เก่าแก่ที่สุดในไทยและอุษาคเนย์ เรือโบราณพนม-สุรินทร์ พันกว่าปีมาแล้ว ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

เรียบเรียงจากหนังสือ แหล่งเรือโบราณพนม-สุรินทร์ ของ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม


เรือโบราณพนม-สุรินทร์ อายุราว พ.ศ. 1200-1300 ขุดพบในนากุ้ง ต. พันท้ายนรสิงห์ อ. เมือง จ. สมุทรสาคร

นับเป็นหลักฐานแหล่งเรือจมมีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบแหล่งเรือจมในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตัวเรือโบราณที่ยังคงสภาพให้ศึกษารูปแบบ เทคนิคการต่อเรือ ทำให้ได้ข้อมูลเรื่องเรือเดินสมุทรในยุคโบราณ รวมถึงการศึกษาด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพแวดล้อมแนวชายฝั่งทะเลโบราณ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ข้อสันนิษฐานนี้ประมวลจากข้อมูลที่ได้จากการขุดค้นและการศึกษาทางโบราณคดีส่วนหนึ่งในพื้นที่เรือโบราณ การขุดค้นและศึกษาในพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เหลืออยู่ในระยะต่อไป อาจพบข้อมูลที่สำคัญช่วยให้การศึกษาเกี่ยวกับเรือโบราณลำนี้ได้กระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น

เรือโบราณ 1,300 ปีมาแล้ว

จากการศึกษารูปแบบเรือที่ใช้วิธีการต่อเรือแบบอาหรับโบราณ รูปภาชนะดินเผาที่พบทั้งจากแหล่งผลิตจากจีน ตะวันออกกลาง และภาชนะในท้องถิ่น รวมทั้งอักษรอาหรับบนชิ้นส่วนภาชนะดินเผา และการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ตัวอย่างอินทรียวัตถุที่พบ ล้วนสอดคล้องกันว่าเรือโบราณลำนี้มีอายุราว พ.ศ. 1200-1300 (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14) ร่วมสมัยกับเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี

และผลการศึกษาทางธรณีวิทยาของกรมทรัพยากรธรณีบ่งชี้ให้ทราบว่าเรือโบราณนี้พบอยู่ในร่องน้ำโค้งตวัดโบราณ ที่ระดับความลึกประมาณ 2 เมตร จากผิวดินปัจจุบัน

ลำน้ำโค้งตวัดที่เรือโบราณจมตัวอยู่นี้ เป็นส่วนของแม่น้ำท่าจีนโบราณหรือแม่น้ำสาขาที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำท่าจีน

ตะวันออกกลาง-จีน

เรือลำนี้น่าจะเป็นเรือที่เดินทางไปมาระหว่างดินแดนแถบตะวันออกกลางและจีน พิจารณาจากภาชนะดินเผาแบบแอมฟอราที่คล้ายกับไหทรงตอร์ปิโด (torpedo jar) ซึ่งมีแหล่งผลิตในตะวันออกกลาง

ในภูมิภาคตะวันออกกลางมีเมืองท่าสำคัญอยู่หลายเมืองที่อยู่ในเส้นทางการค้า “เส้นทางสายไหมทางทะเล” เช่น เมืองบัสเราะฮ์ (Basra) เมืองอัล-อูบัลเลาะห์ (Al-Ubullah) ในประเทศอิรัก เมืองซีรอฟ (Siraf) ในประเทศอิหร่าน เป็นต้น

ส่วนภาชนะดินเผาจากจีนที่พบในเรือพนม-สุรินทร์ มีแหล่งผลิตอยู่ใกล้กับเมืองกว่างโจว (Guangzhou) ในมณฑลกว่างตง เมืองท่าค้าขายทางทะเลที่สำคัญในสมัยราชวงศ์ถัง

สินค้าขาไป-กลับ

มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ว่าราชวงศ์อับบาสิยะฮ์ของอาหรับมีการติดต่อค้าขายกับประเทศจีนและอินเดีย โดยเฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 บันทึกของชาวอาหรับในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-15 กล่าวถึงเส้นทางการเดินเรือจากเมืองซีรอฟมายังประเทศอินเดียและจีนโดยขึ้นฝั่งที่เมืองกว่างโจว

สินค้าหลักที่พ่อค้าชาวอาหรับนำมาขายยังประเทศจีน คือ เครื่องหอม (aromatic)

และเมื่อต้องล่องเรือสำเภากลับไปยังตะวันออกกลาง พ่อค้าอาหรับก็จะจัดหาสินค้าชั้นดีของจีนคือผ้าไหมและเครื่องถ้วย เพื่อนำมาขายตามรายทาง ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศรีลังกา อินเดียภาคใต้ ก่อนจะไปยังจุดหมายปลายทางในตะวันออกกลาง

ดังนั้นเรือโบราณลำนี้อาจออกจากเมืองท่าเมืองใดเมืองหนึ่ง อาจแวะพักขนถ่ายสินค้าตามเมืองท่าหรือดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเมืองที่มีลำน้ำเชื่อมต่อกับทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของลุ่มแม่น้ำในภาคกลางของประเทศไทย โดยมีแม่น้ำท่าจีนเป็นเส้นทางการค้าทางเรือที่สำคัญเส้นทางหนึ่งที่นำพาสินค้าจากต่างแดนเข้ามาสู่ลุ่มน้ำภาคกลาง หรือในทางกลับกันก็เป็นเส้นทางนำสินค้าออกไปด้วยเช่นกัน

เมืองโบราณการค้าทางทะเล

เมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีในพื้นที่ภาคกลาง ส่วนใหญ่มีที่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำสำคัญอย่างคลองหรือแม่น้ำสายหลัก เพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำในชีวิตประจำวัน การเกษตรกรรม และใช้เป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อกัน เช่น

เมืองนครปฐมโบราณ ตั้งอยู่ใกล้กับคลองบางแก้วที่ต่อไปยังแม่น้ำนครชัยศรี เมืองคูบัว ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำอ้อมซึ่งเป็นแม่น้ำแม่กลองสายเก่า เมืองอู่ทอง อยู่ใกล้กับแม่น้ำจรเข้สามพัน เป็นต้น

เมืองโบราณหลายเมืองยังตั้งอยู่ใกล้แนวชายฝั่งทะเลเดิม เรือสินค้าจากต่างภูมิภาคสามารถเดินทางเข้าไปยังเมืองโบราณได้โดยใช้เส้นทางแม่น้ำสายหลักที่อยู่ใกล้เมือง

ส่งผลให้เมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีหลายเมืองมีฐานะเป็นเมืองท่าค้าขาย-จุดแลกเปลี่ยนสินค้าต่างๆ ทั้งสินค้าท้องถิ่นและสินค้าต่างประเทศ

โดยเฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14 เป็นช่วงที่เส้นทางการค้า “เส้นทางสายไหมทางทะเล” เจริญรุ่งเรือง เทคโนโลยีการเดินเรือมีความก้าวหน้าอย่างมาก ทำให้การเดินเรือข้ามทวีปสามารถทำได้ เกิดเป็นเครือข่ายการค้าตามเส้นทางสายไหมทางทะเล

ส่งผลให้พบโบราณวัตถุจากต่างประเทศ เช่น สินค้าจากอินเดีย จีน กระทั่งสินค้าจากโรมันและอาหรับ แพร่กระจายอยู่ตามเมืองโบราณสำคัญที่ร่วมสมัยกัน ทั้งภายในประเทศและในต่างประเทศ เช่น พม่า มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น


หนังสือแหล่งเรือโบราณพนม-สุรินทร์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2560

ชาวบ้านตั้งคำถามถึงการปล่อยทิ้งเรือโบราณพนม-สุรินทร์ ยุคทวารวดีที่ ต. พันท้ายนรสิงห์ อ. เมือง จ. สมุทรสาคร โดยสองสามีภรรยาเจ้าของนากุ้งมอบที่ดินให้กรมศิลปากรดูแล

สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรีชี้แจงว่ามีแผนอนุรักษ์และพัฒนาในปี 62-64 รวมถึงได้พิมพ์หนังสือเรื่องเรือดังกล่าวแจก 1,000 เล่ม แต่ไม่มีจำหน่าย ชาวบ้านบางรายจึงเรียกร้องให้นำมาแจกจ่ายในท้องถิ่นเนื่องจากต้องการทราบข้อมูลนั้น (มติชน ฉบับวันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม 2560 หน้า 12)

บิณฑบาตหนังสือเรือโบราณพนม-สุรินทร์

พระครูสาครภัทรธรรม เจ้าอาวาสวัดวิสุทธิวราวาส (วัดกลางคลอง) ต. พันท้ายนรสิงห์ อ. เมือง จ. สมุทรสาคร กล่าวว่า

“คณะสงฆ์ของวัดไม่เคยรับทราบมาก่อนเลยว่ามีการตีพิมพ์หนังสือแหล่งเรือโบราณพนม-สุรินทร์ นี้ด้วย แต่เมื่อกรมศิลปากรตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกมา ส่วนดีคือจะได้ช่วยกันเผยแพร่เรื่องราวทางโบราณคดีที่สำคัญของโลกที่ขุดค้นพบในพื้นที่ ต. พันท้ายนรสิงห์”

“ควรนำหนังสือเล่มนี้มามอบให้ทางวัดกลางคลองสัก 1 เล่ม จะดีมาก จะได้เก็บไว้เป็นแหล่งข้อมูล เวลาที่พุทธศาสนิกชนมาทำบุญที่วัดหรือเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่ แล้วต้องการทราบประวัติของเรือโบราณกับวัตถุโบราณที่พบ จะได้ตอบคำถามหรือเล่าเรื่องทั้งหมดได้อย่างถูกต้อง”

“แหล่งเรือโบราณขาดการดูแลจากกรมศิลปากร อยากจะให้เข้ามาพัฒนาปรับปรุงให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาดูได้เห็นสภาพเรือโบราณ เข้าใจดีว่าอาจจะติดอยู่ที่งบประมาณ แต่ทั้งนี้อยากจะฝากให้มาช่วยกันดูแลมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพราะมีหลายคนมาดูแล้วมองไม่เห็นอะไร ต้องผิดหวังกลับไป สุดท้ายก็เงียบเหงาไม่มีใครเข้ามา ต่างจากเมื่อตอนขุดค้นพบใหม่ๆ คึกคักเป็นอย่างมาก”


สภาพเรือโบราณพนม-สุรินทร์ บริเวณขุดพบในนากุ้ง

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

นางสาวสายพิณ แก้วงามประเสริฐ นักประวัติศาสตร์ และครูโรงเรียนวัดมณีโชติ อ. โพธาราม จ. ราชบุรี กล่าวว่า กรมศิลปากรเป็นหน่วยงานราชการ ในบางครั้งทำงานโดยไม่ได้สนใจว่าชาวบ้านควรมีส่วนรับรู้และมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การที่คนในพื้นที่มอบที่ดินให้ดูแลสะท้อนถึงความต้องการมีส่วนร่วม

“ชาวบ้านอยากมีส่วนร่วมอยู่แล้ว เพราะยกที่ดินให้ระบบราชการติดเรื่องงบประมาณ ควรมีการลงมาพูดคุยกับชาวบ้านและภาคเอกชนประสานผ่านสถาบันการศึกษา ให้เด็กมีส่วนร่วมในงานศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ถ้าให้โรงเรียนมีส่วนร่วมสืบค้นเรื่องราวเกี่ยวกับท้องถิ่นน่าจะดีกว่า ไม่ใช่กรมศิลป์เพียงผู้เดียว ที่ผ่านมาโบราณวัตถุขุดค้นพบส่วนใหญ่จะถูกนำไปเก็บไว้ส่วนกลาง ท้องถิ่นควรได้เป็นเจ้าของเพื่อเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้” นางสาวสายพิณกล่าว (มติชน ฉบับวันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม 2560 หน้า 12)


 

เสากระโดง (ส่วนปลายคด) เรือโบราณพนม-สุรินทร์

เรือโบราณจากอาหรับ

หัวเรือ เปลือกเรือ ไม้ทับกระดูงู และเสากระโดงเรือจำนวน 2 เสา (เสาหนึ่งอาจเป็นเสาคาดทับใบเรือ) ความยาวของเรือมากกว่า 20 เมตร

ผลการตรวจสอบจากกรมป่าไม้ พบว่าชิ้นส่วนไม้เปลือกเรือเป็นไม้เต็งและชิ้นส่วนไม้กงเรือเป็นไม้ตะเคียนทอง

ลักษณะเรือที่ใช้เชือกเย็บร้อยยึดแผ่นไม้กระดานเปลือกเรือเข้าด้วยกัน เป็นเทคนิคการต่อเรือโบราณแบบที่เรียกกันว่า sewn คือ การเย็บเป็นกากบาท

พบได้ในเขตทะเลอาหรับ (ทั้งอินเดียและตะวันออกกลาง) ซึ่งเรือร่วมสมัยที่ใช้เทคนิคแบบเดียวกันนี้ คือ เรือจมที่เกาะเบลิตุง ประเทศอินโดนีเซีย

 

 


ภาชนะที่พบจากการขุดค้นเรือโบราณพนม-สุรินทร์  มีภาชนะที่เป็นบรรจุภัณฑ์และภาชนะที่ใช้งานภายในเรือ ที่สำคัญมีการพบภาชนะที่คล้ายกับภาชนะแบบแอมฟอรา (amphorae) ซึ่งเป็นภาชนะที่ออกแบบเพื่อใช้ในการขนส่งทางทะเล มักพบในแหล่งเรือจมในต่างประเทศแถบอินเดีย ตะวันออกกลางและยุโรป ชิ้นส่วนภาชนะแบบแอมฟอราชิ้นหนึ่งมีการขีดเขียนเป็นตัวอักษรที่ผิวด้านนอก ผู้เชี่ยวชาญภาษาอาหรับโบราณอ่านและแปลความว่าเป็นตัวอักษรและตัวเลขภาษาอาหรับโบราณ

คลิกอ่าน – สุจิตต์ วงษ์เทศ : เจ้าขุนมูลนาย ยุคดิจิตอลไทยแลนด์ 4.0

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image