บทความ เผด็จการของความ(ไม่)รู้ โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมทราบดีว่า เสรีภาพไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การดำเนินนโยบายสาธารณะในเมืองไทย แต่ในสมัยหนึ่ง ความรู้ที่ได้จากวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ก็ไม่เคยเป็นเกณฑ์การดำเนินนโยบายสาธารณะในเมืองไทยเหมือนกัน แต่ในปัจจุบัน ความรู้ดังกล่าวกลับกลายเป็นเกณฑ์สำคัญยิ่งขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งขาดไม่ได้เลยในการเสนอนโยบายสาธารณะจากทุกฝ่าย

ทั้งนี้เพราะความรู้เป็นทางมาของอำนาจ ในขณะที่เสรีภาพไม่ให้อำนาจแก่ใครเลย ซ้ำยังอาจลิดรอนอำนาจที่มีมาตามประเพณี หรือที่สถาปนาขึ้นด้วยกฎหมายเสียอีก

ผมเกริ่นมาข้างต้นเพราะจะพูดเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า แต่บุหรี่ไฟฟ้าก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญของเรื่องที่ผมจะพูด เพียงแต่อาจใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนดีของการดำเนินนโยบายสาธารณะที่ไม่ให้ความสำคัญแก่เสรีภาพ และหากเสรีภาพเป็นเกณฑ์สำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ นโยบายสาธารณะของบุหรี่ไฟฟ้าน่าจะเป็นอย่างไร

ผมไม่ทราบหรอกว่าฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิดในข้อถกเถียงที่อ้างงานวิจัยต่างประเทศ ระหว่างฝ่ายที่เห็นว่าควรห้ามบุหรี่ไฟฟ้าเด็ดขาด ขนาดมีไว้ในครอบครองก็ไม่ได้ กับฝ่ายที่ยืนยันว่า ยังไม่มีงานวิจัยใดที่ชี้ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อผู้ใช้มากไปกว่าบุหรี่ธรรมดา แต่ก็ยอมรับว่า ผลระยะยาวของการใช้บุหรี่ไฟฟ้านั้น ไม่มีใครรู้

Advertisement

ที่จริงความเห็นต่างเพียงเท่านี้ ตรวจสอบได้ไม่ยากนัก เสียแต่ว่ารัฐหรือหน่วยงานของรัฐไม่ตรวจสอบอย่างเป็นกลาง บุคลากรในหน่วยงานของรัฐ เช่น กรมควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข จะมีความเห็นอย่างไรก็ได้ แต่กรมควบคุมโรคยังไม่ควรมีความเห็นใดๆ จนกว่าจะได้ตรวจสอบอย่างดีแล้ว ถ้าหาบุคลากรที่เป็นกลางในหน่วยงานไม่ได้ ก็ต้องเชิญคนนอกมาร่วมตรวจสอบ

หรือจะให้สังคมเป็นฝ่ายตรวจสอบเองก็ได้ โดยจัดให้เกิดเวทีการแลกเปลี่ยนระหว่างความเห็นของสองฝ่าย เวทีในที่นี้ไม่จำเป็นต้องหมายความแต่เพียงวงโต้วาทีเท่านั้น แต่รวมถึงการทำให้ประเด็นสาธารณะถูกถกอย่างกว้างขวาง ด้วยวิธีต่างๆ อีกมาก

ปราศจากความพยายามค้นหา “ความรู้” เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าที่ยังมีอยู่จำกัดทั้งโลก นโยบายสาธารณะก็ถูกใช้บังคับไปแล้ว

Advertisement

แต่การห้ามขาดบุหรี่ไฟฟ้าคือการละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคล ไม่ใช่ว่าเสรีภาพส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่รัฐจะละเมิดไม่ได้เสียเลย แต่การละเมิดทุกครั้ง รัฐต้องเป็นฝ่ายที่สามารถพิสูจน์อย่างปราศจากข้อสงสัยได้ว่า การใช้เสรีภาพเช่นนั้นเป็นอันตรายต่อส่วนรวม หรือเป็นผลเสียอย่างร้ายแรงต่อผู้ใช้เสรีภาพนั้นเอง (ข้อหลังนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันด้วยว่า รัฐควรเป็นนายร่างกายของพลเมืองแค่ไหน ฆ่าตัวตายหรือเสพยาเสพติด เป็นเสรีภาพส่วนบุคคลบริบูรณ์หรือไม่ แต่ผมขอไม่อ้างข้อถกเถียงเหล่านี้ ยอมรับให้รัฐเป็นนายเหนือร่างกายพลเมืองได้ระดับหนึ่ง)

บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อส่วนรวมเท่ากับบุหรี่ธรรมดา ซึ่งมีกฎหมายห้ามไว้มากเกินพอดีอยู่แล้ว รัฐไม่ได้พิสูจน์แต่อย่างไรว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อส่วนรวมมากกว่าบุหรี่ธรรมดา ดังนั้นข้อห้ามบุหรี่ไฟฟ้าจึงจะเกินไปกว่าบุหรี่ธรรมดาไม่ได้

ส่วนอันตรายร้ายแรงต่อผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ก็อย่างที่มีผู้ถกเถียงคัดค้าน ยังไม่อาจพิสูจน์ได้อย่างสิ้นสงสัย หากเสรีภาพเป็นส่วนสำคัญของการวางนโยบายสาธารณะ รัฐย่อมไม่มีอำนาจจะห้ามขาดบุหรี่ไฟฟ้าอย่างที่ทำอยู่

รัฐอาจใช้งบประมาณแผ่นดินไปรณรงค์ให้เห็นความเสี่ยงของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งยังมองเห็นไม่ถนัดนักได้ เพราะยังไม่มีใครรู้ผลระยะยาวของการใช้บุหรี่ไฟฟ้า แต่ก็อาจมีความเสี่ยงอยู่ นอกจากนี้การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะคงต้องถูกจำกัด เท่าหรือเกือบเท่ากับที่บุหรี่ธรรมดาถูกจำกัด ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะมันมีชื่อคล้ายกัน แต่เพราะมันสร้างความรบกวนแก่ผู้อื่นได้เกือบเท่าๆ กัน รัฐต้องปกป้องคุ้มครองคนที่ไม่ต้องการเอาชีวิตไปเสี่ยงกับควันบุหรี่ แต่ในหมู่คนที่สมัครใจจะเอาชีวิตไปเสี่ยง รัฐก็ต้องระมัดระวังไม่ละเมิดเสรีภาพของเขาเกินไปกว่าการปกป้องสวัสดิภาพสาธารณะ

ถ้าเสรีภาพมีความสำคัญ การให้อำนาจรัฐในการละเมิดเสรีภาพด้วยความรู้ครึ่งๆ กลางๆ นั้นมีอันตรายอย่างมาก เพราะเท่ากับเปิดช่องให้รัฐละเมิดเสรีภาพ “ตามใจชอบ” ได้อย่างไร้ขีดจำกัด หากรัฐมีอำนาจเช่นนี้จะใช้ไปในทางใด จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ รัฐมักใช้ไปในทางฉ้อฉล นับตั้งแต่ฉ้อฉลอำนาจ, ฉ้อฉลสาธารณสมบัติ, และฉ้อฉลศีลธรรมทางสังคม

บทบาทของแพทย์ (และบุคลากรในวิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแขนง), องค์กรของแพทย์เช่นแพทยสมาคม, โรงเรียนแพทย์, ตลอดจนหน่วยงานในกำกับของแพทย์ เช่น โรงพยาบาลและองค์กรมหาชนด้านสุขภาพ ในระหว่างการเป่านกหวีดเชื้อเชิญให้ทหารยึดอำนาจของ กปปส. และหลังรัฐประหาร ดูจะชี้ให้เห็นความสัมพันธ์อันแนบแน่น และการสนับสนุนอย่างแข็งขัน ของบุคลากรด้านสุขภาพ ต่อรัฐที่เหยียดเสรีภาพลงเป็นส่วนเกินที่ไม่จำเป็นของชีวิต

เพราะในรัฐประเภทนี้เท่านั้น ที่ปล่อยให้เสรีภาพส่วนบุคคลถูกละเมิดได้ด้วย “ความรู้” ที่ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ความน่าเชื่อถือ

ถ้าพูดเฉพาะเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า คงไม่เป็นธรรมแก่บุคลากรทางการแพทย์นัก เพราะที่จริงแล้วนโยบายสาธารณะของไทยเกือบทุกเรื่อง ล้วนวางอยู่บนความรู้ที่ไม่ต้องพิสูจน์ทั้งสิ้น

ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ว่ารัฐไม่ควรเข้าไปแทรกแซงตลาด ไม่ใช่ความรู้ที่ได้พิสูจน์จนสิ้นสงสัยแล้ว ที่จริงเป็น “ความเห็น” ของสำนักทางวิชาการเศรษฐศาสตร์สำนักหนึ่งเท่านั้น มีสำนักอื่นๆ ที่เห็นเป็นตรงกันข้ามอีกหลายสำนักที่เห็นว่า การแทรกแซงของรัฐเป็นความจำเป็น ตั้งแต่แทรกแซงน้อยๆ เพียงให้เกิดระเบียบในตลาด ไปจนถึงแทรกแซงเต็มที่เพื่อให้เกิดผลที่เป็นธรรมแก่ส่วนรวม (ดังที่ Ha-Joon Chang กล่าวไว้ใน Economics: The User’s Guide)

แต่ทฤษฎีนี้ถูกเสนอในเมืองไทยประหนึ่งเป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เหมือนกฎแรงโน้มถ่วง

ทั้งหมดนี้ก็ล้วนเป็น “ความเห็น” เหมือนกัน Chang เห็นว่าการใช้ทฤษฎีเหล่านี้ ควรใช้อย่างผสมกัน เพื่อหวังผลที่ต่างกันในแต่ละสังคม ไม่ใช่ผลอย่างเดียวคือ “ความจำเริญทางเศรษฐกิจ” เท่านั้น และด้วยเหตุดังนั้น ระบอบการเมืองที่เปิดให้มีการต่อรองจึงมีความสำคัญ เพราะไม่มี “ผู้รู้” ใดสามารถกำกับการผสมที่พอดีสำหรับสังคมไทยได้ฝ่ายเดียว

ผมอยากสรุปว่า นโยบายเศรษฐกิจที่ดีที่สุดแก่สังคมใดก็ตาม เกิดขึ้นจากเสรีภาพที่ทุกฝ่ายได้มีโอกาสต่อรองกันอย่างเท่าเทียมทั้งนั้น ไม่ได้เกิดจากสำนักวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งใดแห่งหนึ่ง และไม่ได้เกิดจากสภาเศรษฐกิจที่รัฐแต่งตั้งขึ้นเองอย่างแน่นอน

“ความเห็น” ของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักก็ไม่ได้ผิดทั้งหมด เช่นเดียวกับ “ความเห็น” ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายร้ายแรงที่ยอมไม่ได้ก็ไม่ผิดเสียทั้งหมด แต่หากเสรีภาพเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของเกณฑ์การวางนโยบายสาธารณะ แทนที่จะบังคับกันด้วยกฎหมายหรืออำนาจรัฐประหาร ก็อาจใช้การรณรงค์แทน ซึ่งจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจำนวนมาก และเหตุผลที่ผู้ไม่เห็นด้วยต้องคิดตอบโต้อย่างรอบรู้เช่นเดียวกัน ผลของการโต้เถียงกันด้วยข้อมูลและเหตุผลเช่นนี้ ทำให้สังคมมีพลังในการกำหนดนโยบายสาธารณะได้จริง หากรัฐจะแทรกแซงตลาด ก็จะไม่แทรกแซงจนทำลายการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในตลาดไปเสีย หรือจะห้ามขาดบุหรี่ไฟฟ้า ก็มีข้อมูลที่ก้าวหน้าที่สุดรองรับอย่างพร้อมมูล

ถึงประชาชนถูกละเมิดเสรีภาพเหมือนกัน แต่ต่างก็ยอมรับว่าเสรีภาพเรื่องนี้มีอันตรายทั้งต่อส่วนตนและส่วนรวม จึงยอมระงับการใช้เสรีภาพนี้ด้วยความเต็มใจ

แต่เพราะเสรีภาพไม่เคยเป็นส่วนสำคัญในเกณฑ์การวางนโยบายสาธารณะ เราจึงปล่อยให้ผู้อ้าง “ความเห็น” เป็น “ความรู้” เข้าไปมีส่วนในการกำหนดนโยบายสาธารณะเหนือคนทั่วไป โดยคนอื่นต้องอุทิศเสรีภาพของตัวให้แก่ “ความเห็น” ในนามของความรู้เหล่านั้น

ถ้ายอมรับให้เสรีภาพเป็นส่วนหนึ่งในเกณฑ์ของกิจการสาธารณะ เราคงมีนโยบายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกอย่างหนึ่ง การจัดการน้ำทั้งระบบอีกอย่างหนึ่ง การรักษาป่าอีกอย่างหนึ่ง แรงงานข้ามชาติอีกอย่างหนึ่ง ฯลฯ ซึ่งจะสามารถรักษาสวัสดิภาพสาธารณะ, ทรัพยากรสาธารณะ, และความเป็นระเบียบสาธารณะไว้ได้ โดยไม่ทำความเดือดร้อนให้ผู้คนส่วนใหญ่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image