สถิติแห่งชาติเผยคนไทยมีหนี้เพิ่ม เฉลี่ย 1.77 แสนบาท/ครัวเรือน หนี้นอกระบบกลับมาอีกแล้ว

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานสถิติฯได้ทำสำรวจข้อมูลโดยวิธีการสำรวจตัวอย่างและสำมะโนประชากรประมาณ 26,000-80,000 ราย ในด้านต่างๆ โดยจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในช่วงครึ่งปีแรก 2560 จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ ค่าใช้จ่าย หนี้สิน และทรัพย์สินของครัวเรือน ตลอดจนลักษณะที่อยู่อาศัย พบว่าครัวเรือนไทยทั่วประเทศมีรายได้เฉลี่ย 26,973 บาทต่อเดือน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 21,897 บาทต่อเดือน โดยรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี และส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นเกือบทุกภาคและทุกกลุ่มอาชีพ ซึ่งอัตราการเพิ่มของรายได้อยู่ที่ 0.1% น้อยกว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น 1.7% และมีแนวโน้มว่าผลสำรวจรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนไทยปี 2560 จะมีแนวโน้มใกล้เคียงตัวเลขในช่วงครึ่งปีแรก ในทางกลับกันพบว่าภาคครัวเรือนไทยมีการออมลดลง โดยในช่วงครึ่งปีแรกมีเงินออมเฉลี่ย 5,076 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ 18.8% และเมื่อเทียบหนี้สินต่อรายได้ของครัวเรือนในรอบ 11 ปี ตั้งแต่ปี 2550-2560 พบว่าหนี้สินต่อรายได้ในปี 2554 และ 2558 ต่ำสุดคือ 5.8 เท่าแล้วเพิ่มขึ้นเป็น 6.6 เท่าในปี 2560 หรือเฉลี่ย 177,128 บาทต่อครัวเรือน โดยมีข้อสังเกตว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูงจะมีค่าใช้จ่ายและหนี้สินสูงขึ้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ในส่วนของหนี้นอกระบบของครัวเรือนในช่วงครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นเป็น 6.2% เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่ 4.9% และมีหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบในช่วงครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นเป็น 4.6% เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่ 3.7%

“ในช่วงครึ่งปีแรกพบว่าครัวเรือนที่มีหนี้สินคิดเป็น 51% ของครัวเรือนทั้งประเทศ หรือคิดเป็น 11 ล้านครัวเรือน โดยมีจำนวนหนี้สินเฉลี่ย 177,128 บาทต่อครัวเรือน หรือประมาณ 6.6 เท่าของรายได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในครัวเรือน แบ่งเป็น การใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค 40.3% ซื้อบ้านหรือซื้อที่ดิน 34% และหนี้เพื่อใช้ในการศึกษา 1.8% และการก่อหนี้เพื่อใช้ในการลงทุนและอื่นๆ แบ่งเป็น หนี้ใช้ทำการเกษตร 12.9% และใช้ทำธุรกิจ 10.5% โดยจะเห็นว่าสาเหตุการเป็นหนี้ส่วนใหญ่นำมาใช้ในครัวเรือน ซึ่งเป็นการก่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” นายภุชพงค์กล่าว

นายภุชพงค์กล่าวว่า ด้านโครงสร้างแรงงานไทย ปีนี้มีผู้อยู่ในกำลังแรงงานและมีงานทำจำนวน 38 ล้านคน ผู้ว่างงาน 4.6 แสนคน และผู้รอฤดูกาลอีก 2.14 แสนคน รวมเป็นมีผู้ว่างงานประมาณ 6.74 แสนคน อย่างไรก็ตามถือว่าผู้ว่างงานไทยน้อยที่สุดในอาเซียน สะท้อนว่าเศรษฐกิจอยู่ในทิศทางที่ดี และหากแบ่งตามระดับการศึกษา จะพบว่าผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาในทุกระดับมีจำนวนเพิ่มขึ้น และเป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 2.34 แสนคน และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน จำนวน 2.26 แสนคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 17.70 ล้านคน เช่น ผู้สูงอายุ แม่บ้าน นักเรียนนักศึกษา ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากมีแรงงานลดน้อยลงจากการเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ รัฐบาลต้องออกนโยบายที่จะทำให้มีแรงงานเพิ่มขึ้น ทั้งนี้พบว่าจ้างงานโดยรวมลดลง 0.4% ซึ่งเป็นการจ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลง 0.2% จาก 11.75 ล้านคน เป็น 11.73 ล้านคน เนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่นอกภาคเกษตรกรรมในช่วงภัยแล้งต่อเนื่องของปี 2557-2559 สำหรับปี 2560 ในหลายพื้นที่ประสบอุทกภัย ประกอบกับแรงงานส่วนหนึ่งออกจากกำลังแรงงานเนื่องจากเข้าสู่วัยผู้สูงอายุและการทดแทนแรงงานใหม่ลดลง โดยการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมลดลง จากภาคการผลิตและก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ และแม้ว่าอัตราการว่างงานไทยจะน้อยเมื่อเทียบกับในอาเซียน แต่มีคนอีกกลุ่มที่มีชั่วโมงการทำงานน้อยหรือไม่เกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีความต้องการที่จะทำงานเพิ่มอีก เพื่อหารายได้เสริมเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว โดยปี 2560 มีจำนวน 2.56 แสนคน หรือเพิ่มขึ้น 0.7% หากเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา

นายภุชพงค์กล่าวว่า ด้านการใช้ไอซีทีของครัวเรือน พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ลดลงเป็น 30.8% จากปี 2556 ที่ 35% แต่มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็น 52.9% จากปี 2556 ที่ 28.9% และมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นเป็น 88.2% จากปี 2556 ที่ 73.3% และปัจจุบันการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่จะใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนค่อนข้างสูง หรือคิดเป็น 93.7% รองลงมาเป็นการใช้คอมพิวเตอร์ 45.4% โน้ตบุ๊ค 20% และแท็บเล็ต 10.2% โดยประชากรกลุ่มอายุ 15-24 ปี มีการใช้อินเตอร์เน็ตสูงที่สุดและส่วนใหญ่เป็นการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image