จิตวิวัฒน์ : สมานแผลในใจด้วยสติ : พระไพศาล วิสาโล

นักธุรกิจผู้หนึ่ง ระยะหลังหันมาสนใจทำสมาธิ แล้วก็ทำได้ดีด้วย ทำแล้วใจสงบ แต่มีอยู่คราวหนึ่ง พอจิตสงบมาก ก็จะเห็นภาพ เรียกว่านิมิต เป็นภาพมือข้างหนึ่งที่ยื่นออกมา พอเขาเห็นภาพนี้ในนิมิตก็รู้สึกกลัวขึ้นมาทันที เพราะมือนั้นคือมือของพ่อ เป็นมือที่เคยตบตีเขาสมัยที่ยังเป็นเด็ก เขากลัวมาก แล้วก็โกรธด้วย ความรู้สึกนี้รบกวนจิตใจมากจนกระทั่งนั่งสมาธิต่อไม่ได้ ต้องเลิก

หลังจากนั้นเมื่อนั่งสมาธิทีไร พอจิตสงบนิ่ง ก็จะเห็นภาพนี้ เกิดความรู้สึกทั้งกลัวและโกรธ จนกระทั่งต้องเลิกนั่ง เพราะว่ามันทำให้เขาย้อนระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่พ่อเคยทุบตีเขาตอนเป็นเด็กครั้งแล้วครั้งเล่า มันเป็นเหตุการณ์ที่ฝังใจเขามาก และไม่อยากระลึกนึกถึง เมื่อเห็นภาพดังกล่าวในสมาธิบ่อยเข้า เขาก็เลยตัดสินใจเลิกนั่งสมาธิ

แต่หลังจากที่เลิกนั่งสมาธิไปได้พักหนึ่ง เขาได้คิดว่านี่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เขาเห็นว่าการนั่งสมาธิเป็นของดี ถ้าจะเลิกนั่งเพราะเหตุนี้ก็ไม่ควร เขาตัดสินใจว่าจะต้องก้าวข้ามจุดนี้ไปให้ได้ ไม่อย่างนั้นชาตินี้คงทำสมาธิไม่ได้เลย

วันหนึ่งเขาตั้งใจว่าจะไม่หนีภาพนิมิตนี้อีกแล้ว แต่จะเผชิญหน้ากับมัน แล้วเขาก็นั่งสมาธิ พอจิตดิ่ง นิ่ง สงบ ภาพมืออันเดิมก็ปรากฏ ความรู้สึกเดิมๆ ก็กลับมา ทั้งโกรธ ทั้งเกลียด แต่เนื่องจากเขาตั้งใจไว้ว่าจะเผชิญกับมัน ไม่หนีมันอีกต่อไป เขาจึงมองที่มือนั้น เมื่อใคร่ครวญดูก็พบว่า มือนั้นไม่ใช่มือที่กำลังจะตบเขา แต่เป็นมือที่กำลังจะขออะไรบางอย่าง พ่อกำลังขออะไรหรือ เกิดคำถามขึ้นมาในใจเขา เมื่อเขาออกจากสมาธิก็พิจารณาถึงชีวิตที่ผ่านมา แล้วเขาก็พบว่าพ่อกำลังขอความรักจากเขา

Advertisement

เรื่องของเรื่องก็คือว่า พ่อเป็นพนักงานผู้น้อยในบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง เวลาไปทำงานก็ถูกกดข่ม ถูกรังแก ถูกหยามเหยียด พ่อมีความเครียดมาก พอกลับบ้านจึงไประบายความเครียดกับเมียและลูก ด่าทอและตบตีลูกเมีย แต่ในอีกด้านหนึ่งพ่อก็ต้องการความรักจากลูกและเมีย เพราะว่าเขาไม่เคยได้รับสิ่งนี้จากที่ทำงานเลย แต่พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงแบบนี้ทำให้พ่อไม่เคยได้รับความรักจากใครเลย แม้กระทั่งจากเมียและลูก ซึ่งก็ทำให้พ่อยิ่งทุกข์มากขึ้น และกลายเป็นคนที่ก้าวร้าว เรียกว่าติดอยู่ในวงจรอุบาทว์ อยากได้ความรักแต่ไม่ได้ ก็ยิ่งโกรธ พอโกรธก็ยิ่งทำร้าย พอทำร้ายก็ยิ่งไม่ได้รับความรัก วนอยู่แบบนี้

เมื่อชายผู้นี้ทบทวนชีวิตของพ่อเช่นนี้ ก็รู้สึกสงสารพ่อขึ้นมา เขาเข้าใจพ่อแล้วว่าทำไมพ่อถึงทำอย่างนั้นกับลูกและเมีย เกิดเป็นความเห็นใจขึ้นมาแทน ความเมตตา ความสงสารก็ตามมา ในที่สุดเขาก็ให้อภัยพ่อ ไม่มีความโกรธเกลียดพ่ออีกต่อไป หลังจากนั้นภาพมือของพ่อก็หายไป ไม่เกิดขึ้นกับเขาอีกเลยทุกครั้งที่นั่งสมาธิ แสดงว่าแผลที่ยืดเยื้อเรื้อรังมาเป็นสิบๆ ปี ได้รับการเยียวยา

ธรรมชาติของคนเราพอเจอเหตุการณ์แบบนี้ หรือเจอภาพแบบนี้มันจะไปปลุกความรู้สึกที่เป็นลบขึ้นมา จิตจะพยายามผลักไส กดข่ม แต่ถ้าทำอย่างนั้น แผลที่เคยมีมาตั้งแต่อดีตก็จะไม่ได้รับการเยียวยา มันจะบาดลึก หรือเรื้อรังมากขึ้น แต่ถ้าเราใช้สติไปเผชิญกับมัน ยอมรับมัน ไม่กดข่มมัน แค่ดูมันเฉยๆ มันก็จะหายไป สิ่งที่ตามมาไม่ใช่แค่ทำให้ใจสงบเท่านั้น บางทีอาจจะทำให้ได้เห็นอะไรบางอย่างที่ไม่เคยนึกมาก่อน คือเกิดความเข้าใจอีกคนหนึ่งซึ่งเราเคยเกลียดชัง

Advertisement

หลายคนมีปมสะสมอยู่ในใจ ส่วนหนึ่งเกิดจากการกดข่มมันเอาไว้ รวมทั้งการตีความในมุมมองของตัว หรือการเห็นด้านเดียว การใช้สติมาพิจารณาหรือดูเหตุการณ์ที่เคยทำให้เกิดความเจ็บปวดรวดร้าว สามารถช่วยให้หลุดจากความรู้สึกนั้นได้

บางคนอาจจะสงสัยว่าการมองย้อนกลับไปยังอดีตจะดีหรือ ในเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสว่า “บุคคลไม่ควรตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วด้วยอาลัย” การนึกถึงอดีตที่ผ่านไปแล้วจะเป็นวิธีการที่ถูกหรือ เป็นวิธีการที่ชาวพุทธเราควรทำหรือ ที่จริงแล้วถ้ามันเป็นอดีตจริงๆ ก็ควรที่เราจะปล่อยวาง แต่ในกรณีอย่างนี้มันไม่ใช่อดีต มันคือแผลที่ยังเรื้อรังอยู่ ยังทำความเจ็บปวดอยู่ มันจึงเป็นปัจจุบัน

เหตุการณ์เป็นอดีตไปแล้ว แต่ว่าแผลนั้นเป็นปัจจุบัน จะเป็นแผลสดหรือแผลเรื้อรังก็แล้วแต่ เหมือนกับว่าเราเดินไปเหยียบหนามเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เหตุการณ์นั้นเป็นอดีตไปแล้ว แต่ว่าหนามยังคาอยู่ในเท้าจนเป็นแผล แตะถูกมันทีใดก็เจ็บทุกที สิ่งที่ควรทำก็คือดึงหนามนั้นออก ไม่ถูกแน่หากจะบอกว่าไม่ต้องสนใจมัน เพราะมันเป็นอดีตไปแล้ว และเมื่อจะเอาหนามออกก็ต้องมีความกล้า ยอมเจ็บ แต่เมื่อดึงหนามออกแล้วแผลก็จะสมาน กลายเป็นแผลเป็น แผลเป็นนั้นเราแตะมันเท่าไหร่ก็ไม่เจ็บ

เหตุการณ์ในอดีตก็เช่นกัน หากเรานึกถึงมันแล้ว รู้สึกเฉยๆ อย่างนี้แสดงว่ามันเป็นอดีตจริงๆ ไม่ใช่ปมหรือแผลปัจจุบัน อย่างนี้แสดงว่าเราปล่อยวางแล้ว เรารู้สึกสบาย เพราะไม่มีเสี้ยนตำใจอีกต่อไป แต่คนส่วนใหญ่มักปล่อยให้เสี้ยนตำจิตใจอยู่อย่างนั้น ถ้าอยากหายปวด ก็ต้องหาทางดึงเสี้ยนนั้นออกมา แต่ที่เสี้ยนมันยังตำอยู่ก็เพราะว่าเราปฏิเสธมัน กดข่มมัน ไม่ยอมแตะมัน เพราะความไม่ชอบ มันก็เลยทิ่มแทงจิตใจเราไม่เลิก เพราะฉะนั้น ถ้าอยากหาย ไม่อยากปวด ก็ต้องจัดการมัน ด้วยการนึกย้อนกลับไปยังเหตุการณ์นั้น แล้วเผชิญกับมัน ยอมรับมัน มองมันด้วยใจที่เป็นกลาง ซึ่งจะทำให้เราเห็นแง่มุมบางอย่าง เมื่อใจเป็นกลาง ความเข้าใจก็จะเกิดขึ้น

คนบางคนที่เราเคยโกรธเคยเกลียด ที่จริงแล้วเขาอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดก็ได้ พอเห็นอีกมุมหนึ่ง ความโกรธความเกลียดก็หลุดหายไป อุปมาเหมือนเรากำลังดูสินค้าที่วางแผงริมถนน จู่ๆ ก็มีคนมาชนเราอย่างแรง แวบแรกที่เกิดขึ้นคือโกรธ แต่พอเราเหลียวไปมองแล้วพบว่าเขาตาบอด ความโกรธก็หลุดเลย ให้อภัยเขาทันที หรือถ้าหากรู้ว่าเขาเมาเหล้า หรือเขาเป็นคนบ้า ความโกรธ ความเกลียด ก็หายไปเหมือนกัน เพราะอะไร เพราะเราเข้าใจเขา พอเข้าใจแล้วก็สงสาร ให้อภัยได้ แต่ถ้าเราไม่เหลียวกลับไปมองก็จะยังโกรธอยู่

สติช่วยให้เราเห็นเขาอย่างที่เขาเป็น เห็นว่าที่จริงแล้วเขาไม่ได้เป็นคนแย่ คนเลว อย่างที่เราคิด เพียงแต่ว่าเขามีข้อจำกัด เช่น ตาบอด เป็นบ้า เมาเหล้า ซึ่งน่าเห็นใจทั้งนั้น การเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับคนบางคนที่ทำความเดือดร้อนให้เรา ช่วยให้เราหายโกรธหายเกลียด จิตใจกลับมาเป็นปกติ และความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานสมานสนิทในที่สุด

พระไพศาล วิสาโล
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image