามันเป็นคดีสัก 10-20 ปีก่อนก็เข้าใจ แต่ปัจจุบันมันมีนิติวิทยาศาสตร์ และละครก็พูดถึงว่ามีดีเอนเอของจำเลยที่ 1 อยู่ที่เล็บผู้เสียหายแล้ว ทำไมไม่พูดต่อไปว่าเจอสารคัดหลั่ง (น้ำเชื้อ) ของจำเลยที่ 1-7 ในตัวผู้เสียหาย เพราะสารพวกนี้อยู่ในตัวผู้เสียหายได้ถึง 10 วัน (ในช่องคลอดนานกว่านั้นอีก) แล้วผู้เสียหายทั้งสองหลังเกิดเหตุก็ไปโรงพยาบาลไม่ได้รอเนิ่นนาน และการล้างทำความสะอาดก็ไม่สามารถล้างสารคัดหลั่งออกได้หมด ส่วนฝนมันล้างดีเอนเอในตัวไม่ได้

กรณีแม่ไม่เท่าไหร่อาจสู้ว่ายอมเอง (จริงๆถ้าตรวจโดยแพทย์ก็จะบอกความแตกต่างได้) แต่ลูกที่อายุต่ำกว่า 15 ถ้ามีสารคัดหลั่งของจำเลยที่ 4-7 อยู่ยังไงก็ผิด 100% ทำไมไม่พูดถึงประเด็นนี้

3 ยกฟ้องด้วยสาเหตุจำชื่อจำเลยไม่ได้….ไม่มีอะไรจะพูดล่ะ เหนื่อยเกิน

ถ้าจะเป็นละครก็เป็นไป แต่อย่ามาโฆษณาว่าเขียนบทโดยปรึกษาอัยการ/ทนายความแล้วเลย เพราะมันยิ่งทำให้คนดูถูกหลอกว่าเหตุการณ์ในละครมันน่าเชื่อถือ ลาที่นำเสนอตัวเป็นลามันไม่น่ากลัวเท่ากับลาที่หลอกคนอื่นว่าเป็นเสือหรอก

ผมพูดกับนักศึกษา JC/นิเทศ ทุกครั้งที่มีโอกาสว่าอาจารย์มหาลัยนี้กระจอกมากเมื่อเทียบกับพวกคุณ เพราะพวกเราสอนคนแค่ไม่กี่คน และส่วนใหญ่ก็ได้แค่ 4 ปี แต่สื่อสารมวลชนนี้คือครูของคนทั้งสังคมและเป็นครูทั้งชีวิต สื่อคือครูที่สังคมเชื่อมากที่สุด ดังนั้นเมื่อคุณมีอำนาจมากขนาดนี้ขอให้คิดดีๆก่อนนำเสนอ เพราะสิ่งที่คุณนำเสนอแมร่งจะกระทบชีวิตคนอื่นแน่นอน ละครเรื่อง “ล่า” คือตัวอย่างที่ไม่ดี (ในแง่การนำเสนอกระบวนการยุติธรรม) ที่ควรเอามาเป็นบทเรียน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image