งานวิจัยชี้‘ลานเบียร์’ย่อยผุดรับนักดื่ม ม.ปลาย ชงตำรวจเมาแล้วขับสาวถึงร้านขาย

วันที่ 28 ธันวาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น น.ส.ศรีรัช ลาภใหญ่ ลอยสมุทร อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะเครือข่ายนักวิชาการเฝ้าระวังปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวในการเสวนา “มองรอบด้าน…ลานเบียร์กับสังคมไทย” ว่า จากการศึกษาผลกระทบที่เกิดจากลานเบียร์และกลยุทธ์ประเภทดื่มไม่อั้นของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งแต่ปี 2558-ปัจจุบัน ในกลุ่มนักเรียนมัธยมปลาย และนักศึกษามหาวิทยาลัย 2,498 คน พบว่านักเรียน มัธยมศึกษาตอนปลาย 1 ใน 3 หรือร้อยละ 34 เคยไปลานเบียร์ ร้อยละ 80.1 ดื่มเดือนละ 2-3 ครั้ง และพบว่า มีพฤติกรรมการดื่มเป็นกลุ่มๆ สังสรรค์อาทิตย์เว้นอาทิตย์ วันเกิด ปีใหม่ และมีความเชื่อผิดๆว่าดื่มแล้ว ทำให้สนิทกันมากขึ้น ร้อยละ 37.2 และเชื่อว่าดื่มแล้วจะทำให้คลายเครียดร้อยละ 53.4 อีกทั้งยังพบว่าเด็กมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าถึงการดื่มง่าย เพราะหาซื้อง่าย โดยร้อยละ 35.7 มีขายรอบโรงเรียน และร้อยละ 29.8 หา ดื่มในร้านอาหาร

น.ส.ศรีรัช กล่าวว่า อย่างไรก็ตามการเข้าถึงการดื่มของเด็กมัธยม มักไปดื่มที่ลานเบียร์ย่อยๆ แทนลานเบียร์ใหญ่เพราะไม่มีการตรวจบัตร ประกอบกับปัจจุบันลานเบียร์เปิดตามงานเทศกาลอาหาร เปิดโอกาสให้เด็กเข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม แต่อย่างไรก็ตามเด็กมัธยมก็ยังต้องการไปลานเบียร์ใหญ่ๆ ถึงร้อยละ 80.2 ส่วนผลกระทบจากการดื่มพบว่าร้อยละ 45.5 เมา ร้อยละ 44.9 เสียเงินมากกว่าที่คิด ร้อยละ 3.4 ทะเลาะวิวาท ร้อยละ 1.7 เกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะมอเตอร์ไซต์ และร้อยละ 4.5 ถูกพ่อแม่ต่อว่า ส่วนนักศึกษามหาวิทยาลัยพฤติกรรมและเหตุผลคล้ายกับเด็กมัธยม แต่ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของเด็กมัธยม โดยพบว่าเมื่อมีเปิดลานเบียร์จะไปติดกันมากว่า 2 คืน และเป็นลานเบียร์ขนาดใหญ่เพราะอายุถึงเข้าได้ ที่สำคัญดื่มมากกว่าเด็กมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 เท่า ค่าใช้จ่าย 2-3 พันบาท สูงกว่านักเรียนม.ปลายอย่างน้อย 3 เท่า รายจ่ายของกลุ่มนี้เท่ากับ 1 ใน 4 ของรายได้ของครอบครัว ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ก็มาจากที่บ้าน

ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ปกติร้านเหล้าผับบาร์ก็มีคนเข้ามีคนดื่มจนคนเมาเยอะอยู่แล้ว แต่ปีใหม่นี้มีลานเบียร์ซึ่งเหมือนธุรกิจสีเทาเพิ่มเข้ามาอีก ยิ่งซ้ำเติมปัญหาเมาแล้วขับขึ้นอีก ดังนั้นขอเสนอวาปัญหาที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ต้องให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งเคยเสนอไปที่ตำรวจแล้ว นอกจากนี้กรณีเมาแล้วขับที่ตรวจพบปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ควรตามไปให้ถึงร้านเหล้าหรือลานเบียร์ที่ขายให้ด้วย เพราะเข้าข่ายขายให้คนเมาครองสติไม่ได้ โดยไม่ต้องตีความ ซึ่งบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หากทำเรื่องนี้ได้จริงเชื่อว่าปัญหาคนเมาแล้วขับมาจากร้านเหล้าลานเบียร์จะลดลง คนขายเหล้าเบียร์จะระมัดระวังและทำตามกฎหมายมากขึ้น

ด้าน นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามองค์ประกอบแล้วลานเบียร์ถือว่าผิด เพราะไม่ต่างจากการส่งเสริมการขาย ทำการตลาด อาจยังเข้าข่ายความผิดโดยสภาพ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งต้องตรวจสอบทั้งการจัดตั้งจุดจำหน่าย สถานที่ขายให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ขายให้คนเมาครองสติไม่ได้มีการจัดโชว์ตราสัญลักษณ์ และจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายหรือไม่ ซึ่งจากการลงพื้นที่ พบว่าละเมิดมาตรา 32 มากที่สุด ฐานความผิดโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 5 แสนบาท ปรับรายวัน 5 หมื่นบาทจนกว่าจะปฏิบัติถูกต้อง ทั้งนี้ในช่วงปีใหม่ ทางสำนักจะร่วมกับตำรวจและภาคีเครือข่ายในการตรวจสอบเรื่องนี้ไม่ให้ทำผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด

Advertisement

“ที่ผ่านมาจากการตรวจลานเบียร์ พบว่าการกระทำผิดหลักๆ มีอยู่ 3 ประเด็นคือ ผิดเรื่องการจัดโปรโมชั่น ส่งเสริมการขาย ลดแ แลก แจกแถม ผิดมาตรา 30 ผิดโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการตลาด มาตรา 32 และผิดจำหน่ายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ตามมาตรา 29 ดังนั้นลานเบียร์จึงเข้าข่ายเป็นการสื่อสารการตลาดที่ผิดตามพ.ร.บ.อย่างชัดเจน” นพ.นิพนธ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image