กอปศ.เล็งลดบทบาทสพฐ.ผุดร.ร.นิติบุคคล-สถาบันหลักสูตรฯ ดันกศน.อุ้ม 40 ล้านคนนอกระบบ

นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) เปิดเผยว่า ในปี 2561 คณะกรรมการอิสระฯ จะเดินหน้าเรื่องการจัดทำกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในหลายฉบับ ซึ่งเท่าที่ดูกฎหมายที่จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาได้ก่อน คือร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา ซึ่งได้มีการรับฟังความคิดเห็นและปรับแก้รายละเอียดต่าง ๆ เสร็จเกือบ100% แล้ว รอเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการอิสระฯต้นเดือนมกราคม 2561 หากไม่มีข้อขัดข้องคาดว่าจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาได้ภายในกลางเดือนมกราคม นอกจากนี้ยังมีร่างร่างพ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติ ร่างพ.ร.บ.โรงเรียนนิติบุคคล และที่สำคัญคือ ร่างแก้ไขพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ร่างแก้ไขพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ถือว่าเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญมากที่สุดเพราะจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาการจัดการศึกษาในหลายเรื่อง ทั้งคุณภาพการศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศและแก้ปัญหาธรรมาภิบาล

ประธานกอปศ. กล่าวต่อว่า ส่วนการปฏิรูปโครงสร้างนั้น คณะกรรมการอิสระฯ ไม่ได้มีแนวคิดจะปรับโครงสร้างศธ. แต่เป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาจะนำไปสู่การปรับโครงสร้าง สิ่งที่เห็นชัดและจำเป็นต้องปรับในเรื่องโครงสร้าง คือ เรื่องการศึกษานอกโรงเรียน ต้องปรับจากการศึกษาในโรงเรียนที่สอบตั้งแต่เด็กเล็ก การขั้นพื้นฐานไปถึงอุดมศึกษา ซึ่งมีคนอยู่ในระบบการศึกษาดังกล่าว ประมาณ 11 ล้านคน แต่ยังมีอีก 40 กว่าล้านคนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ที่ต้องให้คนเหล่านี้ได้มีโอกาสทางการศึกษา รวมถึงการศึกษาเพื่อยกระดับฝีมือแรงงาน การศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ และการศึกษาสำหรับผู้ที่หลุดออกนอกระบบการศึกษา ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่ดูแลการศึกษานอกระบบของศธ. คือ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.)ซึ่งเป็นหน่วยย่อยที่อยู่ในสำนักงานปลัดศธ. ดังนั้นจำเป็นต้องยกระดับกศน.ขึ้น ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้นยังไม่ได้ข้อสรุป

นพ.จรัส กล่าวต่ออีกว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นั้น จะมีขนาดเล็กลง ทั้งนี้คณะกรรมการอิสระฯ ไม่ได้มีแนวคิดจะไปลดขนาดของสพฐ. แต่การปรับลักษณะงานจะทำให้ภารกิจของสพฐ. ลดลง เช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะอนุกรรมการด้านการเรียนการสอน เสนอให้ปรับสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. ออกมาเป็น สถาบันหลักสูตรการเรียนการสอนและการเรียนรู้แห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลหลักสูตรการเรียนการสอนครอบคลุมทุกระดับการศึกษา ทั้งสพฐ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ กศน.ทั้งนี้คณะกรรมการอิสระฯ เห็นด้วยในหลักการที่จะมีการจัดตั้งสถาบันหลักสูตรฯ ดังกล่าว อีกทั้งเมื่อโรงเรียนมีอิสระเป็นนิติบุคคลมากขึ้น สพฐ.จะมีงานน้อยลง ภารกิจต่าง ๆ ก็จะลดน้อยลงไปด้วย ขณะเดียวกัน สอศ. เองก็จำเป็นต้องปรับ เพื่อให้เด็กที่เรียนอาชีวะเป็นแรงงานฝีมือชั้นสูง อย่างแรกที่ต้องปรับคือ สาขาวิชา ที่ต้องตรงกับความต้องการของประเทศ มีความทันสมัยตรงกับเทคโนโลยีในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

“ทั้งหมดนี้จะไปอยู่ในร่างแก้ไขพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่จะเป็นเหมือนธรรมนูญทางการศึกษาที่แปลย่อยมาจากรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปรูปครั้งนี้ไม่ใช่การปฏิรูปการศึกษาในระบบเท่านั้น เป็นการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ ต่างจากการปฏิรูปครั้งที่ผ่านมาคือ เราไม่ไปมุ่งที่เรื่องโครงสร้าง แต่เป็นการปฏิรูปจากตัวเด็กขึ้นมาเพื่อให้การจัดการศึกษาเกิดคุณภาพอย่างแท้จริง”นพ.จรัสกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image