09.00 INDEX “นาฬิกา” หรู และ “คำสั่งหัวหน้าคสช.” กับ “คำวินิจฉัย” ของ “องค์กรอิสระ”

หากกรณีนาฬิกาหรูในข้อมือของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะพิสูจน์บทบาทและความหมายของ ป.ป.ช.

ว่ายึดกุม “นิติธรรม” มากน้อยเพียงใด

กรณีคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 53/2560 ก็กำลังจะพิสูจน์บท บาทและความหมายของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” มากเพียงนั้น

เพราะคำสั่งนี้สัมพันธ์ 2 ส่วนที่สำคัญ

Advertisement

1 สัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อันผ่านการลงประชามติของประชาชนมาแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2559

1 สัมพันธ์กับมาตรา 44 อันมากับ”รัฐประหาร”

ป.ป.ช.ถือได้ว่าเป็นองค์กรอิสระด้านปราบปรามการทุจริตและคอรัปชั่น ศาลรัฐธรรมนูญถือได้ว่าต้องยึด”รัฐธรรมนูญนิยม”

Advertisement

นี่คือ “โจทย์”อันแหลมคมยิ่งทางการเมือง 

มีความรู้สึกต่อสถานะและการดำรงอยู่ขององค์กรอิสระไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วาทกรรม”ตุลาการภิวัฒน์” เกิดขึ้นและดำรงอยู่โดยเฉพาะในห้วงหลัง “รัฐประหาร”

ไม่ว่าจะเป็นหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

นั่นก็คือ กระบวนการวินิจฉัยที่ส่อแนวโน้ม”เอนเอียง”

ประเด็นจึงมิได้อยู่ที่ว่าทิศทางของคำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร หากแต่อยู่ที่เหตุผลและการอ้างอิงภายในคำวินิจฉัยนั้นมากกว่าไม่ว่าจะในเรื่องของ “นาฬิกา” หรู

ไม่ว่าจะในเรื่องของ “คำสั่งหัวหน้าคสช.”อันสัมพันธ์ระหว่าง รัฐธรรมนูญ กับ มาตรา 44

การออกโรงของพรรคการเมืองไม่ว่าจะมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะมาจากพรรคเพื่อไทย เหมือนกับรู้ “คำวินิจฉัย” อยู่แล้ว

ไม่ว่าท่าทีต่อ “นาฬิกา” หรู

ไม่ว่าท่าทีต่อ “คำสั่งหัวหน้าคสช.”

แต่พวกเขาต้องการทดสอบ ท่าทีและกระบวนการการผลิตสร้างคำวินิจฉัยของ “องค์กรอิสระ”

ว่าดำเนินไปตาม “หลักกฎหมาย” ว่าดำเนินบนพื้นฐานแห่งหลัก “ธรรมาภิบาล” มากน้อยเพียงใด อย่างไร

โดยมี “คสช.” ดำรงอยู่ในสถานะ”จำเลย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image