จาก ‘แม่ฮ่องสอน-พังงา’ กวีเหยียด-บิ๊กสื่อฉาว ปีที่ ‘น้ำตาผู้หญิง’ ไหลนอง

แฟ้มภาพ

ปีนี้ความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นตลอด เป็นข่าวก็มาก ไม่เป็นข่าวก็อีกแยะ เรื่องร้ายแรงสุดคือ การฆ่าข่มขืนผู้หญิงและเด็ก รองลงมาเป็นการทำร้าย กระทำอนาจาร ตลอดจนการกระทำอื่นๆ ที่เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามเพศหญิง

จริงๆ ความรุนแรงทางเพศไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่เกิดขึ้นมาตลอด สะท้อนสถิติที่รวบรวมจากหน่วยงานต่างๆ และข่าวดังตลอดทั้งปี 2559 ดังนี้

ค้ากามเยาวชน จ.แม่ฮ่องสอน

Advertisement

จัดเป็นคดีดังระดับประเทศ เพราะสะเทือนแวดวงราชการต่างๆ ไม่ว่าจะบิ๊กระดับจังหวัด อบต. รวมถึงบิ๊กสีกากีที่ไปใช้บริการค้าประเวณีเด็ก ภายหลังแม่ผู้เสียหายเข้าร้องต่อสื่อมวลชน ที่ลูกสาวถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.น้ำเพียงดิน จ.แม่ฮ่องสอน บังคับให้ค้าประเวณีให้กับผู้ใหญ่ในจังหวัด เรื่องราวก็ลุกลามใหญ่โต ทีมสืบสวนเริ่มต่อจิ๊กซอว์พบผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ปรากฏเป็นข่าวที่บิ๊กข้าราชการอาจต้องรับผิดด้วย

ต่อมาเริ่มมีการใช้เครื่องจับเท็จกับผู้เสียหาย เป็นเหตุให้กลุ่มองค์กรสตรีที่ร่วมสังเกตการณ์ออกมาเรียกร้องให้ใช้กับผู้กระทำมากกว่า รวมถึงเรียกร้องให้ภาคราชการเลิกวัฒนธรรมเลี้ยงดูปูเสื่อ วัฒนธรรมจัดเด็กต้อนรับนายใหม่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการคอร์รัปชั่น รวมถึงเลิกอ้างวาทกรรมเด็กยินยอมเพื่อลดน้ำหนักของรูปคดี

ล่าสุด ในช่วงปลายปี กลุ่มองค์กรสตรีก็ออกมาเคลื่อนไหว พร้อมไปยื่นหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด ขอให้ทบทวนคำสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าวของอัยการแม่ฮ่องสอน อีกทั้งยังเปิดเอกสารหลักฐาน ซึ่งเป็นคำให้การรับสารภาพของนายตำรวจ 3 คน ซื้อบริการทางเพศเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี เพื่อยืนยันว่าเรื่องนี้ผิดกฎหมายจริงๆ

ชัยชนะ “น.ศ.มธ.” เอาผิดรุ่นพี่ล่วงละเมิด

ธารารัตน์ ปัญญา

การคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องส่วนตัว นำมาซึ่งการปรากฏตัวอย่างท้าทายครั้งแรกของ “ธารารัตน์ ปัญญา” นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กล้าออกมาพูดและเรียกร้องความเป็นธรรม หลังถูกรุ่นพี่คณะเดียวกันข่มขืนตามนิยามกฎหมายใหม่ ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ธารารัตน์ได้โพสต์เรื่องราวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกิดเป็นกระแสมากมาย จากนั้นเธอไปยื่นเรื่องร้องกับมหาวิทยาลัย จนสามารถเอาผิดทางวินัยรุ่นพี่คนดังกล่าวได้สำเร็จ แต่กว่าจะผ่านมาได้ธารารัตน์ยอมรับว่า

“ต้องเจอกับแรงเสียดทาน สารพัดคำถาม จากคนรอบตัวและสังคมที่มีทรรศนะคดีชายเป็นใหญ่ และสำคัญไปกว่านั้นคือ ได้รับรู้เรื่องราวของรุ่นพี่ที่เผชิญชะตากรรมเดียวกัน แต่เลือกจะเก็บตราบาปไว้ในใจเพียงผู้เดียว ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยเลย”

 

ข่มขืนเด็กหญิง จ.พังงา

เป็นคดีที่ให้คนไทยหวนคิดไปถึงคดีข่มขืนปี 2520 ที่อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ภายหลังแม่เด็กหญิงเข้าร้องทุกข์กับ สภ.โคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ว่าลูกสาว อายุ 15 ปี ถูกกระทำชำเราจากผู้ชายในหมู่บ้านประมาณ 40 คน โดยจะพูดจาข่มขู่หากไม่ยอมจะทำร้ายครอบครัว ขณะที่ชาวชุมชนก็ออกมาต่อว่าแม่และเด็กดังกล่าว โดยมองว่าเป็นการกุข่าวขึ้นมาเพื่อหาผลประโยชน์ จนเรื่องค่อยๆ เงียบหายไป ปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการรวบรวมข้อมูล พยานหลักฐานต่างๆ

จากเหตุการณ์ดังกล่าว องค์กรด้านสิทธิเด็กและเยาวชนก็ออกมาจัดเสวนาต่อต้านการข่มขืนและเปิดสถิติถึงภัยข่มขืน ซึ่งพบว่าผู้กระทำส่วนใหญ่มักมาจากคนใกล้ชิด คุ้นเคย ส่วนปัจจัยกระตุ้นให้ก่อเหตุมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติด

 

ศิลปินแห่งชาติเหยียดเพศหญิง

ภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มาตามนัดฟังคำพิพากษาคดีจำนำข้าว เรื่องราวต่างๆ ก็เกิดขึ้น แต่ก็คงไม่มีเรื่องไหนจะรุนแรงเท่าไปกว่ากลอน “คดีหู” ของ “ไพฑูรย์ ธัญญา” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2559 ที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ภายหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นคำผวนที่มีเนื้อหาหยาบและสื่อถึงการเหยียดเพศ

จนกวีนักเขียน นักวิชาการ 100 คน ต้องออกมาร่วมกันประณามกลอนดังกล่าว และถึงขั้นลงชื่อขอถอดถอนศิลปินแห่งชาติรายนี้ผ่านเว็บไซต์ Change.org เพื่อเสนอต่อกระทรวงวัฒนธรรม

ทว่า ก็ไม่ได้สัมฤทธิผล

“บิ๊กสื่อ” คุกคาม”ลูกจ้าง”

ภายหลังมีการแฉผ่านเพจเฟซบุ๊กหนึ่งว่า มีผู้บริหารสำนักข่าวแห่งหนึ่งคุกคามทางเพศผู้หญิงในที่ทำงาน ทำให้เจ้าตัวไม่ขอทำงานที่ดังกล่าวอีก เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมายทั้งในวงการสื่อและในสังคม ใช้เวลาอยู่สักพักกว่าสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจะตั้งกรรมการสืบข้อเท็จจริง แต่พบอุปสรรคที่นักข่าวหญิงที่ถูกกระทำไม่ยอมเปิดเผยตัวตน ขณะที่บิ๊กสื่อก็ให้ทนายความออกมาแจ้งว่าสมาคมนักข่าวฯไม่มีอำนาจสืบสวนเรื่องนี้ เพราะไม่มีข้อบังคับ ไม่มีผู้ร้อง และหลักฐาน

ภายหลังองค์กรสตรีก็ออกมาเรียกร้องและสนับสนุนให้ผู้เสียหายลุกขึ้นออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม และขอให้บิ๊กสื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ มิฉะนั้นสื่อดังกล่าวคงหมดความชอบธรรมในการทำหน้าที่ตรวจสอบคนอื่น กระทั่งสมาคมนักข่าวฯได้ใช้อำนาจตามข้อบังคับตั้งคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งปัจจุบันกำลังรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องอยู่

 

ความรุนแรงทางเพศสถิติสูงขึ้น!

หลายหน่วยงานพยายามจัดเก็บข้อมูลความรุนแรงทางเพศ แม้จะยังไม่เชื่อมโยงเป็นระบบเดียวกันทั้งหมด แต่ทุกสถิติก็สะท้อนถึงแนวโน้มที่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำ

เริ่มที่สถิติเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ของโครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปรียบเทียบในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2555 มีผู้ถูกกระทำความรุนแรง 901 ราย, ปี 2556 มี 881 ราย, ปี 2557 มี 542 ราย, ปี 2558 มี 712 ราย, ปี 2559 มี 702 ราย และปี 2560 มี 779 ราย

ขณะที่ข้อมูลศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าผู้กระทำความรุนแรง คือ “คนใกล้ตัว” โดยข้อมูลในรอบ 6 ปี (2555-2560) พบว่า เด็กผู้หญิงถูกกระทำ 22,706 คน ส่วนใหญ่เป็นช่วงอายุ 10-15 ปี ถูกกระทำทางเพศมากที่สุด 18,505 ราย ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นแฟน โดยมีบ้านผู้กระทำเป็นสถานที่เกิดเหตุ ส่วนผู้หญิงช่วงอายุ 25-45 ปี ถูกกระทำทางเพศ 30,734 ราย ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นคู่สมรส โดยมีบ้านตัวเองเป็นสถานที่เกิดเหตุ

ปีนี้ยังเป็นครั้งแรกของการเปิดผลสำรวจสถานการณ์การคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพฯ ปี 2560 ของโครงการรณรงค์เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ซึ่งสำรวจผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพฯทั้งหมด 1,654 คน พบว่าร้อยละ 35 ของผู้ตอบแบบสำรวจ ระบุว่า เคยถูกคุกคามทางเพศขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะ โดยผู้หญิงตกเป็นเป้าของการคุกคามทางเพศมากที่สุด

ส่วนของลักษณะพฤติกรรมการคุกคามทางเพศที่ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะพบเจอมากที่สุด ได้แก่ ลวนลามด้วยสายตา เช่น มองช้อนใต้กระโปรง มองหน้าอก รองลงมาคือตั้งใจเบียดชิด แต๊ะอั๋ง ลูบคลำ ส่วนประเภทของขนส่งสาธารณะที่พบการคุกคามทางเพศมากที่สุด ได้แก่ รถเมล์ รองลงมาคือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถแท็กซี่ รถตู้ และรถไฟฟ้าบีทีเอส

 

สังคมไทยร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหา

ด้วยเป็นปีที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นมากจนน่าตกใจ เป็นวาระที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น และเชื่อว่าทุกคนในสังคมไทยก็คงไม่อยากเห็นข่าวอันน่าสลดหดหู่นี้ตามสื่อต่างๆ อีกต่อไป สิ่งที่จะช่วยได้ คือ สังคมไทยต้องตระหนักรู้และช่วยกันแก้ไขปัญหา

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เล่าว่า รากลึกความรุนแรงทางเพศมาจากวิธีคิดชายเป็นใหญ่ วิธีคิดนี้ถือเป็นปัญหามาก อย่างที่ผ่านมาผู้ชายมักถูกปลูกฝังเวลามีความต้องการทางเพศ ก็ให้ไปสถานบริการทางเพศได้เลย แต่เราไม่เคยสอนให้ผู้ชายยับยั้งชั่งใจ

ฉะนั้น แนะนำ 3 แนวทางที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือ 1.จากนี้เวลามีลูกหลานผู้ชายเกิดในบ้าน เราต้องช่วยปลูกฝังให้เขาเคารพเพศอื่นๆ รู้จักสิทธิเนื้อตัวร่างกาย 2.เราต้องมาร่วมกันสนับสนุนผู้เสียหายความรุนแรงทางเพศให้ลุกขึ้นเรียกร้องความยุติธรรม โดยที่เราจะไม่ไปกระทำซ้ำ อาทิ ถามผู้เสียหายว่าทำไมถึงถูกข่มขืน แต่งตัวโป๊ไหม ไปเดินที่เปลี่ยวทำไม จนทำให้ผู้เสียหายรู้สึกผิดที่นำพาตัวเองไปสู่อันตราย 3.เราต้องช่วยกันรณรงค์ยุติความรุนแรง หากพบเห็นการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก ผู้หญิง เราต้องช่วยกัน หรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าแก้ไขปัญหา

นอกจากต้นตอปัญหาความรุนแรงทางเพศคือ วิธีคิดชายเป็นใหญ่ ก็ยังมีอุปสรรคจากกระบวนการยุติธรรม ซึ่งส่งผลให้ผู้เสียหายคดีความรุนแรงทางเพศไม่เคยหมดไป และไม่มีท่าทีว่าลดลงเสียที

จะเด็จ เชาวน์วิไล

นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม เล่าว่า ที่น่าห่วงของผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ พบว่าร้อยละ 40 ไม่มีการดำเนินคดี ส่วนหนึ่งเพราะต้นทางอย่างตำรวจ พยายามไกล่เกลี่ยให้ยอมความ ซึ่งเมื่อกระบวนการต้นทางถูกปิดตาย ก็เป็นว่าผู้ทำผิดก็ไม่ต้องถูกดำเนินคดี จึงย่ามใจทำซ้ำ ยิ่งคนมีชื่อเสียงหรือมีสถานะทางสังคม ก็วิ่งเต้นมีคนมาช่วยเหลือให้พ้นผิดได้ง่าย นี่จึงเป็นที่มาของคำถามสังคมว่าทำไมปัญหาความรุนแรงทางเพศไม่ลดลงลงเสียที

“จากการคลุกคลีช่วยเหลือผู้เสียหาย พวกเขาอยากเห็นหน่วยบริการที่เป็นมิตรเป็นธรรม มีห้องสอบสวนเฉพาะ มีพนักงานสอบสวนหญิงที่มีศักยภาพ อำนวยความสะดวกให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ตลอดจนปฏิรูปกลไกเพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น และลดข้อจำกัดที่ทำให้ผู้เสียหายเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม”

ความรุนแรงทางเพศไม่เพียงแต่ละมีเรื่องข่มขืนเท่านั้น ยังหมายรวมการลวนลามอนาจาร ซึ่งนับวันจะเกิดขึ้นมากในสังคมไทย

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า เหตุการณ์การลวนลามหรือคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ เป็นปัญหาที่ผู้ใช้บริการจำนวนมากพบเจอซ้ำๆ เพียงแต่ไม่เป็นข่าว ซึ่งเมื่อถูกกระทำแล้ว หลายคนถึงกับต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปเลย เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกคุกคามซ้ำ

“ปัญหานี้แก้ไขได้ หากคนรอบข้างเข้าไปช่วยเผือกหรือช่วยเหลือ ซึ่งจะทำให้ผู้ประสบเหตุหลุดพ้นจากสถานการณ์การถูกคุกคามได้มาก โดยมีวิธีการเผือกที่คนรอบข้างสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การทำทีเข้าไปชวนผู้ที่ถูกคุกคามพูดคุย หรือชวนให้ขยับหาที่นั่งหรือที่ยืนในจุดอื่น และการพูดเสียงดังบอกให้ผู้คุกคามหยุดการกระทำ เป็นต้น เพราะการไม่นิ่งเฉยของพวกเรา จะช่วยสร้างความปลอดภัยในการเดินทางในเมืองใหญ่แห่งนี้ได้” ดร.วราภรณ์เล่า

วราภรณ์ แช่มสนิท

ร่วมยุติความรุนแรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image