ระวัง! มวยเด็ก ทำลายสมอง ส่งผลระบบสั่งการผิดปกติ แนะเล่นได้แต่ต้องมีกติกาสากล

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี  ในงานประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 10 มีการแถลงข่าว “ส่งเสริมกีฬามวยไทยเด็ก ยุติมวยเด็กหาเงิน”           โดย ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ ประธานโครงการศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า (ไอแมค) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กีฬามวยไทยถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและเป็นการออกกำลังกาย ซึ่งบางกลุ่มได้ยึดมวยไทยเป็นอาชีพเพื่อผลตอบแทน โดยปัจจุบันมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้าสู่วงการมวยไทยตั้งแต่เล็กเป็นจำนวนมาก คาดว่ามีประมาณ 2-3 แสนคนทั่วประเทศ  บางคนขึ้นเวทีชกตั้งแต่อายุ 4 ขวบ มีการแข่งขันเชียร์กันอย่างสนุกสนาน ซึ่งการการชกมวยในเด็กเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ โดยเฉพาะการบาดเจ็บทางสมอง ซึ่งเกิดขึ้นได้ 2 รูปแบบ คือ ถูกชกที่ศีรษะโดยตรง และเกิดจากการที่ศีรษะและสมองถูกสะบัด หมุนด้วยแรงเหวี่ยงที่รวดเร็วอย่างกะทันหัน ทำให้สร้างบาดแผลให้กับเนื้อสมองโดยตรง และเกิดการยืดหรือขาดของเส้นประสาท ซึ่งถือเป็นการบาดเจ็บภายในทำให้หลายคนไม่รู้ตัวและเกิดการสะสมมากขึ้น

“การบาดเจ็บของสมองจากการชกมวย จะทำให้การส่งสัญญาณของระบบประสาทติดขัด สมองไม่สามารถสั่งการได้ตามปกติ มีเลือดออกในสมองบริเวณที่ฉีกขาด เซลล์สมองตายและฝ่อลง ซึ่งไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนใหม่ได้ มีน้ำเข้ามาแทนที่เนื้อสมองทำให้สมองไม่สามารถโตขึ้นได้ และส่งผลระยะยาวต่อระบบประสาท ทั้งอัลไซเมอร์ และพาร์กินสัน ซึ่งอาการเหล่านี้ที่เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อยสะสมไปเรื่อยๆ ทำให้บางครั้งอาการทางกายภาพไม่สามารถมองเห็นได้ เพราะเด็กยังพูดจา เดินเหิน ทำอะไรได้ตามปกติ” ศ.พญ.จิรพร กล่าว

ศ.พญ.จิรพร กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยและติดตามกลุ่มนักมวยเด็ก จำนวน 300 คน แบ่งเป็นประสบการณ์ชกไม่เกิน 2 ปี  2-5 ปี และมากกว่า 5 ปี เปรียบเทียบกับเด็กทั่วไปจำนวน 200 คน ที่มีเศรษฐานะใกล้เคียงกัน พบว่า การชกมวยในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีผลต่อสมองของเด็กดังนี้ 1.มีเลือดออกในสมองจากการถูกชกหัว ทำให้มีธาตุเหล็กสะสมซึ่งเป็นสารพิษต่อเนื้อสมอง 2. เซลล์สมอง และใยประสาทฉีกขาด และถูกทำลาย ทำให้สมองไม่สามารถสั่งการได้ตามปกติ  3. การทำงานด้านทักษะการใช้กล้ามเนื้อและมือด้านที่ไม่ถนัดของนักมวยเด็กดีกว่าเด็กทั่วไป เพราะผ่านการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง  4. การทำงานของสมองด้านความจำลดลง สามารถนำไปสู่อาการบกพร่องทางปัญญาหรือภาวะสมองเสื่อมได้ ระดับสติปัญญา (IQ) ของเด็กที่ชกมวยน้อยกว่าของเด็กทั่วไปเกือบ 10 คะแนน และยังลดลงอย่างต่อเนื่องตามระยะเวลาการชก โดยระดับไอคิวของเด็กทั่วไปในประเทศไทยอยู่ระหว่าง 90-110 ซึ่งสามารถเรียนจบระดับอนุปริญญาหรือปริญญาตรี ส่วนนักมวยเด็กที่ขึ้นชกมากกว่า 5 ปีมีไอคิว 84 คะแนน ซึ่งคะแนนระหว่าง 80-89 จะสามารถเรียนจบระดับมัธยมปลายเท่านั้น

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก (CSIP) กล่าวว่า จริงๆ ประเทศไทยมี พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ. 2542 โดยกำหนดห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีที่ไม่มีการสวมอุปกรณ์ป้องกันที่ได้มาตรฐานชกมวย ต้องมีการลงทะเบียนกับการกีฬาแห่งประเทศไทย และชกบนเวทีที่ขออนุญาต แต่ปัจจุบันพบว่า การชกมวยในเด็กละเมิดกฎหมายทั้งหมด อย่างเด็ก 4-5 ขวบชกกันโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน เวทีไม่มีการขออนุญาต ไม่มีการขึ้นทะเบียนนักมวย ซึ่งตรงนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือการกรฬาฯ ต้องเข้ามาดูแล รวมถึงหน่วยงานด้านความคุ้มครองเด็กด้วย โดยขณะนี้ คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้จัดทำร่างแก้ไขพ.ร.บ. กีฬามวย เพื่อกำหนดให้มวยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นการแข่งขันที่ต้องมีความปลอดภัย เพื่อรักษาวัฒนธรรมไทย และเพื่อฝึกฝนสู่ความเป็นเลิศทางกีฬาเท่านั้น

Advertisement

โดยต้องจัดการแข่งขันตามมาตรฐานที่กำหนดของสมาคมมวยไทยสมัครเล่นและ IFMA (International Federation of Muaythai Amateur) ที่กำหนดระเบียบการแข่งขันไว้ว่า เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ต้องแข่งขันแบบไม่ปะทะคือการแข่งไหว้ครู อายุ 10-11 ปี แข่งขันแบบปะทะกันได้ แต่ไม่ชกหัว อายุ 12-13 ปี กติกาไม่อนุญาตให้กระทำที่ศีรษะแบบรุนแรง เพื่อให้วงการกีฬาสากลยอมรับมวยไทยว่ามีความศิวิไลซ์เพียงพอที่จะเป็นกีฬาโอลิมปิกได้ เพราะอย่างที่ประเทศไทยติดเรื่องค้ามนุษย์ กีฬามวยเด็กก็เป็นหนึ่งในสาเหตุ เพราะถือเป็นการใช้แรงงานเด็ก แม้กระทรวงแรงงานจะออกมาบอกว่าค่ายมวยไม่ใช่นายจ้าง จึงไม่ถือว่าเป็นการใช้แรงงานก็ตาม อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการร่างกฎหมายใหม่ แต่ต้องแก้ไขเรื่องค่านิยมในการชกมวยเด็ก เพราะตราบใดที่คนยังเชียร์มองเป็นเรื่องปกติก็ยังคงเป็นปัญหา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image