ธรรมศาสตร์เปิดตัวหนังสือ ‘รัตนพจน์ธรรมราชา’ แปลพระราชดำรัส 10 ภาษา น้อมรำลึกในหลวง ร.9

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 26 ธันวาคม ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดงานแถลงข่าวและเสวนาเปิดตัวหนังสือ “รัตนพจน์ ธรรมราชา” หนังสือ 10 ภาษา รัตนมาลัยแห่งความจงรักภักดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการเปิดเผยถึงเนื้อหาของหนังสือซึ่งประกอบด้วยรัตนพจน์ 89 องค์จากพระปฐมบรมราชโองการ เมื่อพุทธศักราช 2489 รัตนพจน์จากพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ในปีสุดท้ายแห่งรัชกาล เมื่อ พ.ศ.2559 โดยแปลเป็นภาษาต่างประเทศรวม 10 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย เขมร จีน ญี่ปุ่น มลายู อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย สเปน สำหรับผู้แปลคือคณาจารย์คณะศิลปศาสตร์และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายในและนอกมหาวิทยาลัย เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9

ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า 70 ปีแห่งรัชสมัย แผ่นดินไทยร่มเย็นด้วยบุญญาบารมี พระองค์ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม ภาพความทรงจำของประชาชนชาวไทยที่มีต่อพระองค์คือภาพการเสด็จพระราชดำเนินไปยังท้องถิ่นทั่วไทย ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างยอดยิ่งดังปรากฏเป็นโครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการที่ทรงมุ่งมั่นพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน พระองค์ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสอันประกอบด้วยแนวพระราชดำริอันทรงคุณค่า เป็นแสงสว่างทางปัญญาสร้างขวัญกำลังใจในการดำเนินชีวิตแก่ประชาชน

Advertisement

“เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงจัดทำหนังสือรัตนพจน์ ธรรมราชา เพื่อเป็นรัตนมาลัยแห่งความจงรักที่ชาวธรรมศาสตร์ทั้งมวลถวายเป็นราชสักการะ หนังสือทรงคุณค่าเล่มนี้จะเผยแผ่รัตนพจน์ที่แสดงพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณอันยอดยิ่งแห่งธรรมราชา อันจะเป็นแบบอย่างทางคุณธรรมความประพฤติให้ชนทั้งหลายได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาประยุกต์ใช้ ดำเนินตามรอยพระยุคลบาท” ศาสตรจารย์ ดร.สมคิดกล่าว

รองศาสตราจารย์ ดร.ดำรงค์ อดุยลฤทธิกุล คณบดีคณะศิลปะศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กระบวนการแปลและจัดทำหนังสือมีความละเอียดประณีตทุกขั้นตอน ด้วยความอุทิศทุ่มเทของคณะทำงานและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งการคัดสรรอัญเชิญรัตนพจน์ การแปล การตรวจภาษาจากผู้เชี่ยวชาญเจ้าของภาษา การตรวจประเมินอย่างเข้มข้นจากผู้ทรงคุณวุฒิ การออกแบบภาพประกอบและรูปเล่มอย่างงดงาม สื่อความหมาย รวมทั้งการจัดพิมพ์ที่มุ่งให้ถูกต้อง งดงาม สมพระเกียรติในการจัดพิมพ์เผยแพร่

รศ. ดร.สุปาณี พัดทอง ประธานโครงการแปล ‘รัตนพจน์ธรรมราชา’ ผอ.บัณฑิตศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แนวคิดในการออกแบบหนังสือเล่มนี้คือการเทิดพระเกียรติแห่งธรรมราชาผู้ทรงพระคุณล้ำเลิศ ปรากฏในทุกอณูของหนังสือ อาทิ ปกสีน้ำตาลเข้ม คือ สีดินอันอุดมสมบูรณ์ สอดคล้องความหมาย ‘พลังของแผ่นดิน’ ของพระนาม ‘ภูมิพล’ ผู้พลิกฟื้นคืนชีวิตแก่ทุกธุลีดิน นำความอุดมสมบูรณ์ร่มเย็นเป็นสุขทั่วทั้งแผ่นดินทอง ซึ่งสื่อด้วยเส้นกรอบสีทอง ประกอบกับเครื่องหมาย ‘Infinity’ ที่แสดงคุณค่าของรัตนพจน์ อันเป็นนิรันดร์เหนือกาลเวลา

Advertisement

“เราไม่เพียงได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ในคณะ แต่ได้รับความร่มมือจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและนอกประเทศ ไม่น่าเชื่อว่าในหนึ่งปี สามารถทำหนังสือสิบภาษาได้อย่างสำเร็จเรียบร้อยประณีต ถ้าไม่ใช่พระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม จะสำเร็จไม่ได้ งานนี้เราร่วมมือทำจริงๆ ทำงานกัน 24 ชั่วโมง มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เนื่องจากการแปลต้องข้ามวัฒนธรรม งานนี้เริ่มจากความจงรักภักดีโดยต้องการทำหนังสือให้เป็นรัตนมาลัยถวายเป็นราชสักการะในฐานะส่วนหนึ่งของพสกนิกรชาวไทย เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่คิดจะทำอะไรก็สำเร็จทุกอย่าง เราได้เกิดความแตกฉานทางวิชาการ ได้พัฒนาศักยภาพการแปล ซึ่งเกิดไม่ได้ง่ายดาย” รศ.ดร.สุปาณี กล่าว


จากนั้น เป็นการเสวนาเรื่อง ‘รัตนพจน์ธรรมราชา : คุณค่าและศิลปะการแปล’ โดยผู้แทนคณะนักแปล กองบรรณาธิการ และคณะกรรมการโครงการฯ

ดร.สิทธิธรรม อ่องวุฒิวัฒน์ ผู้คัดเลือกพระราชดำรัส กล่าวว่า พระราชดำรัสและพระบรมราชโองการทุกองค์มีคุณค่าทั้งหมด การคัดเลือกพระราชดำรัส คณะทำงานจึงรู้สึกลำบากใจมาก อย่างไรก็ตาม ได้เลือกองค์ที่มีคุณค่าโดดเด่น

อ.เยาวลักษณ์ อยู่เจริญสุข ผู้แปลภาษาเขมร กล่าวว่างานชิ้นนี้จะเป็นงานที่มีการถ่ายทอดสิ่งสำคัญที่สุดของคนไทยไปสู่ภาษาอื่นๆ การแปลเป็นภาษาเขมรจะช่วยถ่ายทอดความรู้และความคิดออกไปยังเพื่อนบ้าน โชคดีว่าภาษาเขมรและภาษาไทย มีโครงสร้างประโยคใกล้เคียงกัน เราต่างมีราชาศัพท์และวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน จึงประสบปัญหาในการแปลน้อยที่สุด ในขณะที่ภาษาอื่นอาจประสบปัญหาว่าจะใช้คำอย่างไร อย่างไรก็ตาม มีสิ่งต้องระวัง เช่น สรรพนาม คำว่าเรา คำเดียว มีหลายคำที่จะเลือกให้เหมาะสม สอดคล้องกัน

ดร.ชัยวัฒน์ มีสัณฐาน ผู้แปลภาษามลายู กล่าวว่า ในส่วนของภาษามลายู ตนพยายามหาคณะแปล แต่ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดภาคใต้ จึงตัดสินใจแปลเองก่อน โดยแปลวันละ 3 องค์ทุกวันราว 1 เดือน ปัญหาคือ หลังจากนั้นการตรวจต้องใช้เวลามาก บางท่านไม่สะดวกอ่านอีเมล์ จึงต้องปริ้นท์ส่งไปรษณีย์ บางคำ กรรมการแต่ละท่านเลือกใช้ศัพท์คนละคำ บางครั้งเพียงประโยคเดียวปรึกษากันหลายชั่วโมง ด้วยวัฒนธรรมของภาษามลายู เช่น คำว่า รัตนพจน์ คือ อัญมณี แต่ถ้าแปลตรงตัวเป็น ‘เพชรของคำพูด’ จะไม่มีในเซ็นส์ของภาษามลายู สุดท้ายจึงใช้คำว่า ‘มุก’ แทน เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ทางเวปไซต์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ http://arts.tu.ac.th/
ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นไป สอบถามโทร. 02-613-2695

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image