สุจิตต์ วงษ์เทศ : ดินแดนตำนาน ชุมนุมนิทานสนุกสบาย แม่สาย จ. เชียงราย

แม่น้ำแม่สาย (ภาพจาก http://th.wikipedia.org)

อ. แม่สาย จ. เชียงราย เป็นพื้นที่โยนก-ล้านนา (หมายถึง ไม่ไทย) เกี่ยวข้องพระเจ้าพรหม (หรือ พรหมราช) “วีรบุรุษในตำนาน” จึงไม่พบหลักฐานว่ามีตัวตนจริง

ชุมชนดั้งเดิมพบกระจัดกระจายในเขตแม่สาย และต่อเนื่องพื้นที่ใกล้เคียง ทำแนวยาวลงทางทิศใต้ ถึงลุ่มน้ำกก จ. เชียงราย กับลุ่มน้ำอิง จ. พะเยา เรียกรวมๆ ว่า  ลุ่มน้ำกก-อิงมีอายุไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว

ดอยตุง มีคำบอกเล่าเก่าแก่ว่าเป็นชุมชน ของปู่เจ้าลาวจก (บรรพชนพญามังราย) เป็นพวกลัวะ (ไม่ไทย) ในตระกูลภาษามอญ-เขมร ชำนาญถลุงเหล็ก ทำจอบเสียม “เฮ็ดไฮ่” ใช้ขุดดินเป็นรูหยอดเมล็ดพันธุ์ปลูกข้าวบนที่สูง จึงได้รับยกย่องเป็นผู้นำมีอำนาจ เมื่อหลายพันปีมาแล้ว

 

Advertisement

 แม่สาย

แม่สาย (กร่อนจากชื่อแม่น้ำ ว่า น้ำแม่สาย) หมายถึง ลำน้ำยาวเป็นเส้นทางไปมาหาสู่กันเหมือนถนนหนทาง

มีตัวอย่างเรียกแม่น้ำโขงอีกชื่อหนึ่งว่า น้ำแม่สายตา [พจนานุกรมล้านนา-ไทย (ตอนที่ 2) ฉบับแม่ฟ้าหลวง โดย ศ. อุดม รุ่งเรืองศรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2534 หน้า 1290]

Advertisement

“แม่” เป็นคำยกย่องน้ำและดิน เป็นเพศหญิง ในวัฒนธรรมอุษาคเนย์ ซึ่งไม่ต่างจากสากล

 

พระเจ้าพรหมกับขุนบรม

พระเจ้าพรหม เป็นวีรบุรุษในตำนานของกลุ่มไทยใหญ่ลุ่มน้ำคง (ในพม่า) ส่วนขุนบรม เป็นวีรบุรุษในตำนานของกลุ่มไทยน้อยลุ่มน้ำโขง (ในลาวและเวียดนาม)

คำว่า พรหม กับ บรม ใกล้กันมาก จนอาจเคยเป็นคำเดียวกันหรือเคยอยู่ใกล้ชิดกันมาก่อนในวัฒนธรรมลาว จึงถูกเรียกลาวพุงดำ (ไทยใหญ่) กับลาวพุงขาว (ไทยน้อย)

ไทยใหญ่-ไทยน้อย เป็นชื่อเรียกของไทยสยาม (ที่เรียกตัวเองกลุ่มแรกสุดว่า ไทย) ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

โดยเนื้อแท้แล้วไทยใหญ่-ไทยน้อย เป็นกลุ่มตระกูลภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท (ไม่ไทย) ที่เรียกตัวเองด้วยชื่อต่างๆ มีหลากหลายกลุ่ม (ซึ่งล้วนไม่ไทย เพราะไม่เรียกตัวเองว่าไทย)

พระเจ้าพรหม พบในตำนานสิงหนวัติกุมาร มีหลักแหล่งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำคง (ปัจจุบัน คือ แม่น้ำสาละวิน) ดินแดนพม่า

ขุนบรม พบในตำนานขุนบรม เป็นทายาทแถน มีหลักแหล่งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำโขง บริเวณเมืองแถง (ปัจจุบันคือ เมืองเดียนเบียนฟู) ดินแดนเวียดนาม

คำว่า คง กับ ของ ในชื่อแม่น้ำคง (แม่น้ำสาละวิน) กับ แม่น้ำของ (แม่น้ำโขง) น่าจะมีรากจากคำในภาษามอญว่า โคฺล้ง แปลว่า หนทาง, เส้นทาง ปัจจุบันไทยขอยืมมาใช้ว่า คลอง (ลำคลอง)

[คง เป็นคำลาวในตำนาน ใช้เรียกแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นคำพม่า แปลว่า ต้นตาล]

บุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นบรรพชนคนไทย แต่ยุคแรกเริ่มไม่ไทย ไม่ชนชาติไทย ไม่เชื้อชาติไทย (อย่างที่ถูกตีขลุมเหมารวมจากหนังสือของราชการ กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงศึกษาธิการ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image