คาด 7 โรคเจอแน่ปี 61 มี ‘4 โรค’ ต้องระวังทำป่วยพุ่ง! ‘ไข้หวัดใหญ่’ ติดโผระวังสุดเดือน มิ.ย.

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ที่กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.ธนรักษ์ ผลิตพัฒน์ รองอธิบดี คร.  และนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา ร่วมแถลงข่าว “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพปี 2561 “7 โรคเฝ้าระวังในปีหน้า”

นพ.สุวรรณชัย  กล่าวว่า   สำหรับการวิเคราะห์สถานการณ์โรคในระบบเฝ้าระวังต่างๆ ที่ผ่านมา  กรมควบคุมโรคใช้วิธีอนุกรมเวลา วิเคราะห์จำนวนและช่วงเวลาการเกิดโรคต่างๆ เพื่อคาดการณ์แนวโน้มของการเกิดโรค และนำมาพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญในปี 2561 เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ของโรคที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย   ซึ่งการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในปี 2561 มี 7 โรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคมือ เท้า ปาก โรคตาแดง โรคอาหารเป็นพิษ โรคไข้ฉี่หนู และโรคเมลิออยโดสิส โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ ที่คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงถึง 220,000 ราย

นพ.นคร กล่าวว่า โรคติดต่อที่สำคัญในปี 2561 มี 7 โรคสำคัญ ได้แก่  1.โรคไข้เลือดออก จากข้อมูลในปี 2560 พบผู้ป่วย 50,033 ราย เสียชีวิต 59 ราย คิดเป็นอัตราเสียชีวิต 0.09ต่อแสนประชากร  โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมาพบโรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนกันยายน สำหรับการพยากรณ์โรค ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ตลอดทั้งปีประมาณ 50,000 ราย ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา และจะมีแนวโน้มสูงขึ้นในเดือนมิถุนายน–กันยายน โดยจะพบผู้ป่วย 4,500–9,000 รายต่อเดือน  ส่วนการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยง โดยวิเคราะห์จากพื้นที่ที่ระบาดซ้ำซากใน 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าจะมีพื้นที่เสี่ยง 135 อำเภอ ใน 35 จังหวัดทั่วประเทศ อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา  ราชบุรี สุพรรณบุรี  ชลบุรี ระยอง  กระบี่ ภูเก็ต สงขลา พัทลุง กรุงเทพมหานครพบในทุกเขตพื้นที่ ทั้งนี้   ขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันกำจัดยุงลายตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้าน 2.เก็บขยะ และ 3.เก็บน้ำ เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา

2.โรคไข้หวัดใหญ่ จากข้อมูลในปี 2560 พบผู้ป่วย 189,870 ราย เสียชีวิต 54 ราย สำหรับการพยากรณ์โรค ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 220,000 ราย โดยจะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในฤดูฝน (มิถุนายน–ตุลาคม) ประมาณ 13,000-48,000 รายต่อเดือน  ส่วนจังหวัดที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงสูงมี 23 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดขนาดใหญ่และจังหวัดที่มีการเคลื่อนย้ายประชากรสูง ซึ่งประเมินความเสี่ยงรายจังหวัด โดยพิจารณาจากอัตราป่วยเฉลี่ย 3 ปีล่าสุด อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พิษณุโลก ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา จันทบุรี ระยอง นครราชสีมา กรุงเทพฯ เป็นต้น  ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนี้ 1.ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม 2.ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ  3.เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และ 4.หยุด คือ เมื่อป่วย ควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด

Advertisement

“สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์จะเปลี่ยนแปลงไป แต่ขอย้ำว่าไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ และไม่ได้รุนแรง โดยสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงนั้น ปกติจะมีการเปลี่ยนทุกปี เพียงแต่ว่ามากหรือน้อย ซึ่งในปีนี้สายพันธุ์ที่พบจะเป็น H1N1 2009 และสายพันธุ์ A ชนิดH3N2 ขณะที่ปลายปีเป็นสายพันธุ์B จึงทำให้คาดการณ์ว่าสายพันธุ์ B น่าจะมากขึ้นในปี 2561” นพ.นคร กล่าว และว่า สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้นเป็นการลดความรุนแรง แต่ไม่ได้ป้องกันโรค 100% จึงแนะนำกลุ่มเสี่ยงก่อน อาทิ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์   เด็กเล็ก 6 เดือนถึง2ปี และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งจะได้รับการฉีดวัคซีนฟรี

3.โรคมือ เท้า ปาก จากข้อมูลในปี 2560 พบผู้ป่วย 68,084 ราย เสียชีวิต 3 ราย การพยากรณ์โรค ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 94,000 ราย โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายน–กันยายน อาจมีผู้ป่วย 8,000–23,000 รายต่อเดือน  ซึ่งโรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย น้ำในตุ่มพอง และอุจจาระของผู้ป่วย ส่วนวิธีป้องกันคือรักษาความสะอาดร่างกาย หมั่นล้างมือบ่อยๆ และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน หากมีเด็กในสถานศึกษาป่วยโรคมือ เท้า ปาก ต้องแยกเด็กป่วยออก ให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน และพักอยู่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ

4.โรคตาแดง จากข้อมูลในปี 2560 พบผู้ป่วย 105,415 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต  การพยากรณ์โรค ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 146,000 ราย โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายน–กันยายน อาจมีผู้ป่วย 8,000–35,000 รายต่อเดือน  กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า โรคนี้ติดต่อกันง่ายจากการสัมผัสกับน้ำตา หรือติดจากการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกัน   หลังติดเชื้อประมาณ 1-2 วัน จะมีอาการระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล แสบตาเวลาถูกแสง มีขี้ตามากกว่าปกติ ผู้ที่เป็นโรคนี้ ขอให้ใช้กระดาษทิชชูเช็ดขี้ตา ขอให้ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ ไม่ควรขยี้ตา อย่าให้แมลงวันแมลงหวี่ตอมตา แยกของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าห่ม ผ้าขนหนู ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น

Advertisement

5.โรคอาหารเป็นพิษ จากข้อมูลในปี 2560 พบผู้ป่วย 101,000 ราย เสียชีวิต 3 ราย  จากจังหวัดมหาสารคามทุกราย การพยากรณ์โรค ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 100,000 ราย โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม–พฤษภาคม อาจมีผู้ป่วย 9,000–11,000 รายต่อเดือน  กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “สุก ร้อน สะอาด” โดยรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ และรักษาสุขอนามัย จะช่วยป้องกันโรคอาหารเป็นพิษได้  6.โรคไข้ฉี่หนู จากข้อมูลในปี 2560 พบผู้ป่วย 3,257 ราย เสียชีวิต 59 ราย โดยพบว่าภาคใต้จะมีจำนวนผู้ป่วยสูงในช่วงเดือนพฤศจิกายน–มกราคม ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีจำนวนผู้ป่วยสูงในช่วงเดือนมิถุนายน–กันยายน  การพยากรณ์โรค ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 5,000 ราย  ขอแนะนำประชาชนว่า ให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะ หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำหรือดินโดยตรง

นพ.นคร กล่าวอีกว่า และ 7.โรคเมลิออยโดสิส   จากข้อมูลในปี 2560 พบผู้ป่วย 3,140 ราย เสียชีวิต 68 ราย พบมากในช่วงฤดูฝนของทุกปี  สำหรับการพยากรณ์โรค ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 3,000 ราย โดยในช่วงฤดูฝนอาจมีผู้ป่วยประมาณ 200-300 รายต่อเดือน ทั้งนี้พบมากในเกษตรกร โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาเหตุมาจากการสัมผัสดินหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ เชื้อเข้าทางบาดแผล การสำลักหรือกลืนน้ำ หรือหายใจเอาละอองฝุ่นของดินที่มีเชื้อปนเปื้อน และด้วยเชื้อนี้เป็นเชื้อแบคทีเรียยังพบได้ในอาหาร  สำหรับคำแนะนำผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน และผู้ที่มีบาดแผลควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินหรือแหล่งนํ้า  เช่น ในนาข้าว  ประชาชนทั่วไป ควรสวมรองเท้าบู๊ท หรือหากจำเป็นต้องรีบทำความสะอาดหลังเสร็จงานทันที

นพ.ธนรักษ์  กล่าวว่า  สำหรับการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในปี 2561 มี 7 โรคที่สำคัญ แต่มี 4 โรคที่พบว่าผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น คือ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคตาแดง โรคมือเท้าปาก และโรคฉี่หนู อย่างโรคไข้หวัดใหญ่เดิมทีปี 2559 เคยพยากรณ์ไว้ว่าจะมีผู้ป่วย 3 แสนคน แต่ในปีนี้ซึ่งหากถึงเดือนธันวาคมน่าจะถึง 2 แสนคน แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจริงอาจมากกว่านี้ หากมีการรายงานตัวเลขเข้มข้นขึ้น ซึ่งสำหรับปีหน้าแม้จะพยากรณ์ว่าผู้ป่วยอาจอยู่ที่ 220,000 คน แต่ความเป็นจริงอาจไม่ถึงก็เป็นได้ ทั้งนี้ สำหรับการเฝ้าระวังสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่นั้น จะมีระบบในการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของเชื้อ ซึ่งทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเป็นผู้ให้ข้อมูลกับทางองค์การอนามัยโลกในทุกปี เพื่อตัดสินใจและประกาศว่าในแต่ละปีจะใช้เชื้อตัวใดในการผลิตวัคซีน ดังนั้น ในปี 2561 ยังต้องรอการประกาศอยู่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image