‘จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท’ ในวันที่ ‘ซีไรต์’ มาพร้อมกับแรงเสียดทาน

เป็นปีที่ “รางวัลซีไรต์”Ž ถูกพูดถึงอย่างร้อนแรงอีกครั้ง ตั้งแต่ก่อนการประกาศผล หลังส่อเค้าปัญหาตั้งแต่เรื่องผู้สนับสนุน กรรมการ นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ถึงความน่าเชื่อถือของรางวัล การผูกขาดรสนิยม นโยบายส่งเสริมการอ่าน วัฒนธรรมการซื้อหนังสือ ฯลฯ

แล้ววันประกาศผลหนังสือที่ได้รับรางวัลก็เรียกเสียงฮือฮาอีกครั้ง เพราะเป็นการประกาศที่ “เงียบŽ” ผิดปกติ มีเพียงคำประกาศของคณะกรรมการโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ก่อนจะมาแถลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ธันวาคม หลังผ่านมาแล้ว 2 สัปดาห์

อย่างไรก็ดี วงการวรรณกรรมก็ได้ยิ้มชื่น แสดงความยินดีกับผลงานรวมเรื่องสั้น สิงโตนอกคอกŽ โดย จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ที่คว้ารางวัลไปพร้อมกับได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนซีไรต์ที่อายุน้อยที่สุดในวัย 25 ปี

โดยคณะกรรมการให้เหตุผลว่า สิงโตนอกคอกมีเนื้อหาหลากหลายที่ตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นมนุษย์ อำนาจนิยม มายาคติของความรู้และความเชื่อในสังคม ท้าทายความคิดของผู้อ่าน ทำให้ย้อนกลับมาใคร่ครวญถึงสังคมที่เราอยู่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติ และสังคมโลก

Advertisement

ด้านกลวิธีใช้การเล่าเรื่องแบบอุปมานิทัศน์ (Allegory) ที่มีโครงสร้างของเรื่องซ้อนกันหลายขั้นอย่างสัมพันธ์กัน โดยเชื่อมโยงตัวบทอื่นๆ เช่น ตำนานและเรื่องเล่าที่ผู้อ่านคุ้นเคย การสร้างตัวละครและฉากที่ไม่อยู่ในบริบทสังคมไทยเป็นการข้ามพรมแดนการเล่าเรื่องไปสู่ความเป็นสากล ผู้เขียนใช้ภาษาในการเล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย ทว่าลุ่มลึกและคมคาย

คำถามเชิงปรัชญา ในโลกที่เต็มไปด้วย คอก

สิงโตนอกคอกŽ ตีพิมพ์โดยแพรวสำนักพิมพ์ ประกอบด้วย รวมเรื่องสั้น 9 เรื่อง แนวแฟนตาซีดิสโทเปีย คัดสรรจากเรื่องสั้นกว่า 100 เรื่องของเธอ

Advertisement

จิดานันท์เล่าว่า แต่ละเรื่องจะมีฉากเป็นเมืองหรือโลกที่มีบางสิ่งผิดปกติ เช่น ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา การเมืองการปกครอง เพื่อทำให้เรื่องนามธรรมถูกนำมาขบคิดได้ดีขึ้น เช่น ความเป็นมนุษย์ ความดีความเลว หรือเพศสภาพต่างๆ

“ส่วนใหญ่เขียนเรื่องนี้ช่วงที่เรียนวิชาปรัชญา แล้วเราก็เอาคำถามมาคิดต่อ โดยการเขียนเป็นเรื่องสั้น ให้ตัวละครคิดแทนเรา สร้างเนื้อเรื่องมาล้อมรอบเพื่อถ่ายทอดประเด็นออกมาŽ”

เธอบอกว่าตัวเองไม่ได้เขียนเรื่องสั้นสะท้อนสังคม แต่ปัญหาทางปรัชญาที่ใช้เป็นแก่นในแต่ละเรื่องเป็นคำถามที่นักปรัชญาคิดขึ้นมาเพื่อวิพากษ์สังคม

โดยปรัชญาเป็นศาสตร์สากลทั่วโลก สามารถสะท้อนได้ทุกสังคม เป็นเรื่องที่ใช้ได้กับทุกประเทศ

การตั้งคำถามเชิงปรัชญา เป็นการคิดออกนอกกรอบความคิดประเพณีนิยมในสังคมนั้นๆ สอดคล้องกับชื่อหนังสือเล่มนี้

มองย้อนมาถึง “คอก”Ž ในสังคมเรา ซึ่งจิดานันท์เห็นว่ามีอยู่มาก แต่เธอจะไม่ยกตัวอย่างเรื่องการเมืองเพราะคิดว่าเป็นตัวอย่างที่มองเห็นได้ง่าย จึงมีการตั้งคำถามและถกเถียงมาก สามารถไปสู่ทางออกได้

”มีคอกหลายอย่างที่มองเห็นได้ยาก ซึ่งจะไม่ถูกตั้งคำถามจึงไม่มีการแก้ไข ง่ายสุดคือเรื่องความเป็นหญิง-ชาย เป็นคอกที่อยู่ในวัฒนธรรมทุกสิ่งอย่าง เมื่อผู้หญิงมากดผู้หญิงด้วยกันเองให้ต้อยต่ำ อยู่ในสื่อ ในละคร หรือแม้แต่ในวรรณกรรมกระแสหลักก็มี เป็นคอกที่ล้อมกรอบว่าถ้าเป็นเมียและแม่ที่ดีต้องเป็นผู้หญิงแบบนี้Ž”

ขึ้นเวทีในงาน S.E.A. Write Home Coming – วันของสิงโตนอกคอก โดยแพรวสำนักพิมพ์

สมดุลชีวิตกับงานเขียนสองแนว

ด้วยอายุ 25 แต่จิดานันท์พิสูจน์ชีวิตบนเส้นทางการเขียนด้วยงานเขียนที่ออกมาสม่ำเสมอ ตั้งแต่อายุ 12 ปี ได้รับรางวัลมาจากหลากหลายเวที จนเรียนจบจากคณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก็ใช้ชีวิตเป็นนักเขียนเต็มเวลา

เธอบอกว่าเวลาทำงานของเธอคือทุกวัน ตั้งแต่ตื่นจนนอน และยอมรับว่าอาจไม่ใช่นิสัยการทำงานที่ดีนัก

“วันไหนคิดได้เรื่อยๆ แล้วไม่อยากหยุด เราเขียนทุกวันยกเว้นวันที่ปิดต้นฉบับแล้วจะพัก 3-7 วัน พอว่างก็จะเริ่มหยิบต้นฉบับขึ้นมาทำ แต่ตอนที่เขียนไม่ออกก็มี เขียนไม่ได้ก็ไปทำอย่างอื่น ทำกราฟิกคอนเทนต์ลงเพจ ก็เป็นงานอยู่ดีŽ”

ขณะที่สิงโตนอกคอกเป็นเล่มที่ใช้ฉากในต่างประเทศหรือโลกแฟนตาซี ซึ่งผู้เขียนตั้งใจเลือกแต่ละเรื่องมาเพื่อคุมธีมเล่ม ขณะที่ “วันหนึ่งความทรงจำจะทำให้คุณแตกสลาย”Ž รวมเรื่องสั้นอีกเล่มซึ่งพิมพ์กับ เม่นวรรณกรรม ก็มีการหยิบบริบทสังคมปัจจุบันมาใช้เป็นฉากในเล่ม

ส่วนงานเขียนอีกแนวของเธอในชื่อนามปากกา ”ร เรือในมหาสมุท”Ž ก็เป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านวัยรุ่น จากนิยายชายรักชาย ซึ่งทำยอดขายแตกต่างจากวรรณกรรมสร้างสรรค์อย่างมาก

จิดานันท์ยืนยันว่าการได้รางวัลซีไรต์ไม่ส่งผลต่อแนวการเขียนแน่นอน ซึ่งเธอจะยังคงเขียนงานทั้งสองแนวควบคู่กันต่อไป

“การทำงานทั้งกระแสหลักกับวรรณกรรมสร้างสรรค์ ทำให้เราสมดุล เวลาเขียนงานอย่างเล่มสิงโตนอกคอก กว่าจะสังเคราะห์ออกมาจะหนักมาก เขียนจบแล้วก็อยากเขียนนิยายรัก ซึ่งใช้ความสามารถเช่นกันแต่เขียนแล้วจิตใจจะเป็นทางบวกกว่า บาลานซ์กับความมืดมนของงานอีกแนว พอเขียนนิยายรักเบื่ออยากพูดถึงประเด็นต่างๆ ก็จะกลับมาเขียนวรรณกรรมŽ”

ความกลมกลืนระหว่างงานสองแนว เธอเผยว่านิยายชายรักชายของเธอนั้นเรื่องค่อนข้างจะหนัก ส่วนงานแนวซีไรต์ก็เขียนออกมาค่อนข้างแฟนตาซี ทั้งสองแนวจึงไม่ได้ห่างกันมาก แต่แน่นอนว่างานแนวชายรักชายมีคนอ่านมากกว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์แน่นอน

“งานชายรักชายได้รับการยอมรับมากขึ้น สมัยก่อนต้องแอบทำใต้ดิน เพราะกลัวกฎหมายสื่อลามก แต่เดี๋ยวนี้ติดอันดับขายดีในร้านหนังสือมากมาย ได้รับการยอมรับในแง่การตลาด ผู้คนก็ยอมรับมากขึ้น แต่สื่อก็ยังทำสกู๊ปตั้งคำถาม แต่คิดว่าจะคลี่คลายไปในจุดที่เป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นŽ”

ถามถึงโอกาสที่งานชายรักชายจะมาแข่งในเวทีซีไรต์ เธอยืนยันว่ามีโอกาสหากเป็นวรรณกรรมแบบลึก

“ต้องเข้าใจว่าซีไรต์มอบให้วรรณกรรมสายหนัก แต่สายแมสเขามีจุดที่แข่งขันกันอยู่แล้ว คือบนแผงเบสต์เซลเลอร์ และดุเดือดมาก เพราะแข่งกันด้วยยอดขาย เป็นจุดที่เรายอมรับว่าเป็นโลกแห่งความจริงŽ”

จตุพล บุญพรัด รองบรรณาธิการอำนวยการแพรวสำนักพิมพ์ และบก.เล่ม

แรงปะทะจากซีไรต์

ถามถึงการคว้ารางวัลซีไรต์ในปีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จิดานันท์ยืนยันว่าตนให้ค่าซีไรต์สูง และคิดว่าทุกคนให้ค่าซีไรต์สูงจึงได้เป็นข่าวขนาดนี้

“แม้แต่คนที่วิพากษ์วิจารณ์ เป็นเพราะเขาให้ค่าซีไรต์สูง จึงอยากให้คุณภาพมันดี แต่ถามว่าซีไรต์ศักดิ์สิทธิ์จนวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้เลยไหม คิดว่าไม่ใช่ ทุกอย่างควรวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน แต่วิพากษ์วิจารณ์มีความหมายคนละแบบกับการด่าเอามัน

”นักเขียนไม่ต้องมีซีไรต์ก็เขียนหนังสือได้ แต่สำหรับวงการ ซีไรต์ก็มีประโยชน์ในแง่ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว บางคนบอกว่าทำให้หนังสือดังเล่มเดียว แต่เราคิดว่าถ้ามีข้อผิดพลาดอะไร ก็น่าจะหาทางแก้ไขกันŽ”

ส่วนความรู้สึกประสบความสำเร็จในเส้นทางการเขียน จิดานันท์ยังไม่สามารถตอบได้เพราะยังรู้สึก ใหม่Ž กับการคว้ารางวัลนี้ แต่น่าจะส่งผลกระทบในรูปแบบหนึ่ง

“ยังไม่ตกตะกอนความรู้สึกว่าได้ซีไรต์ ความรู้สึกว่าประสบความสำเร็จเลยยังไม่เกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่า ได้ซีไรต์ไม่ได้หมายความว่าประสบความสำเร็จ แต่เป็นคนตกตะกอนช้า ทำให้ไม่รู้ว่าตัวเองรู้สึกอะไร ช่วงนี้รู้สึกเครียด ปกติไม่ค่อยออกจากบ้านเลย แต่ตอนนี้ให้สัมภาษณ์วันละ 4 ที่ แต่พอคิดว่าหนังสือของอาตุ๊ (จตุพล บุญพรัด-บก.) ได้ซีไรต์ แล้วรู้สึกดีใจ เป็นคนไม่ค่อยให้ค่าตัวเอง แต่ดีใจกับคนอื่นŽ เธอกล่าวพร้อมยิ้มกว้าง”

แน่นอน หลังการได้รางวัลแล้วย่อมตามมาด้วยการวิจารณ์ โดยเฉพาะกับเธอที่อายุน้อยและเป็นหนึ่งในนักเขียนหญิงที่คว้าซีไรต์ในจำนวนไม่มากนัก

จิดานันท์กล่าวถึงเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์นั้นว่า อยากให้คิดภาพ “วรรณกรรม”Ž เป็นคนคนหนึ่ง ซึ่งจะเป็นหญิงหรือชายก็ได้ แต่คิดว่าเขาจะต้องเป็นคนที่ใจกว้างพอควร จะต้องไม่มีการพูดกีดกันว่าผู้หญิงหรือเด็กไม่ควรมายุ่งกับวรรณกรรม วรรณกรรมจะต้องเปิดกว้าง ไม่ควรจำกัดเพศ อายุ หรือเชื้อชาติใดๆ

ยอมรับว่าคำวิพากษ์วิจารณ์จำเป็นต้องเกิดขึ้น เมื่อเราอายุน้อยสุด ถ้าไม่มีเลยคงเป็นเรื่องแปลก แต่เมื่อเราเห็นบางอย่างแล้วปะทะมีจุดที่รู้สึกแย่ เพื่อนก็แนะนำว่าให้เลิกอ่าน แล้วก็คิดว่าไม่มีทางที่จะได้ซีไรต์โดยไม่ถูกวิจารณ์ เป็นสิ่งที่มาพร้อมกัน ไม่ว่ากังวลหรือไม่ เมื่อผลลัพธ์เหมือนกัน เราจะเลือกระหว่างทางที่ทำให้จิตใจปกติมากกว่า

”คนเรามองความสวยไม่เหมือนกัน ถ้าคุณคิดว่าสวยมันก็จะจริงในโลกของคุณ ถ้าเราคิดว่าไม่สวยมันก็จริงในโลกของเรา คนที่มองว่าเราไม่เหมาะสมสุดท้ายมันก็จริงในโลกของเขาอยู่ดี เขาอยู่กับความรู้สึกนั้นแล้ว มีคนอีกมากที่คิดว่าเราเหมาะสม และมันจริงในโลกของกรรมการŽ”

สำหรับการเขียนเรื่องสั้นใน สิงโตนอกคอกŽ เธอไม่ได้หวังจะเขียนงานเพื่อประกวดซีไรต์ แต่หวังว่าจะทำวรรณกรรมที่อ่านง่าย ต้องการเขียนงานให้เยาวชนตั้งแต่ 17-25 ปีอ่าน ซึ่งเป็นกลุ่มคนอ่านที่ติดตามผลงานของเธออยู่

“เมื่อเด็กอ่านแล้วจะได้กล้าไปอ่านเล่มอื่นที่เคยกลัว งานของรุ่นพี่นักเขียนท่านอื่นที่เก่งกว่าเรา อยากให้งานเป็นสะพานหรือทางเข้าสู่วรรณกรรมเล่มอื่น”Ž จิดานันท์กล่าว

นับเป็นอีกปีที่มีสีสันอย่างมากในรางวัลซีไรต์ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทุกคนสามารถหาคำตอบให้ตัวเองได้ด้วย ”การอ่านŽ”

แน่นอนว่านอกจากเล่มที่ได้รางวัลแล้ว หนังสือเล่มอื่นควรได้รับการพิสูจน์จากผู้อ่านเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image