Cloud Lovers : ฟ้าลายปลาแมคเคอเรล & เมฆลอนคลื่น : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

คุณผู้อ่านคงเคยเห็นเมฆที่เป็นลอนๆ ลักษณะแบบนี้เรียกว่า อันดูเลตัส (undulatus) จัดเป็นพันธุ์ (variety) แบบหนึ่ง คำว่า undulatus เป็นภาษาละติน แปลว่าเป็นคลื่น (waved) มาจากคำว่า unda แปลว่าคลื่น ในภาษาอังกฤษมีคำว่า inundation แปลว่าน้ำท่วม หรือการที่มีอะไรมากมาย “ท่วม” ท้น ดูดีๆ ก็จะเห็น “คลื่น” หรือ “unda” ซ่อนอยู่

เมฆลอนคลื่นเกิดในเมฆ 6 สกุล ไล่ไปทีละสกุลตามภาพ ดังนี้ครับ

เริ่มจากเมฆระดับต่ำกันก่อน ภาพที่ 1 คือ สเตรโตคิวมูลัส อันดูเลตัส (Stratocumulus undulatus) เนื่องจากเป็นเมฆระดับต่ำ ดังนั้น เมฆนี้จึงอยู่ค่อนข้างใกล้พื้น ทำให้เราเห็นลอนมีขนาดใหญ่

Advertisement

ภาพที่ 1 : Stratocumulus undulatus
ภาพ : สุรศักดิ์_พงษ์ศรีเจริญสุข

ภาพที่ 2 คือ สเตรตัส อันดูเลตัส (Stratus undulatus) ซึ่งเป็นภาพหาชมยาก เนื่องจากเกิดไม่บ่อยนัก ตามปกติสเตรตัส อันดูเลตัส มักจะดูยาก เพราะเมฆสเตรตัสมีลักษณะเป็นฝ้าๆ คล้ายหมอก ทำให้เห็นลอนคลื่นไม่เด่นชัดนัก

Advertisement

ภาพที่ 2 : Stratus undulatus
ภาพ : Alfons Puertas

ขยับขึ้นมาที่เมฆระดับกลางกันบ้าง ภาพที่ 3 คือ แอลโตคิวมูลัส อันดูเลตัส (Altocumulus undulatus) ซึ่งมีโอกาสพบเห็นง่ายกว่าเมฆลอนคลื่นสกุลอื่น เนื่องจากเมฆระดับกลางมีฐานเมฆอยู่ได้ตั้งแต่ 2-8 กิโลเมตร (ในแถบเขตร้อน)

เรื่องน่ารู้ก็คือ มีคนกล่าวอ้างว่าเมฆลอนคลื่นระดับกลางนี้เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ บ่งชี้เช่นนั้น

ภาพที่ 3 : Altocumulus undulatus
ภาพ : ทวี ขนขจี

ภาพที่ 4 แสดงเมฆระดับกลางแบบลอนคลื่นเช่นกัน ได้แก่ แอลโตสเตรตัส อันดูเลตัส (Altostratus undulatus) นี่ก็เป็นเมฆหายากอีกแบบหนึ่งครับ

ภาพที่ 4 : Altostratus undulatus
ภาพ : Art Rangno

ขยับขึ้นไปหาเมฆระดับสูงกันบ้าง ภาพที่ 5 คือ ซีร์โรสเตรตัส อันดูเลตัส (Cirrostratus undulatus) ภาพนี้ผมถ่ายจากเครื่องบิน จึงมีส่วนทำให้เห็นลักษณะลอนคลื่นในเมฆซีร์โรสเตรตัสชัดเจนขึ้น

ภาพที่ 5 : Cirrostratus undulatus
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

สุดท้าย ภาพที่ 6 คือ ซีร์โรคิวมูลัส อันดูเลตัส (Cirrocumulus undulatus) หรือถ้าเรียกแบบเต็มยศ คือ ซีร์โรคิวมูลัส สแตรติฟอร์มิส อันดูเลตัส (Cirrocumulus stratiformis undulatus) คำว่า stratiformis เป็นชนิด (species) ของเมฆซึ่งมีลักษณะแผ่ออกในแนวระดับ ครอบคลุมพื้นที่กว้าง

ฝรั่งมีชื่อเรียกพิเศษสำหรับเมฆลักษณะนี้ด้วย นั่นคือ Mackerel sky หรือ ฟ้าลายปลาแมคเคอเรล ทั้งนี้ เนื่องจากปลาแมคเคอเรลมีลายข้างลำตัวสีเงินสลับสีเข้ม และน่ารู้ด้วยว่าฝรั่งบางคนถือว่า แอลโตคิวมูลัส อันดูเลตัส (เช่น ภาพที่ 3) ก็เรียกว่า Mackerel sky ด้วยเช่นกัน

ภาพที่ 6 : Cirrocumulus undulatus หรือ ฟ้าลายปลาแมคเคอเรล
ภาพ : ณพงศ์ ทองคำ

สำนวนในภาษาอังกฤษที่พาดพิงถึง Mackerel sky เช่น “Mackerel in the sky, three days dry” (หากมีลายปลาแมคเคอเรลในท้องฟ้า อีก 3 วันจะแล้ง) และ “Mare’s tails and mackerel scales make tall ships carry low sails.” (เมฆหางม้าและเมฆเกล็ดปลาแมคเคอเรลอยู่ที่ไหน เรือต้องชักใบลง)

ส่วนแมวลาย (tabby) ซึ่งมีลำตัวและขามีลายเส้นๆ โค้งนิดๆ ฝรั่งเรียกว่า mackerel tabby (แมวลายปลาแมคเคอเรล) หรือ fishbone tabby (แมวลายก้างปลา) ลองค้นภาพในเน็ตดูได้นะครับ

สรุปว่า…ไม่ว่าเมฆหรือแมว หากมีลายเป็นเส้นๆ ขนานกัน ก็จะถูกนำไปเปรียบกับลายปลาแมคเคอเรลนั่นเอง!

——————

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับ Mackerel sky และแง่มุมทางวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเกี่ยวกับเมฆอื่นๆ ขอแนะนำหนังสือ รื่นรมย์ ชมเมฆ ติดต่อ สนพ.สารคดี โทร 0-2547-2700 ต่อ 116 (คุณณี) หรือ Line ID : 08-1583-5040

——————

แก้ไข : บทความ สนุกกับ ‘เมฆใกล้ภูเขา’ ในสัปดาห์ก่อน มีข้อความที่ตกหล่นไปดังนี้
“จนมาวันหนึ่งได้คุยกับอาจารย์บัญชา จึงได้รู้ว่าเจ้าเมฆตรงยอดเขานี้ เรียกว่า ‘banner cloud’ หรือ ‘เมฆป้าย’ เกิดขึ้นจากกระแสลมที่พัดผ่านยอดเขาแหลม ทำให้เกิดกระแสอากาศไหลวนทางฝั่งปลายลมใกล้ยอดเขา ซึ่งกระแสอากาศไหลวนนี่แหละ ทำให้อากาศบริเวณผิวพื้นบางส่วนยกตัวสูงขึ้นไปตามสันเขา จนเมื่ออากาศที่ไหลขึ้นเย็นลงจนถึงจุดน้ำค้าง ไอน้ำก็จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำจำนวนมาก ทำให้เห็นเมฆตรงยอดเขา เหมือนธงหรือป้ายผ้าที่ถูกลมพัดนั่นเอง”

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image